
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 8 พ.ค. 68
กระทรวงการต่างประเทศไต้หวันขอคัดค้านและประณามต่อกรณีที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ผู้นำจีน ได้ประกาศแถลงการณ์ ภายใต้หัวข้อ “ร่วมสร้างอนาคต ผ่านการเรียนรู้จากประวัติศาสตร์” ที่ตีพิมพ์ลงใน หนังสือพิมพ์ “Rossiyskaya Gazeta” ของรัสเซีย เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 โดยมีเนื้อความที่ระบุถึงการบิดเบือนข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และบทบัญญัติทางกฎหมายของ “ปฏิญญาไคโร” (Cairo Declaration 1943) “ปฏิญญาพ็อทซ์ดัม” (Potsdam Declaration 1945) และ “ญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการปิดบังและจงใจสร้างความสับสนแก่ประชาคมโลก ซึ่งเป็นการปูรากฐานพิชิตสู่เป้าหมายการลิดรอนอำนาจอธิปไตยของไต้หวัน
กต.ไต้หวันแสดงจุดยืนย้ำชัดว่า ทั้ง “ปฏิญญาไคโร 1943” และ “ปฏิญญาพ็อทซ์ดัม 1945” ต่างให้การยืนยันต่ออำนาจอธิปไตยของสาธารณรัฐจีนเหนือไต้หวัน ซึ่ง ณ เวลานั้น สาธารณรัฐประชาชนจีน ยังไม่ได้ถูกก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ แล้วจะเป็นไปได้อย่างไรว่า “ได้มีการยืนยันเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของจีนเหนือไต้หวัน” อีกทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ไม่ได้เข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 และไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วม “สนธิสัญญาสันติภาพซานฟรานซิสโก” (Treaty of Peace with Japan) ดังนั้นจึงไม่มีสิทธิ์อ้างตนว่าเป็น "ส่วนหนึ่งของระเบียบโลก ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 "
สถานภาพของไต้หวัน เกาะเผิงหูและเกาะที่อยู่ภายต้การปกครอง ได้ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจน หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งได้รับการบัญญัติตามกฎหมายที่ระบุไว้ใน “ปฏิญญาไคโร” , “ปฏิญญาพ็อทซ์ดัม” , “ตราสารยอมจำนนของญี่ปุ่น”(Japanese Instrument of Surrender) “สนธิสัญญาสันติภาพซานฟรานซิสโก” และ “สนธิสัญญากรุงไทเป” (ROC-Japan Peace Treaty) ซึ่งเอกสารทางกฎหมายเหล่านี้ ล้วนมีต้นกำเนิดมาจากบทบัญญัติใน “ปฏิญญาไคโร” ที่ระบุไว้ว่า ไต้หวันและเกาะรายรอบ ซึ่งรวมถึงหมู่เกาะเซ็งกากุ ถูกจัดให้อยู่ภายใต้การปกครองโดยชอบธรรมภายใต้รัฐบาลสาธารณรัฐจีน
นอกจากนี้ กต.ไต้หวันยังแสดงจุดยืนย้ำชัดว่า ญัตติ 2758 มิได้มีการระบุถึงไต้หวัน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการระบุว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยไต้หวันไม่เคยมอบอำนาจให้รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลหรือภาคประชาชนชาวไต้หวัน การบิดเบือนญัตติ 2758 ของจีน นอกจากจะเป็นการมองข้ามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังขัดต่อหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ กต.ไต้หวันจึงขอเรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมต่อต้านพฤติกรรมของจีนที่ต้องการจะบิดเบือนหรือจงใจตีความไปในทิศทางที่ขัดต่อข้อเท็จจริง เพื่อต้องการบรรลุความทะเยอทะยานในการที่จะเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมของสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน นอกจากนี้ กต.ไต้หวันยังขอเรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมประณามจีน ที่สร้างความยั่วยุท้าทายและบ่อนทำลายสถานภาพเดิมในปัจจุบันอย่างเปิดเผย พร้อมกันนี้ ยังเน้นย้ำว่า สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง พวกเราไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจีน ไต้หวันที่เป็นประชาธิปไตยและจีนที่ยึดมั่นในระบอบเผด็จการ มิได้เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน คือสถานภาพในปัจจุบันของช่องแคบไต้หวัน และเป็นข้อเท็จจริงที่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกมาเป็นเวลายาวนาน มีเพียงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจากภาคประชาชนชาวไต้หวัน ที่จะมีสิทธิเป็นตัวแทนของภาคประชาชนชาวไต้หวัน 23.5 ล้านคน บนเวทีนานาชาติหรือหน่วยงานภายใต้ระบบสหประชาชาติ โดยรัฐบาลจีนไม่มีสิทธิก้าวก่าย