ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ปธน.ไล่ชิงเต๋อ ให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนเพื่อคว้าสิทธิเข้าร่วมองค์การอนามัยโลก” ของไต้หวัน โดยในปีนี้ ประชาคมโลกให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วม WHO เป็นวงกว้างมากขึ้นจากปีที่แล้ว สะท้อนให้เห็นถึงจิตวิญญาณ “ก้าวเดินเคียงข้างประชาคมโลกด้วยความเชื่อมั่นและกล้าหาญ”
2025-05-26
New Southbound Policy。ปธน.ไล่ชิงเต๋อ ให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนเพื่อคว้าสิทธิเข้าร่วมองค์การอนามัยโลก” ของไต้หวัน โดยในปีนี้ ประชาคมโลกให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วม WHO เป็นวงกว้างมากขึ้นจากปีที่แล้ว สะท้อนให้เห็นถึงจิตวิญญาณ “ก้าวเดินเคียงข้างประชาคมโลกด้วยความเชื่อมั่นและกล้าหาญ” (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
ปธน.ไล่ชิงเต๋อ ให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนเพื่อคว้าสิทธิเข้าร่วมองค์การอนามัยโลก” ของไต้หวัน โดยในปีนี้ ประชาคมโลกให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วม WHO เป็นวงกว้างมากขึ้นจากปีที่แล้ว สะท้อนให้เห็นถึงจิตวิญญาณ “ก้าวเดินเคียงข้างประชาคมโลกด้วยความเชื่อมั่นและกล้าหาญ” (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

ทำเนียบประธานาธิบดีและกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 24 พ.ค. 68
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 24 พฤษภาคม 2568 ประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำไต้หวัน ได้ให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนเพื่อคว้าสิทธิเข้าร่วมองค์การอนามัยโลก” ของไต้หวัน ที่นำโดยนายชิวไท่หยวน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการไต้หวัน โดยปธน.ไล่ฯ ได้ให้การยอมรับต่อคณะตัวแทน สำหรับการยืนหยัดในแนวหน้าเพื่อคว้าสิทธิมนุษยชนทางการแพทย์ให้แก่ไต้หวัน พร้อมนี้ ปธน.ไล่ฯ ยังได้แสดงความขอบคุณต่อประชาคมโลกสำหรับพลังสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนเน้นย้ำว่า การเข้าร่วมในองค์การอนามัยโลก (WHO) และการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) เป็นแนวคิดที่ภาคประชาชนชาวไต้หวันยึดมั่นร่วมกัน เพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานทางสุขภาพ และการแสวงหาสวัสดิการด้านสุขภาพที่ดียั่งยืนให้แก่ประชาคมโลก
 
ปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า คณะตัวแทนในครั้งนี้ รวบรวมขึ้นจากองค์การความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ กลุ่มเยาวชนที่ฝักใฝ่ในกิจการการแพทย์ ตัวแทนภาคประชาชน กลุ่มชาวจีนโพ้นทะเล โดยได้เดินทางเยือนกรุงเจนีวา ภายใต้การกำกับชี้แนะอย่างเข้มงวดของคณะเจ้าหน้าที่สภานิติบัญญัติ โดยมีวัตถุประสงค์ในการยืนหยัดอยู่แนวหน้าเพื่อคว้าสิทธิมนุษยชนทางการแพทย์มาสู่ไต้หวัน ซึ่งได้รับการยอมรับอย่างล้นหลามจากประชาคมโลก
 
ปธน. ไล่ฯ ยังได้ให้การยอมรับต่อนายอู๋ยุ่นตง  เอกอัครราชทูตผู้แทนพิเศษของไต้หวัน ที่เดินทางเยือนประเทศต่างๆ เพื่อป่าวประกาศเรียกร้องให้ประชาคมโลกให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การ WHO มาตลอดระยะเวลา 25 ปี แม้ว่าปัจจุบัน เอกอัครราชทูตอู๋ฯ จะอายุ 87 แล้ว แต่เขาก็ยังไม่ลดละความพยายามในการแสวงหาพลังเสียงสนับสนุนให้แก่ไต้หวัน เพื่อต้องการส่งเสริมให้ประชาคมโลกมองเห็นคุณประโยชน์ของไต้หวันในภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ และการบริการทางการแพทย์ที่เปี่ยมคุณภาพของไต้หวัน
 
