
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 13 มิ.ย. 68
คณะผู้สื่อข่าวต่างประเทศ I ประจำปี 2568 ที่รวมตัวขึ้นโดยผู้สื่อข่าว 15 คนจาก 12 ประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชีย – แปซิฟิกและแอฟริกา ได้เดินทางเยือนไต้หวัน ในช่วงระหว่างวันที่ 19 – 23 พฤษภาคม 2568 โดยในระหว่างที่พำนักในไต้หวัน คณะตัวแทนได้เข้าร่วมงานเลี้ยงน้ำชาสื่อมวลชน เนื่องในวาระครบรอบ 1 ปีของการขึ้นดำรงตำแหน่งของนายหลินเจียหรง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน พร้อมทั้งร่วมจัดการเสวนาแลกเปลี่ยนกับนายอู๋จื้อจง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน นอกจากนี้ คณะตัวแทนยังได้ลงพื้นที่เข้าเยี่ยมเยือนสถาบันเทคโนโลยีและการแพทย์หลายแห่งในไต้หวัน เพื่อทำความเข้าใจกับสถานการณ์ความคืบหน้าตามหลักการการทูตเชิงบูรณาการ และการพัฒนาทางเทคโนโลยี รวมไปถึงการธำรงปกป้องประชาธิปไตยและการเข้ามีส่วนร่วมของไต้หวันบนเวทีนานาชาติ
รายงานข่าวที่เกี่ยวข้องได้รับการตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ต่างชาติหลายฉบับ อาทิ New York Post ของสหรัฐฯ Plus jeden deň ของสโลวัก 15 min.lt ของลิทัวเนีย Daily Maverick ของแอฟริกาใต้ วารสาร Pacific Island Times ของเกาะกวมแห่งสหรัฐฯ สมาคม The Pacific Islands News Association ที่ตั้งอยู่ในสาธารณรัฐฟิจิ และ The Observer ของเอสวาตินี เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นหลักอ้างอิงที่สำคัญสำหรับการส่งเสริมให้ประชาคมโลก ทำความรู้จักกับไต้หวันในเชิงลึกเพิ่มมากขึ้น
รมว.หลิน เน้นย้ำขณะปราศรัยในระหว่างงานเลี้ยงน้ำชาว่า ตลอดระยะที่ผ่านมา ไต้หวันมุ่งผลักดัน “การทูตเชิงบูรณาการ” อย่างกระตือรือร้น ด้วยการยึดค่านิยมประชาธิปไตยเป็นรากฐาน ผนวกเข้ากับการประสานความร่วมมือระดับนานาชาติและการเปลี่ยนผ่านทางอุตสาหกรรม ทั้งนี้ เพื่อบรรลุการบริหารปกครองในรูปแบบที่ยั่งยืน โดยในระหว่างกิจกรรม รมว.หลินฯ ได้ระบุว่า การเดินทางเยือนลิทัวเนีย เมื่อช่วงที่ผ่านมา ได้กระตุ้นให้เกิดการลงทุนและความร่วมมือแบบทวิภาคีอย่างราบรื่น โดยรมว.หลินฯ ยังใช้โอกาสนี้ แสดงความชื่นชมต่อลิทัวเนียว่า แม้ว่าจะเผชิญหน้ากับแรงกดดันทางการเมือง แต่ถึงกระนั้น รัฐบาลลิทัวเนียก็ยังคงให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าจัดตั้งสำนักงานตัวแทนรัฐบาลไต้หวันขึ้นในพื้นที่ ในนาม “ไต้หวัน” แสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนต่อประชาธิปไตยและเสรีภาพอย่างหนักแน่น ในรายงานข่าว 15 min.lt ของลิทัวเนีย ได้ตีพิมพ์เรื่องราวที่ย้อนพิจารณาการแลกเปลี่ยนแบบทวิภาคี ระหว่างไต้หวัน - ลิทัวเนีย พร้อมเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่าย มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือทางอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในเชิงลึก นอกจากนี้ Plus jeden deň ของสโลวัก ก็ได้ตีพิมพ์รายงานความสำคัญของบทบาทการเป็นประเทศผู้นำทางเทคโนโลยีในระดับสากลของไต้หวัน ลงบนข่าวหน้าหนึ่ง โดยชี้ชัดว่า ไต้หวันมิใช่เพียงแค่ฐานการผลิตเพียงเท่านั้น แต่เป็นแพลตฟอร์มด้านการวิจัยพัฒนาด้านนวัตกรรมที่ทันสมัยระดับโลก
