ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ปธน.ไล่ฯ แสดงปาฐกถาในหัวข้อแนวทางการรับมือต่อประเด็นการประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรต่างตอบแทนของปธน.ทรัมป์ พร้อมนี้ นรม.ไต้หวัน ยังได้ยื่นเสนอ 20 มาตรการใน 9 มิติ รวมงบประมาณ 88,000 ล้านเหรียญไต้หวัน เพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ และสร้างความผาสุกให้แก่วิถีชีวิตของภาคประชาชน
2025-04-07
New Southbound Policy。ปธน.ไล่ฯ แสดงปาฐกถาในหัวข้อแนวทางการรับมือต่อประเด็นการประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรต่างตอบแทนของปธน.ทรัมป์ พร้อมนี้ นรม.ไต้หวัน ยังได้ยื่นเสนอ 20 มาตรการใน 9 มิติ รวมงบประมาณ 88,000 ล้านเหรียญไต้หวัน เพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ และสร้างความผาสุกให้แก่วิถีชีวิตของภาคประชาชน (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
ปธน.ไล่ฯ แสดงปาฐกถาในหัวข้อแนวทางการรับมือต่อประเด็นการประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรต่างตอบแทนของปธน.ทรัมป์ พร้อมนี้ นรม.ไต้หวัน ยังได้ยื่นเสนอ 20 มาตรการใน 9 มิติ รวมงบประมาณ 88,000 ล้านเหรียญไต้หวัน เพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ และสร้างความผาสุกให้แก่วิถีชีวิตของภาคประชาชน (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

ทำเนียบประธานาธิบดี กรทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงเกษตร วันที่ 6 เม.ย. 68

เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2568 ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ได้แสดงปาฐกถาผ่านการบันทึกวิดีทัศน์ล่วงหน้า ต่อประเด็นผลกระทบที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ได้ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรต่างตอบแทน (Reciprocal tariff) ตามอัตราเฉพาะที่กำหนดสำหรับแต่ละประเทศ ซึ่งไต้หวันถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 32% โดยปธน.ไล่ฯ ได้ชี้แจงต่อภาคประชาชนว่า รัฐบาลจะประกาศใช้มาตรการรับมือ 5 ประการ พร้อมย้ำว่า ไต้หวันไม่มีแผนการจะใช้มาตรการภาษีตอบโต้ต่อสหรัฐฯ สำหรับแผนการลงทุนในสหรัฐฯ ของกลุ่มผู้ประกอบการไต้หวัน หากสอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศชาติ ก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม พวกเราต้องส่งเสริมให้สหรัฐฯ เห็นถึงคุณูปการที่ไต้หวันมีต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ พวกเราจะต้องจับทิศทางการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกอย่างกระตือรือร้น มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือทางอุตสาหกรรม ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ควบคู่ไปกับการยกระดับสถานภาพของอุตสาหกรรมไต้หวันในระบบห่วงโซ่อุปทานโลก เพราะฉะนั้น รัฐบาลไต้หวันจึงได้ยื่นเสนอกลยุทธ์มาตรการรับมือ รวม 5 ประการ ดังนี้ :

กลยุทธ์แรกคือ การปรับมาตรการภาษีศุลกากรต่างตอบแทนของสหรัฐฯ ผ่านการเจรจา โดยมีแนวทางที่เป็นรูปธรรมทั้ง 5 ประการ ดังนี้ :

(1) ไต้หวันได้จัดตั้งคณะเจ้าหน้าที่เพื่อการเจรจา โดยมีนางเติ้งลี่จวิน รองนายกรัฐมนตรีไต้หวันเป็นผู้นำทัพ สมาชิกคณะประกอบด้วย สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานเจรจาเศรษฐกิจและการค้า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแวดวงวิชาการและภาคอุตสาหกรรม โดยจะมุ่งเน้นการเจรจาไปที่ “ภาษีศุลกากรศูนย์เปอร์เซ็นต์” ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ โดยอ้างอิงตามหลักการความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และแคนาดา (The United States of America – Mexico – Canada Agreement , USMCA)
 