ปธน.ไล่ฯ แถลงว่า แม้ว่าในปีนี้ ไต้หวันจะยังคงมิได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุม WHA ประกอบกับงบประมาณส่วนกลางถูกตัดทอนไปเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งเหล่านี้มิได้ส่งผลกระทบต่อความมุ่งมั่นตั้งใจของพวกเรา ในการปกป้องสิทธิมนุษยชนทางสุขภาพของไต้หวันเลยแม้แต่น้อย โดยในระหว่างการเยือนครั้งนี้ คณะตัวแทนไต้หวันได้จัดการประชุมหารือแบบทวิภาคี การประชุมสัมมนารูปแบบนานาชาติ และงานแถลงข่าวนานาชาติขึ้น ณ กรุงเจนีวา เป็นจำนวนทั้งสิ้นกว่า 40 รอบ และได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือกับ (MOU) กับโรงพยาบาล HUG ในเครือมหาวิทยาลัยเจนีวา และสหพันธ์โรงพยาบาลระหว่างประเทศ (International Hospital Federation, IHF) ซึ่งล้วนแต่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของไต้หวัน ในการคว้าสิทธิเข้าร่วม WHO อย่างกระตือรือร้น
 
ปธน.ไล่ฯ ระบุว่า แม้ว่า WHO จะยืนหยัดในหลักการ “ไม่ละทิ้งผู้ใดไว้เบื้องหลัง” แต่น่าเสียดายที่กลับละทิ้งประชาชนชาวไต้หวันจำนวน 23 ล้านคนไว้ข้างหลัง อย่างไรก็ตาม ปธน.ไล่ฯ ได้ใช้โอกาสนี้แสดงความชื่นชมต่อนายชิวไท่หยวน และนายลวี่เจี้ยนเต๋อ รัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการไต้หวัน ที่ได้ชูแนวคิด “เก้าอี้ 3 ขา” ในการถ่ายทอดให้ประชาคมโลกเห็นว่า “หากว่ามีไต้หวันเข้าร่วมด้วย WHO จะยิ่งมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น เปรียบเสมือนเก้าอี้ที่มี 4 ขา” พร้อมกันนี้ ปธน.ไล่ฯ ยังใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อตัวแทนรัฐบาลเบลีซ ที่แสดงทรรศนะอย่างเปิดเผยในการประชุม WHA โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประชาคมโลกจะให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดที่ว่า “เก้าอี้หากมี 4 ขา ก็จะยิ่งมีความรัดกุมรอบคอบมากยิ่งขึ้น”
 
ปธน.ไล่ฯ เผยว่า นอกจากกลุ่มประเทศพันธมิตรที่ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันแล้ว การประชุม WHA ประจำปีนี้ ยังมีประเทศสมาชิกและตัวแทนสหภาพยุโรป ในฐานะผู้สังเกตการณ์ รวม 26 คน ที่ต่างก็แสดงจุดยืนให้การสนับสนุนไต้หวันทั้งทางตรงและทางอ้อม พวกเราขอแสดงความขอบคุณด้วยใจจริง โดยธีมหลักของการประชุม WHA ประจำปีนี้คือ “ร่วมสร้างโลกที่แข็งแกร่ง” (One World for Health) แม้ว่าไต้หวันจะไม่ใช่ประเทศสมาชิกของ WHO และไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุม WHA แต่พวกเราต่างยึดมั่นในแนวคิดที่สอดรับต่อธีมหลักของการประชุมได้อย่างลงตัว ซึ่งพวกเราจะยังคงเดินหน้ายืนหยัดในจุดยืนเช่นนี้ต่อไป
 
การอภิปรายทั่วไปของการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ครั้งที่ 78 ปิดฉากลงแล้ว ภายใต้ความมุ่งมั่นพยายามร่วมกันของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ และสำนักงานตัวแทนรัฐบาลไต้หวันประจำต่างประเทศ ส่งผลให้พลังเสียงสนับสนุนที่ประชาคมโลกส่งมอบให้แก่ไต้หวัน มีแต่ทวีความหนักแน่นเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความเหมาะสมและความจำเป็นเร่งด่วนในการเข้าร่วมการประชุม กลไกและกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ WHO ของไต้หวัน ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกแล้ว อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า การที่จีนและประเทศพวกพ้อง จงใจบิดเบือนญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 และญัตติที่ประชุม WHA ฉบับที่ 25.1 เพื่อขัดขวางมิให้ไต้หวันเข้าร่วม นอกจากจะเป็นเรื่องเหลวไหลสิ้นดีแล้ว ยังไม่สามารถได้รับการสนับสนุนและความเข้าใจจากประชาคมโลกอีกด้วย
 
