
คณะกรรมการกิจการชาวจีนโพ้นทะเล วันที่ 8 เม.ย. 68
เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไต้หวันรุกขยายตลาดนานาชาติ ควบคู่ไปกับการกระตุ้นโอกาสการประกอบอาชีพของกลุ่มนักศึกษาชาวจีนโพ้นทะเลที่มีผลการเรียนยอดเยี่ยม คณะกรรมการกิจการชาวจีนโพ้นทะเลไต้หวัน (OCAC) จึงมีกำหนดการจัด “กิจกรรมชี้แจงข้อมูลการว่าจ้างนักศึกษาชาวจีนโพ้นทะเลของกลุ่มผู้ประกอบการภาคธุรกิจ” ขึ้นรวม 4 รอบในปี 2568 ซึ่งได้มีการทยอยจัดขึ้นในกรุงไทเป นครไทจง นครเกาสงและเมืองฮัวเหลียน โดยได้รวบรวมเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ ตัวแทนผู้ประกอบการและสถาบันการศึกษา เข้าร่วมชี้แจงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพในไต้หวันของกลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการว่าจ้างบุคลากรชาวจีนโพ้นทะเลในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น
กิจกรรมรอบที่ 3 มีกำหนดการจัดขึ้นในวันที่ 8 เมษายน ณ โรงแรม F Hotel สาขาหน้าสถานีรถไฟเมืองฮัวเหลียน นางหรงโย่วเอ๋อ เลขาธิการ OCAC ระบุว่า กลุ่มนักศึกษาชาวจีนโพ้นทะเลได้กลายมาเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญของไต้หวัน แต่ภาคธุรกิจไม่ทราบถึงแนวทางการว่าจ้างกลุ่มเป้าหมาย จึงทำให้เสียโอกาสว่าจ้างบุคลากรยอดเยี่ยมไปอย่างน่าเสียดาย OCAC จึงคาดหวังที่จะลดช่องว่างระหว่างผู้ประกอบการและกลุ่มนักศึกษาเป้าหมาย ผ่านกิจกรรมในครั้งนี้ โดย OCAC จะมุ่งจัดตั้งแพลตฟอร์มการจับคู่ พร้อมแสวงหามาตรการดึงดูดบุคลากรกลุ่มเป้าหมาย ในการเข้าประกอบอาชีพในไต้หวัน อย่างกระตือรือร้นต่อไป
นอกจากนี้ ระหว่างกิจกรรมยังมีการจัดเวทีการเสวนา ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการภาคธุรกิจต่างร่วมแสดงความคิดเห็นกันอย่างคึกคัก พร้อมระบุว่า พื้นที่ทางภาคตะวันออกของไต้หวันประสบกับสถานการณ์การขาดแคลนแรงงานจึงคาดหวังที่จะเห็นใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) สำหรับชาวต่างชาติ ได้รับการยืดขยายเวลาออกไปมากกว่าเดิมที่มีอายุขัยเพียง 3 ปี พร้อมทั้งลดขั้นตอนการยื่นขออนุมัติให้มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการบางส่วนเห็นว่า เงื่อนไขการสมัครบัตรถิ่นที่อยู่ถาวร (APRC) ถูกตั้งมาตรฐานไว้สูงเกินควร จึงขอให้มีการพิจารณาผ่อนคลายกฎระเบียบเหล่านี้ เพื่อที่จะสามารถดึงดูดและรักษาบุคลากรชาวต่างชาติ ให้เข้าประกอบอาชีพในไต้หวันอย่างยั่งยืน
หลังจากนี้ OCAC จะยังคงทำการจัดตั้งมาตรการชี้แนะที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งยื่นเสนอรายงานข้อคิดเห็นของผู้ประกอบการและนักศึกษาชาวจีนโพ้นทะเลให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปใช้เป็นหลักอ้างอิง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่ขยายขอบเขตสาขาอาชีพของกลุ่มเป้าหมายในไต้หวัน อีกทั้งยังเป็นการเติมแต่งพลังความสดใสรูปแบบใหม่ให้แก่สภาพแวดล้อมเชิงพหุวัฒนธรรมของไต้หวันไปด้วยในตัว