ต่อประเด็นการเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศ รมว.หลินฯ กล่าวว่า ไต้หวันมุ่งให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศพันธมิตรในการฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ ควบคู่ไปกับการจัดตั้งระบบการแพทย์อัจฉริยะ อีกทั้งยังส่งมอบบริจาคหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ และชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ให้แก่หลายประเทศทั่วโลก ภายใต้สถานการณ์โรคโรคโควิด - 19 เพื่อแสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณ “ไต้หวันช่วยได้” (Taiwan Can Help) การอ้างอิงและตีความญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 ของจีน ในทิศทางที่บิดเบือนข้อเท็จจริง ล้วนแต่เป็นพฤติกรรมการบ่อนทำลายทางการเมือง ภายใต้ประเด็นดังกล่าวได้รับการให้ความสำคัญจากสมาคม The Pacific Islands News Association ของฟิจิ อันจะเห็นได้จากการเผยแพร่จุดยืนของไต้หวัน ภายใต้หัวข้อ “ไต้หวันมองว่าการกีดกันให้อยู่ภายนอกระบบคือ “การดูหมิ่นรุนแรง” จึงขอเรียกร้องสิทธิในการเข้ามีส่วนร่วมอย่างเป็นธรรม” ส่วนวารสาร Pacific Island Times ของเกาะกวม และ Plus jeden deň ของสโลวัก ต่างก็ตีพิมพ์บทความที่ให้การยอมรับต่อคุณูปการที่ไต้หวันส่งมอบให้แก่ประชาคมโลกในด้านการแพทย์นานาชาติ นอกจากนี้ รมช.อู๋ฯ ยังระบุเพิ่มเติมว่า ไต้หวันเคยได้รับความช่วยเหลือจากประชาคมโลก ในปัจจุบัน พวกเรามีศักยภาพมากพอที่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ พวกเราจึงส่งมอบการสนับสนุนให้แก่เอสวาตินีและประเทศพันธมิตร โดยปราศจากซึ่งการตั้งเงื่อนไขทางการเมือง
ในด้านความมั่นคงและการเมืองเชิงภูมิรัฐศาสตร์ รมช.อู๋ฯ แถลงว่า เมื่อเผชิญหน้ากับแรงกดดันทางการทหารที่นับวันยิ่งรุนแรง บวกกับพลังเสียงความคิดเห็นจากภาคประชาชน ไต้หวันจึงได้ประยุกต์ใช้มาตรการ “มิใช่วันนี้” (Not Today) ในการจัดตั้งกลไกการสกัดกั้นในแกนหลัก 3 มิติ ได้แก่ 1. การเสริมสร้างศักยภาพทางกลาโหมด้วยการพึ่งพาตนเอง 2. มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับกลุ่มประเทศประชาธิปไตย และ 3. สะท้อนให้เห็นบทบาทสำคัญของไต้หวันในระบบห่วงโซ่อุปทานโลก โดย Daily Maverick ของแอฟริกาใต้ ได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวมาประกอบการชี้แจง แนวทางการรับมือกับความเสี่ยงของภัยคุกคามแอบแฝงที่ไต้หวันต้องเผชิญหน้า ส่วน New York Post ของสหรัฐฯ ได้ชี้แจงว่า จีนกล่าวอ้างตนว่ามีอำนาจอธิปไตยเหนือไต้หวัน ซึ่งเกรงว่าไต้หวันอาจจะถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบอย่างเดียวดาย ในระหว่างที่ทั่วโลกตกอยู่ท่ามกลางภาวะวิกฤต ในฐานะที่ไต้หวันมิใช่สมาชิกของสหประชาชาติ (UN) จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายมุ่งเสริมสร้างการสนับสนุนต่อไต้หวันอย่างกระตือรือร้น เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เกิดเหตุการณ์ “ยูเครนวันนี้ คือไต้หวันในวันพรุ่งนี้”