11 ประเทศพันธมิตรของไต้หวันที่มีสถานภาพเป็นประเทศสมาชิกของ WHO นอกจากจะยื่นเสนอแผนผลักดันการสนับสนุนไต้หวันแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันในที่ประชุมหลักและการประชุมคณะกรรมการบริหารอย่างหนักแน่นอีกด้วย นอกจากนี้ 15 ประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันและสหภาพยุโรป ต่างก็ทยอยทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้การสนับสนุนไต้หวัน พร้อมทั้งแสดงจุดยืนต่อต้านอย่างเปิดเผยต่อกรณีที่จีนและประเทศพวกพ้องจงใจบิดเบือนญัตติที่ประชุม UN และ WHA พร้อมเน้นย้ำว่า 2 ญัตติข้างต้นมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับไต้หวันเลย และไม่สามารถนำมาเป็นหลักอ้างอิงในการกีดกันไต้หวัน มิให้เข้าร่วม WHO ระบบ UN และการประชุมแบบพหุภาคี
 
ปีนี้เป็นครั้งแรกที่กต.ไต้หวันจัด “กิจกรรมชี้แจงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการแพทย์อัจฉริยะ” ซึ่งผู้ประกอบการแนวหน้าของไต้หวันอย่าง บริษัท Acer Medical และ Quanta Computer ต่างเข้าร่วมแบ่งปันและได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมอย่างล้นหลาม ซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพความเชี่ยวชาญของไต้หวันด้านการวิจัยพัฒนาและประยุกต์ใช้การแพทย์อัจฉริยะแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการรุกขยายโอกาสทางธุรกิจ ทั้งนี้ เพื่อขานรับต่อมติการผ่านญัตติว่าด้วยการดูแลสุขภาพชนพื้นเมืองในช่วงวาระการประชุม WHA ครั้งที่ 76 กต.ไต้หวันจึงได้ติดต่อเชิญให้คณะนักร้องประสานเสียง Puzangalan Children's Choir ชนเผ่าผายวันจากเมืองผิงตง เข้าร่วมจัดการแสดงขับร้องประสานเสียง ซึ่งนอกจากจะเป็นการยกระดับการมองเห็นไต้หวันในโลกนานาชาติด้วยศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์ด้านวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญและการดูแลสุขภาพที่รัฐบาลมีต่อชนพื้นเมืองอีกด้วย
 
กต.ไต้หวันและสนง.ตัวแทนรัฐบาลในต่างแดน ต่างมุ่งมั่นเจรจาให้สื่อนานาชาติตีพิมพ์บทความของรมว.สาธารณสุขไต้หวัน และมุ่งประชาสัมพันธ์แผนผลักดันการเข้าร่วมของไต้หวัน ผ่านการยื่นเสนอบทความของสนง.ตัวแทนไต้หวันในต่างแดน บทความวิชาการของผู้เชี่ยวชาญ และบทวิจารณ์ที่เป็นมิตรต่อไต้หวัน รวมทั้งสิ้น 382 ฉบับ นอกจากนี้ ยังได้มีการโพสต์ข้อความหรือบทความที่เกี่ยวข้องผ่านเว็บไซต์ทางการกต.ไต้หวัน และสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ รวมจำนวน 2,540 ฉบับ ส่งผลให้มียอดผู้เข้าชมสะสมกว่า 2.9 ล้านคน
 
หลังจากนี้ กต.ไต้หวัน - สธ.ไต้หวัน จะประสานความร่วมมือกันในบูรณาการทรัพยากรจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อผลักดัน “ทีมบุคลากรการทูตทางการแพทย์” ให้ก้าวไปสู่เวทีนานาชาติ พร้อมทั้งจะยืนหยัดในจิตวิญญาณ “ก้าวเดินเคียงข้างประชาคมโลกด้วยความเชื่อมั่นและกล้าหาญ” ในการคว้าพลังเสียงสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นจากประชาคมโลก ผ่านการดำเนินภารกิจตามหลักการ “การทูตเชิงบูรณาการ” เพื่อพิชิตเป้าหมาย “การร่วมสร้างโลกที่แข็งแกร่ง” ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
 

ข่าวยอดนิยม