
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 3 – 5 เม.ย. 68
เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 รัฐสภายุโรปยังมีมติเห็นชอบต่อ “รายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงร่วมกัน (Common Foreign and Security Policy, CFSP)” และ“นโยบายความมั่นคงและการป้องกันประเทศ” (Common Security and Defence Policy, CSDP) ด้วยคะแนนเสียงอย่างเป็นเอกฉันท์ โดยญัตติ 2 ฉบับข้างต้นยังคงมุ่งเน้นแสดงความห่วงกังวลในประเด็นสถานการณ์ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันที่เกิดจากจีน พร้อมทั้งให้การสนับสนุนการเสริมสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนในมิติต่างๆ ระหว่างไต้หวัน - สหภาพยุโรป (EU) กระทรวงการต่างประเทศของไต้หวัน รู้สึกยินดีและขอขอบคุณด้วยใจจริง
ญัตติรายงานใน CFSP ระบุว่า ปัจจุบัน ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก เป็นตัวแปรหลักในกลไกความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศ EU จำเป็นต้องสวมบทบาทที่กระตือรือร้น ควบคู่ไปกับการยกระดับการมองเห็นในเวทีนานาชาติ เพื่อรักษาไว้ซึ่งค่านิยมด้านสันติภาพ เสรีภาพ และความสงบเรียบร้อยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานกฎกติกาสากล โดยญัตติฉบับข้างต้น เน้นย้ำว่า ไต้หวันเป็นพันธมิตรด้านประชาธิปไตยที่สำคัญของ EU ในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก จึงขอเรียกร้องให้ EU และประเทศสมาชิกมุ่งประสานความร่วมมือกับไต้หวันอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ตลอดจนส่งเสริมให้คณะกรรมาธิการยุโรป เร่งเปิดกระบวนการก่อนการเจรจาข้อตกลงด้านการลงทุนกับไต้หวันโดยเร็ววัน
นอกจากนี้ รัฐสภายุโรปยังได้ประณามรัฐบาลจีนที่ก่อความไม่สงบเรียบร้อย ผ่านวิธีการข่มขู่ด้วยกำลังทหารต่อไต้หวันอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังบิดเบือนข้อเท็จจริงในญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 เพื่อขัดขวางมิให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศ พร้อมกันนี้ ญัตติยังระบุอีกว่า อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนไต้หวันที่จีนกล่าวอ้าง มิได้มีการรองรับด้วยพื้นฐานทางกฎหมายระหว่างประเทศ มีเพียงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนชาวไต้หวันเท่านั้น จึงจะมีสิทธิเป็นตัวแทนของไต้หวันบนเวทีนานาชาติ พร้อมกันนี้ รัฐสภายุโรปยังได้แสดงจุดยืนแน่ชัดว่า ความทะเยอทะยานในการเปลี่ยนแปลงสถานภาพของช่องแคบไต้หวัน ด้วยวิธีการสร้างแรงกดดันและการข่มขู่ด้วยกำลังทหาร ไม่เป็นที่ยอมรับ และอาจจะต้องประสบกับความสูญเสียที่ไม่สามารถประเมินค่าได้
CSDP ระบุถึงสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการประณามรัฐบาลจีนที่ก่อพฤติกรรมความวุ่นวาย ทั้งการโจมตีทางไซเบอร์ สงครามจิตวิทยา การจัดส่งเครื่องบินรบรุกล้ำเข้าสู่เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ของไต้หวัน และการบ่อนทำลายสายเคเบิลใต้ท้องทะเล พร้อมกันนี้ CSDP ยังได้แสดงจุดยืนว่าด้วยคำมั่นของ EU ที่มีต่อการปกป้องสถานภาพเดิมของช่องแคบไต้หวัน โดยเนื้อความญัตติยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ที่มีต่อ EU ในการดำเนินกลยุทธ์การป้องกันประเทศเชิงภาพรวม โดย EU ได้มุ่งเน้นไปที่สถานภาพผู้นำของไต้หวันในด้านเทคโนโลยีขั้นสูง และประสบการณ์การรับมือกับการโจมตีด้วยสงครามลูกผสมจากจีน ข่าวปลอม และการแทรกแซงด้วยข้อมูลจากต่างชาติ (Foreign Information Manipulation and Interference, FIMI) ที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน
ระยะที่ผ่านมานี้ เนื่องจากจีนได้ประกาศการซ้อมรบในพื้นที่รอบน่านน้ำไต้หวัน จึงสร้างความวิตกกังวลแก่หลายฝ่าย ด้วยเหตุนี้ นานาประเทศทั่วโลกจึงได้ทยอยประกาศแถลงการณ์ หรือโพสต์ข้อความลงบนสื่อโซเชียล เพื่อแสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ตลอดจนเน้นย้ำว่า เสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันมีความสำคัญต่อความมั่นคงระดับภูมิภาคและระดับโลก อีกทั้งยังส่งผลต่อความเจริญรุ่งเรืองในทวีปยุโรปอีกด้วย อันจะเห็นได้จากการแสดงจุดยืนของ Mr. Pål Jonson รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสวีเดน และกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมไปถึงกระทรวงการต่างประเทศของสหภาพยุโรป (EEAS)
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 Mr. Marco Rubio รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ Mr. Iwaya Takeshi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น และ Mr. Cho Tae-yul รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ ได้ร่วมเปิดอภิปรายหารือกันในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม พร้อมทั้งประกาศแถลงการณ์หลังการประชุม โดยมีเนื้อความระบุว่า สันติภาพและเสถียรภาพของช่องแคบไต้หวัน เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถขาดได้ในความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของประชาคมโลก โดยทั้ง 3 ประเทศข้างต้น ต่างแสดงความห่วงกังวลต่อพฤติกรรมการยั่วยุท้าทาย โดยเฉพาะการซ้อมรบของจีนในพื้นที่รายรอบไต้หวันเมื่อช่วงที่ผ่านมา จึงขอเรียกร้องให้ยุติพฤติกรรมที่เป็นการบ่อนทำลายเสถียรภาพ และเรียกร้องให้สองฝั่งช่องแคบไต้หวันแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี ขณะเดียวกัน ทั้ง 3 ประเทศต่างก็ยึดมั่นให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศอย่างมีความหมาย
กอปรกับเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2568 กลุ่มพันธมิตรจีนแห่งรัฐสภาข้ามชาติ (Inter-Parliamentary Alliance on China, IPAC) ได้ประกาศแถลงการณ์ ประณามรัฐบาลปักกิ่งที่เข้าทำการฝึกซ้อมรบในพื้นที่รายรอบไต้หวัน เมื่อระยะที่ผ่านมา โดย IPAC ระบุว่า พฤติกรรมการรุกรานในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน (People's Liberation Army, PLA) ถือเป็นการทวีความยั่วยุท้าทายให้ก้าวไปสู่อีกระดับ ประชาคมโลกจึงมิควรมองข้าม เนื่องจากความมั่นคงของไต้หวัน และความมั่นคงทางเศรษฐกิจโลก มีความเกี่ยวโยงกันอย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้ IPAC จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศ ร่วมประณามพฤติกรรมความรุนแรงของกองทัพ PLA