
สภาบริหาร วันที่ 12 พ.ค. 68
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2568 ตามเวลาในเขตตะวันออกของสหรัฐฯ นายกงหมิงซิน เลขาธิการสภาบริหารไต้หวัน ได้เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารเพื่อให้การต้อนรับคณะตัวแทนไต้หวันที่เดินทางมาเข้าร่วม “การประชุม SelectUSA Investment Summit” ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานตัวแทนรัฐบาลไต้หวันประจำสหรัฐฯ โดยเลขากงฯ กล่าวว่า นับเป็นครั้งที่ 2 ที่ตนรับหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะ นำทัพเข้าร่วมกิจกรรมการลงทุน SelectUSA โดยในปีนี้ ไต้หวันมีตัวแทนผู้ประกอบการจำนวน 183 รายจาก 138 บริษัท ลงทะเบียนเข้าร่วม และนับเป็นครั้งที่ 2 ที่คณะตัวแทนจากไต้หวัน ถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดของคณะตัวแทนต่างชาติที่มาเข้าร่วมกิจกรรม ต่อเนื่องจากในปี 2565 ที่เลขากงฯ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะร่วมกับนายเติ้งเจิ้นจง รัฐมนตรีประจำสภาบริหารไต้หวัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการค้าในเชิงลึก ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ โดยเลขากงฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อตัวแทนฝ่ายรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ต่างให้ความสนใจเข้าร่วมในช่วงสุดสัปดาห์เนื่องในเทศกาลวันแม่สากล แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาที่รุดหน้าทางความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ
เลขากงฯ ระบุว่า ไต้หวันก้าวสู่การเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 7 ของสหรัฐฯ มูลค่าการค้าแบบทวิภาคีสูงแตะระดับ 157,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตขึ้นร้อยละ 34% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งไม่เพียงแต่การส่งออกของไต้หวันสู่สหรัฐฯ จะขยายตัวเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน การส่งออกสินค้าจากสหรัฐฯ สู่ไต้หวัน ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นในเลขจำนวนสองหลักเช่นกัน แสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ นับวันยิ่งดำเนินไปอย่างแนบแน่นยิ่งขึ้น
เลขากงฯ กล่าวว่า นอกจากการค้าแล้ว การลงทุนที่ไต้หวันมีต่อสหรัฐฯ ก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน ในปี 2567 ยอดการลงทุนที่ไต้หวันมีต่อสหรัฐฯ สูงถึง 14,126 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตขึ้นในสัดส่วนร้อยละ 45% ส่วนยอดสะสมการลงทุนในสหรัฐฯ ของผู้ประกอบการไต้หวัน ตราบจนปัจจุบัน มีมูลค่าทะลุแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว ซึ่งสร้างโอกาสงานในให้แก่สหรัฐฯ มากกว่า 400,000 ตำแหน่ง โดยในจำนวนนี้ การเข้าลงทุนในรัฐแอริโซนาของบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company Limited (TSMC) นอกจากจะเป็นกรณีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ครองมูลค่ามหาศาลแล้ว ยังเป็นการขับเคลื่อนให้ระบบห่วงโซ่อุปทานด้านเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมด เข้าจัดตั้งรากฐานในสหรัฐฯ อีกด้วย เพราะฉะนั้นจึงจะเห็นได้ว่า สิทธิประโยชน์ที่แท้จริงที่สหรัฐฯ ได้รับ มีมูลค่ามากกว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในขณะที่รัฐบาลไต้หวันเร่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไต้หวันเข้าลงทุนในสหรัฐฯ ก็ยังจะเพิ่มปริมาณการจัดซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ ทั้งผลผลิตทางการเกษตร พลังงานและยุทธภัณฑ์ เป็นต้น เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางการค้าในมิติที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ในช่วงเวลานี้ที่เหล่าผู้ประกอบการต่างแสวงหาโอกาสเข้าสำรวจสภาพแวดล้อมทางการลงทุนในสหรัฐฯ เลขากงฯ จึงถือโอกาสเรียกร้องให้วุฒิสภาสหรัฐฯ ลงมติเห็นชอบผ่าน “ความตกลงเพื่อหลีกเลี่ยงการเก็บภาษีซ้ำซ้อน” (ADTA) เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการลงทุนให้แก่บรรดาผู้ประกอบการ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ไต้หวัน - สหรัฐฯ ร่วมวิจัยพัฒนาและประสานความร่วมมือกันในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ทันสมัย เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการประมวลผลควอนตัม เชื่อว่า การประสานความร่วมมือระหว่างสองฝ่าย จะส่งเสริมให้สหรัฐฯ ผงาดขึ้นอย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง
ก่อนเริ่มพิธี เลขากงฯ ยังได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อไต้หวัน – สหรัฐฯ โดยผู้สื่อข่าวซักถามว่า มาตรการทางภาษีตอบโต้ (reciprocal tariffs) ของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อเจตจำนงในการลงทุนของนักธุรกิจหรือไม่ เลขากงฯ ชี้แจงว่า มาตรการทางภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ได้รับการให้ความสำคัญจากรัฐบาลไต้หวันเป็นอย่างมาก ทั้งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีไต้หวัน ต่างได้ทยอยเปิดการเสวนากับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภายในประเทศบ่อยครั้ง กิจกรรม SelectUSA ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี จะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมความร่วมมือทางอุตสาหกรรมของทั้งสองฝ่าย หากผู้ประกอบการไต้หวันเข้าลงทุนในสหรัฐฯ ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าแบบทวิภาคีในเชิงลึก ก็จะมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาขาดดุลการค้าในระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับความเป็นไปได้ที่ทั้งสองฝ่ายจะประสานความร่วมมือกันในประด็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เลขากงฯ แถลงว่า ไต้หวัน – สหรัฐฯ ต่างให้ความสำคัญต่อประเด็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก อาทิเช่น การขนถ่ายสินค้าโดยผิดกฎหมาย อีกทั้งพวกเราทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งเจรจาแลกเปลี่ยนกันอย่างต่อเนื่อง ระยะที่ผ่านมานี้ รัฐบาลได้เร่งยกระดับการตรวจตราสอดส่อง ควบคู่ไปกับการเพิ่มอัตราค่าปรับ พร้อมทั้งเรียกร้องให้เหล่าผู้ประกอบการให้ความร่วมมือกับกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
ต่อประเด็นที่สื่อซักถามเกี่ยวกับประเด็นความเป็นไปได้ในความร่วมมือทางอุตสาหกรรมต่อเรือและอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ เลขากงฯ กล่าวว่า ไต้หวันเปี่ยมด้วยเทคโนโลยีและศักยภาพด้านการผลิตที่มีมาตรฐานในอุตสาหกรรมการต่อเรือ หากสหรัฐฯ มีเจตจำนงที่คล้ายคลึงกัน พวกเราก็หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะมีโอกาสประสานความร่วมมือกัน อนึ่ง อุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ถือเป็นหนึ่งใน 5 อุตสาหกรรมหลักที่มีความน่าเชื่อถือที่มุ่งผลักดันโดยประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำไต้หวัน เลขากงฯ เชื่อว่า ไต้หวัน – สหรัฐฯ จะสามารถบูรณาการเทคโนโลยีข้อได้เปรียบและประสบการณ์การผลิตสินค้าในปริมาณมหาศาล เข้าสู่กลไกความร่วมมือให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายต่อไป