
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 22 พ.ค. 68
เมื่อช่วงที่ผ่านมา นายอู๋จื้อจง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวัน ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Mr. Pierre Coudurier ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ Le Télégramme ซึ่งเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลในฝรั่งเศส โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ข้างต้น ได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยระหว่างการสัมภาษณ์ รมช.อู๋ฯ ได้บรรยายเกี่ยวกับต้นตอปัญหาความขัดแย้งของสถานการณ์สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน และลักษณะของภัยคุกคามที่จีนกระทำต่อไต้หวัน พร้อมชี้ว่า ระบอบประชาธิปไตยของไต้หวันได้สร้างความท้าทายที่รุนแรงต่อการปกครองรูปแบบเผด็จการ ตลอดจนชี้แจงให้เห็นถึงกลยุทธ์การรับมือ และการเสริมสร้างศักยภาพทางกลาโหมในภาพรวมของไต้หวัน
รมช.อู๋ฯ แถลงว่า สาเหตุที่ความสัมพันธ์สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ยังคงทวีความตึงเครียดมาตราบจนปัจจุบัน เกิดจากการที่ไต้หวันเลือกที่จะยืนหยัดในระบอบประชาธิปไตย และประสบความสำเร็จในการผลักดันสู่ภาคประชาสังคม ซึ่งถือเป็นการท้าทายต่อแนวคิดของรัฐบาลจีนที่ว่า “มีเพียงระบอบเผด็จการที่สามารถนำมาซึ่งสวัสดิการให้แก่ภาคประชาชนชาวจีนได้” โดยรมช.อู๋ฯ เผยว่า หลังจากที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ผู้นำสาธารณรัฐประชาชนจีน ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นต้นมา ก็มุ่งผลักดันภารกิจการรวมชาติกับไต้หวันอย่างกระตือรือร้น เพื่อต้องการแผ่ขยายบทบาทผู้นำของตนในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นการปูรากฐานไปสู่การปรับโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศขึ้นใหม่ โดยรมช.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า ในปี 2570 จะเป็นวาระครบรอบ 100 ปีแห่งการจัดตั้งกองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีน ซึ่งขณะนี้ รัฐบาลปักกิ่งกำลังเร่งผลักดันศักยภาพการทหารให้พัฒนาไปในทิศทางที่สอดคล้องกับยุคสมัยใหม่ และในช่วงเวลาดังกล่าวยังถูกนำไปเชื่อมโยงว่า อาจเป็นช่วงเวลาที่จีนบุกโจมตีไต้หวัน
ต่อกรณีความเสี่ยงทางการทหาร รมช.อู๋ฯ แถลงว่า แม้ว่าการปะทุความขัดแย้งในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ในระยะเวลาอันใกล้นี้ จะมีความเป็นไปได้น้อยมาก แต่อย่างไรก็ตาม ไต้หวันก็มิได้เพิกเฉยต่อภัยคุกคามที่อาจะเกิดขึ้น พร้อมแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการปกป้องประเทศด้วยการพึ่งพาตนเอง หลายปีมานี้ ไต้หวันมุ่งเสริมสร้างแสนยานุภาพทางกลาโหมภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง อันจะเห็นได้จากการที่งบประมาณทางกลาโหม ถูกจัดสรรให้เพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 80% ครองสัดส่วนงบประมาณทั้งหมดของรัฐบาลกว่าร้อยละ 17% ประกอบกับมีกำลังพลกว่า 180,000 นาย หรือคิดเป็นสัดส่วนที่มากกว่าบางประเทศในทวีปยุโรป สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการเตรียมความพร้อมด้านกลาโหมอย่างรัดกุมของไต้หวัน
เมื่อกล่าวถึงความร่วมมือทางกิจการกลาโหม ระหว่างสหรัฐฯ - ไต้หวัน รมช.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า สหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่แข็งแกร่งที่สุดของไต้หวันเสมอมา พลังสนับสนุนที่สหรัฐฯ มีไต้หวันไม่เคยลดน้อยลง หรือเกิดความสั่นคลอนใดๆ อีกทั้งสหรัฐฯ ยังเป็นแหล่งที่มาของยุทโธปกรณ์ที่สำคัญของไต้หวัน จึงจะเห็นได้ว่า ความร่วมมือทางกลาโหมแบบทวิภาคี ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ นับวันยิ่งได้รับการพัฒนาในเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง
ท้ายนี้ รมช.อู๋ฯ เผยว่า การแทรกซึมเข้าสู่ไต้หวันของจีน ได้ก่อเกิดเป็นวิกฤตที่ไต้หวันต้องเผชิญหน้าในปัจจุบัน โดยรัฐบาลปักกิ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการลดทอนศักยภาพการบริหารปกครองของรัฐบาลไต้หวัน ควบคู่ไปกับการบ่อนทำลายกลไกบริหารการป้องกันประเทศ และมุ่งขัดขวางไต้หวันให้อยู่นอกระบบองค์การระหว่างประเทศ ในปัจจุบัน ภาคประชาสังคมไต้หวันต่างตระหนักถึงวิกฤตที่เกิดจากการแทรกซึมของจีน โดยรัฐบาลก็มุ่งผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อการรับมือที่รัดกุม ทั้งการเสริมสร้างระบบกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ และการยกระดับความยืดหยุ่นทางภาคประชาสังคม เพื่อตอบสนองต่อความทะเยอทะยานของจีน ที่ต้องการสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในภาคประชาสังคมไต้หวัน ผ่านการก่อสงครามลูกผสม อาทิเช่น การเผยแพร่ข่าวปลอม และการจารกรรม เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งประชาธิปไตยและเสถียรภาพทางสังคมให้เกิดความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนต่อไป