(2) ขยายเพิ่มการจัดซื้อต่อสหรัฐฯ เพื่อลดบรรเทาปัญหาขาดดุลการค้า โดยสภาบริหารไต้หวันได้ทำการรวบรวมรายการการจัดซื้อจำนวนมหาศาลต่อสหรัฐฯ ทั้งในด้านผลผลิตการเกษตร น้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ อีกทั้งกระทรวงกลาโหมยังได้ยื่นเสนอแผนจัดซื้อยุทโธปกรณ์ต่อสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
 
(3) ขยายเพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ จวบจนปัจจุบัน ยอดการลงทุนที่ไต้หวันมีต่อสหรัฐฯ รวมมูลค่ากว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสร้างโอกาสงานมากกว่า 400,000 ตำแหน่ง ในอนาคต นอกจากบริษัท TSMC จะอัดฉีดเงินลงทุนเพิ่มขึ้นแล้ว อุตสาหกรรมแขนงอื่นๆ อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการติดต่อสื่อสาร ปิโตรเคมีและก๊าซธรรมชาติ ก็สามารถขยายขอบเขตการลงทุนในสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น อันจะเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือทางอุตสาหกรรมระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ โดยรัฐบาลไต้หวันได้ผนึกกำลังกันรวมตัวเป็น “ทีมส่งเสริมการลงทุนในสหรัฐฯ ของไต้หวัน” พร้อมหวังที่จะเห็นรัฐบาลสหรัฐฯ ทำการจัดตั้ง “ทีมส่งเสริมการลงทุนในไต้หวันของสหรัฐฯ” อย่างเท่าเทียมเช่นกัน
 
(4) ขจัดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่มาตรการทางภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs)

(5) มุ่งแก้ไขปัญหากลไกการบริหารส่งออกผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยีขั้นสูง ที่รัฐบาลสหรัฐฯ เฝ้าจับตามาเป็นเวลานาน ควบคู่ไปกับการเพิ่มมาตรการควบคุมเกี่ยวกับการปลอมแปลงถิ่นกำเนิดสินค้า
 
กลยุทธ์ที่ 2 คือ ยื่นเสนอแผนการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมในประเทศที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมและกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) พร้อมทั้งให้การสนับสนุนและความช่วยเหลือที่จำเป็น ซึ่งนายกรัฐมนตรีจั๋วหรงไท่ พร้อมด้วยคณะ ได้ทำการประกาศ 20 มาตรการใน 9 มิติหลัก เพื่อให้การสนับสนุนแก่ภาคอุตสาหกรรม โดยพิจารณาจากผลกระทบและคุณลักษณะของแต่ละอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการยกระดับการเปลี่ยนผ่านไปสู่นวัตกรรม
 
กลยุทธ์ที่ 3 คือ ยื่นเสนอแผนพัฒนาเศรษฐกิจระยะกลางและระยะยาว โดยในช่วงเวลาเช่นนี้ รัฐบาลจำเป็นต้องกำหนดกลยุทธ์รูปแบบใหม่ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมควบคู่ไปพร้อมกัน เพื่อเป็นหลักอ้างอิงในการฝ่าฟันความท้าทายทางเศรษฐกิจในอนาคต
 
กลยุทธ์ที่ 4 คือ ไต้หวันบวก 1 หรือการดำเนินตามหลักการ “วางรากฐานที่มั่นคงในไต้หวัน เพื่อแผ่ขยายไปสู่ประชาคมโลก และประชาสัมพันธ์สู่เวทีนานาชาติ” แต่บวกเพิ่ม “การเสริมสร้างความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการพิชิตตลาดนานาชาติ ”

ส่วนกลยุทธ์สุดท้าย คือการเปิดรับฟังเสียงเรียกร้องจากภาคอุตสาหกรรม

ปธน.ไล่ฯ และคณะทำงานภายใต้การกำกับของนรม.จั๋วฯ จะแบ่งหน้าที่ในการรับฟังเสียงจากแวดวงภาคอุตสาหกรรม พร้อมแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที ตลอดจนกำหนดนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการของทุกฝ่ายเพิ่มมากขึ้น
 
