ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ปธน.ไล่ชิงเต๋อ เข้าร่วม “พิธีเปิดการประชุมความมั่นคงทางไซเบอร์ไต้หวัน CYBERSEC ประจำปี 2568”
2025-04-16
New Southbound Policy。ปธน.ไล่ชิงเต๋อ เข้าร่วม “พิธีเปิดการประชุมความมั่นคงทางไซเบอร์ไต้หวัน CYBERSEC ประจำปี 2568” (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
ปธน.ไล่ชิงเต๋อ เข้าร่วม “พิธีเปิดการประชุมความมั่นคงทางไซเบอร์ไต้หวัน CYBERSEC ประจำปี 2568” (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 15 เม.ย. 68
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 15 เมษายน 2568 ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อได้เข้าร่วม “พิธีเปิดการประชุมความมั่นคงทางไซเบอร์ไต้หวัน CYBERSEC ประจำปี 2568” พร้อมทั้งระบุว่า รัฐบาลได้ประกาศ “แผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางไซเบอร์แห่งชาติ ประจำปี 2568” พร้อมทั้งกำหนด “แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาความมั่นคงทางไซเบอร์แห่งชาติ” ซึ่งครอบคลุม 3 เป้าหมายหลัก ได้แก่ การเสริมสร้างความยืดหยุ่นด้านการปกป้องความมั่นคงทางไซเบอร์ของภาคประชาสังคม สร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมความมั่นคงทางไซเบอร์ที่ครอบคลุม และวิจัยสร้างเทคโนโลยีรูปแบบใหม่เพื่อการสกัดกั้น โดยในอนาคต รัฐบาลไต้หวันจะมุ่งผลักดันสินค้าและการบริการด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ที่คิดค้นขึ้นภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการลงทุนด้านนวัตกรรมความมั่นคงทางไซเบอร์ เพื่อช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมทุกแขนงยกระดับความยืดหยุ่นในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมไต้หวันมุ่งสู่การพัฒนาที่เจริญรุ่งเรืองมากยิ่งขึ้น
 
ปธน.ไล่ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า การประชุมความมั่นคงทางไซเบอร์ไต้หวัน จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ขึ้นในทุกปี และยกระดับสู่การเป็นแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ อันเป็นที่รู้จักในเอเชีย ในปีนี้ นอกจากจะจัดการประชุมบรรยายโดยผู้เชี่ยวชาญ รวมกว่า 300 รอบ ยังได้รวบรวมแบรนด์สินค้าความมั่นคงทางไซเบอร์ทั่วโลกกว่า 400 ราย ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นจำนวน 20,000 คน ภายใต้สถานการณ์ที่ภัยคุกคามทางดิจิทัลยังคงทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรายบุคคลและกลุ่มองค์กร ก็ไม่สามารถที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาเพียงลำพังได้ การประชุมในปีนี้จึงมุ่งเน้นไปที่พลังสามัคคีของหมู่คณะ ในชื่อ “Team Cybersecurity” ซึ่งได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในแนวหน้าระดับโลก เข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนกันในเชิงลึก ซึ่งนอกจากจะสอดรับต่อความต้องการด้านความมั่นคงทางดิจิทัลแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการสรรสร้างระบบป้องกันความมั่นคงทางไซเบอร์ระดับโลกอีกด้วย
 
ปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า ไต้หวันตั้งอยู่บนแนวหน้าในพื้นที่ห่วงโซ่ระยะที่ 1 ซึ่งนอกจากจะต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามด้วยกำลังอาวุธจากจีนแล้ว ยังอยู่แนวหน้าในการรับมือกับความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางไซเบอร์บนโลกอินเทอร์เน็ตอีกด้วย เพื่อบรรลุจิตวิญญาณ “ความมั่นคงทางไซเบอร์คือความมั่นคงของประเทศชาติ” ในระหว่างที่ปธน.ไล่ฯ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้มุ่งผลักดัน “แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมความมั่นคงทางไซเบอร์” จากนั้นเป็นต้นมา รัฐบาลไต้หวันก็ทยอยมีมติผ่าน “กฎหมายการบริหารจัดการความมั่นคงทางไซเบอร์” (Cyber Security Management Act) พร้อมทั้งจัดตั้ง “กระทรวงพัฒนาดิจิทัล” (Ministry of Digital Affairs, MODA) และ “สถาบันวิจัยความมั่นคงทางไซเบอร์แห่งชาติ” (National Institute of Cyber Security) นอกจากนี้ ในช่วงวาระที่ 2 ของการดำรงตำแหน่งผู้นำไต้หวันของอดีตประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ก็ได้มีการผลักดันแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วย “ความมั่นคงทางไซเบอร์คือความมั่นคงของประเทศชาติ เวอร์ชัน 2.0” โดยกำหนดให้ “ความเป็นเลิศด้านรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์” เข้าสู่ “อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ 6 ด้านหลักของไต้หวัน” (Six Cores Strategic Industries) เพื่อให้การสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมความมั่นคงทางไซเบอร์
 
เมื่อเดือนที่แล้ว ปธน.ไล่ฯ ได้ยื่นเสนอแผนกลุยทธ์การรับมือปัญหาความมั่นคงของชาติ รวม 17 รายการ โดยในส่วนความมั่นคงทางไซเบอร์ ปธน.ไล่ฯ ได้กำชับให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบ ประยุกต์ใช้มาตรการแนวทางที่เปี่ยมประสิทธิภาพอย่างกระตือรือร้น เพื่อป้องกันมิให้ผู้ที่มีเจตนาไม่พึงประสงค์ อาศัยอินเทอร์เน็ต หรือแอพพลิเคชันและอุปกรณ์ทางเทคโนโลยี AI มาสร้างวิกฤตที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางไซเบอร์ในไต้หวัน