
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 6 - 7 เม.ย. 68
เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2568 นายเฉินหมิงฉี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวัน ได้ให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนสมาชิกสภาลักเซมเบิร์ก” ที่มีกำหนดการเดินทางเยือนไต้หวันในช่วงระหว่างวันที่ 6 – 11 เมษายน 2568 โดยมี Ms. Stéphanie Weydert เป็นหัวหน้าคณะ นำทัพเจ้าหน้าที่ที่ประกอบด้วย Mr. Ben Polidori , Ms. Liz Braz และ Mr. Ricardo Marques เดินทางมาเยือนไต้หวัน โดยเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงลึกในประเด็นสถานการณ์การเมืองเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ความมั่นคงในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก และความมั่นคงในช่องแคบไต้หวัน รวมไปถึงสังคมพลเมืองไต้หวันที่มุ่งสู่การพัฒนาที่เจริญรุ่งโรจน์ เป็นต้น
โดยในระหว่างนี้ คณะตัวแทนมีกำหนดการเข้าพบปะกับนางเติ้งลี่จวิน รองนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งเข้าร่วมงานเลี้ยงต้อนรับที่จัดขึ้นโดยนายเจียงฉี่เฉิน รองประธานสภานิติบัญญัติ และนายเฉินหมิงฉี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – ลักเซมเบิร์ก สถานการณ์สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน การพัฒนาทางเศรษฐกิจและการค้าของไต้หวัน รวมไปถึงการศึกษา วัฒนธรรมและความเสมอภาคทางเพศ เป็นต้น
รมช.เฉินฯ กล่าวให้การต้อนรับสมาชิกสภาลักเซมเบิร์กที่เดินทางเยือนไต้หวันเป็นครั้งแรก หลังสถานการณ์โรคโควิด – 19 เพื่อร่วมเป็นสักขีพยานในสังคมพหุวัฒนธรรม รวมไปถึงพลังความสดใสและความทรหดด้านประชาธิปไตย ไต้หวันตั้งอยู่แนวหน้าในการรับมือกับกลุ่มลัทธิอำนาจนิยม แม้จะต้องเผชิญกับภัยคุกคามด้วยกลยุทธ์พื้นที่สีเทาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดช่วง แต่ถึงกระนั้น ไต้หวันก็ยังคงสามารถปกป้องค่านิยมด้านประชาธิปไตย เสรีภาพ หลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน ให้ดำรงอยู่อย่างคงมั่น นอกจากนี้ ในปี 2562 ไต้หวันยังก้าวขึ้นสู่ประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียที่มีมติผ่านญัตติกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของไต้หวันในการปกป้องศักดิ์ศรีของพลเมืองและสิทธิความเสมอภาค นอกจากนี้ รมช.เฉินฯ ยังได้แสดงความขอบคุณต่อสภาลักเซมเบิร์กที่มีมติผ่านญัตติที่เป็นมิตรต่อไต้หวัน ว่าด้วยการให้สนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศอย่างมีความหมาย ทั้งในปี 2565 และ 2567 อีกทั้งรัฐบาลลักเซมเบิร์กยังได้ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2565 – 2567 ตลอดจนเมื่อเดือนเมษายน 2567 สภาลักเซมเบิร์กยังมีมติผ่านญัตติที่เป็นมิตรต่อไต้หวันด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ เพื่อให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การอนามัยโลก (WHO) และการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ตลอดจนยังเน้นย้ำว่า สันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ถือเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของสหภาพยุโรป (EU) และลักเซมเบิร์ก จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลลักเซมเบิร์กร่วมกันธำรงรักษาไว้ซึ่งสถานภาพช่องแคบไต้หวันในปัจจุบัน จึงจะเห็นได้ว่า ลักเซมเบิร์กถือเป็นหุ้นส่วนที่มั่นคงแข็งแกร่งของไต้หวัน ในด้านการขยายขอบเขตการเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศ
Ms. Weydert กล่าวว่า การเดินทางเยือนไต้หวันในครั้งนี้ คณะตัวแทนได้เดินทางเข้าเยี่ยมเยือนหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชน เพื่อทำความเข้าใจต่อค่านิยมสากลด้านเสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเท่าเทียมและความหลากหลาย ด้วยเหตุนี้ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคทางเพศ และการดูแลครอบครัวและเยาวชนของทั้งไต้หวัน – ลักเซมเบิร์ก จึงถูกกำหนดไว้ในระดับเดียวกัน ศักยภาพพลเรือนของไต้หวันที่มุ่งสู่ความเจริญรุ่งโรจน์ ก็ถือเป็นอัตลักษณ์ของไต้หวันที่สร้างความประทับใจให้แก่คณะตัวแทนที่ได้พบเห็นเช่นกัน โดย Ms. Weydert กล่าวอีกว่า ลักเซมเบิร์กควรมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือเชิงลึกกับไต้หวัน ควบคู่ไปกับการให้สนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศ อาทิ การประชุม WHA เพื่อส่งเสริมให้ไต้หวันมีโอกาสสำแดงศักยภาพและอุทิศคุณูปการแก่ประชาคมโลก
กต.ไต้หวันรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เห็นสภาลักเซมเบิร์กให้การสนับสนุนไต้หวันด้วยวิธีการที่เป็นรูปธรรม โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทั้งสองฝ่ายจะยังคงมุ่งเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือกันในประเด็นเศรษฐกิจ การค้า วัฒนธรรม เทคโนโลยี การแลกเปลี่ยนระหว่างภาคเยาวชน และความทรหดของระบบห่วงโซ่อุปทาน ให้ดำเนินไปในทิศทางเชิงลึกในภายภาคหน้าต่อไป