หลังรับทราบประเด็นข่าวข้างต้นที่สร้างความหวั่นใจต่อประชาคมโลก เมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา นรม.จั๋วฯ จึงได้จัดงานแถลงข่าว ในประเด็น “แผนการสนับสนุนระบบห่วงโซ่อุปทานการส่งออกของไต้หวัน เพื่อรับมือกับภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ” โดยได้เปิดการเสวนากับผู้นำหน่วยงานกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมประกาศหลังการประชุมว่า รัฐบาลได้ร่างพิจารณาแผนการสนับสนุน “20 มาตรการใน 9 มิติ ในยอดงบประมาณรวม 88,000 ล้านเหรียญไต้หวัน” ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิด “เสถียรภาพทางเศรษฐกิจระดับชาติ เสถียรภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรม ตลอดจนสร้างความผาสุกในชีวิตให้แก่ภาคประชาชน”
 
โดย 20 มาตรการใน 9 มิติข้างต้น แบ่งออกเป็นแง่มุมภาคอุตสาหกรรม 6 มิติ ซึ่งประกอบด้วย การให้สนับสนุนทางการเงิน ลดต้นทุนด้านการยื่นขออนุมัติ ยกระดับศักยภาพทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ขยายตลาดช่องทางการจำหน่ายที่เพิ่มมากขึ้น สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากร และการประกอบอาชีพอย่างมั่นคง ส่วนอีก 3 มิติมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเกษตรกร ซึ่งได้ทำการชี้แจงให้ทราบในส่วนถัดไป 
 
นอกจากนี้ นรม.จั๋วฯ ยังได้ระบุว่า ทุกหน่วยงานจะทำการจัดตั้งสายด่วนให้บริการคำปรึกษา 190 ในวันที่ 8 เมษายน 2568 โดยจะมีเจ้าหน้าที่ชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับมาตรการการให้ความช่วยเหลือจากรัฐบาล
 
กระทรวงเกษตร (Ministry of Agriculture, MOA) ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 18,000 ล้านเหรียญไต้หวัน เพื่อให้สนับสนุนกลุ่มเกษตรกร ตั้งแต่กระบวนการผลิต กระบวนการขนส่งและช่องทางการจำหน่าย เพื่อสร้างเสริมระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรและการประมง
 
เมื่อเผชิญหน้ากับการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ MOA จึงได้ผลักดัน 6 มาตรการใน 3 มิติ เพื่อลดบรรเทาภาระของกลุ่มเกษตรกรและประมง ควบคู่ไปกับการให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมเกษตรในการเปลี่ยนผ่านทางทางอุตสาหกรรม พร้อมทั้งจัดตั้งมาตรการการส่งเสริมการส่งออก เสริมสร้างความเชื่อมโยงกับช่องทางการจำหน่าย เพื่อยืนหยัดในตลาดสหรัฐฯ อย่างคงมั่น ควบคู่ไปกับการรุกขยายตลาดนานาชาติในวงกว้างเพิ่มมากยิ่งขึ้น
 
มาตรการในมิติแรกคือ การสนับสนุนทางการเงิน : การอุดหนุนดอกเบี้ยเงินกู้ เพิ่มขึ้น 1.5% โดยวงเงินสูงสุดกำหนดไว้ที่ 50 ล้านเหรียญไต้หวัน
 
มิติที่ 2 คือ การยกระดับศักยภาพทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม : เสริมสร้างระบบลูกโซ่ความเย็นในคลังสินค้าที่เตรียมส่งออกสู่ต่างประเทศ เร่งส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่การแปรรูป ตลอดจนมุ่งมั่นในการยื่นขออนุมัติเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน ทั้งในและต่างประเทศ
 
มิติสุดท้ายคือ การรุกขยายช่องทางการตลาดในวงกว้างเพิ่มมากขึ้น : ขยายกิจกรรมการประชาสัมพันธ์ในประเทศ แผ่ขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศ ผ่านการจัดนิทรรศการบุปผชาติครั้งยิ่งใหญ่ประจำปี หรือการจัดกลไกการประชาสัมพันธ์ในต่างแดน จับคู่ช่องทางการตลาด ตลอดจนมุ่งเสริมสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ผลิตภัณธ์ทางการเกษตรและประมงอย่างต่อเนื่อง
 

ข่าวยอดนิยม