ในระหว่างนี้ คณะตัวแทนยังได้เข้าร่วมมหกรรม COMPUTEX และสถาบันนวัตกรรมทางเทคโนโลยีหลายแห่งในไต้หวัน โดยกลุ่มผู้สื่อข่าวต่างให้ความสนใจต่อ “AI Factory” ศูนย์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ รูปแบบ AI ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไต้หวันและบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง NVIDIA , Foxconn และ TSMC พร้อมทั้งให้การยอมรับต่อไต้หวันในการผลักดันนิคมอุตสาหกรรม AI และทิศทางนโยบายที่ส่งเสริมให้ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม ประสานความร่วมมือกัน นอกจากนี้ รมช.อู๋ฯ ยังทำการชี้แจงว่า เนื่องจากอุปทานของแผ่นชิปเซมิคอนดักเตอร์ ร้อยละ 60 และแผ่นชิปทันสมัยมากกว่าร้อยละ 95 ถูกผลิตขึ้นในไต้หวัน จึงจะเห็นได้ว่า ไต้หวันเป็นฐานอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีขั้นสูงที่สำคัญระดับโลก Daily Maverick ของแอฟริกาใต้ ชี้ว่า หากว่าระบบนิเวศของแผ่นชิปไต้หวันถูกทำลายลง จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจโลก ประชาคมโลกมิสามารถมองข้ามบทบาทสำคัญทางเทคโนโลยีของไต้หวันได้ ส่วน Plus jeden deň แสดงความเห็นว่า ไต้หวันในฐานะที่เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมทางเทคโนโลยี จึงถือเป็นประเทศเป้าหมายทางความร่วมมือด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ที่สำคัญของกลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก
ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน และกลุ่มประเทศในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก รมช.อู๋ฯ แถลงว่า ไต้หวันหวังที่จะจับมือกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันในภูมิภาค จัดตั้งความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนที่มีเสถียรภาพ เอื้อประโยชน์แก่กันและปราศจากซึ่งเงื่อนไขทางการเมือง ในการมุ่งผลักดันความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม ทั้งในด้านการท่องเที่ยว การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณูปโภค โดยรมช.อู๋ฯ กล่าวว่า หลายปีมานี้ จีนอาศัยปัจจัยทางเงินทุนแลกมาซึ่งพลังเสียงสนับสนุนทางการเมือง เพื่อบ่อนทำลายความสัมพันธ์ที่มีอยู่เดิมระหว่างไต้หวันและประเทศพันธมิตรบางส่วน ส่วนไต้หวันมุ่งเน้นไปที่ความโปร่งใสในกลไกความร่วมมือ และขมักเขม้นในการสร้างความผาสุกให้แก่ภาคประชาชนเป็นพันธกิจหลัก ในส่วนของวารสาร Pacific Island Times ของเกาะกวม ได้รายงานเกี่ยวกับการเดินทางเยือนไต้หวันของ H.E. Surangel Whipps, Jr. ประธานาธิบดีสาธารณรัฐปาเลา เพื่อเน้นย้ำว่า ความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนของพวกเรา “มิได้ต้องการคว้าอำนาจใดๆ เพียงแค่สนองต่อหลักการที่ยึดมั่นร่วมกันเท่านั้น” พร้อมทั้งให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศ รมช.อู๋ฯ แสดงจุดยืนว่า ไต้หวันหวังที่จะได้รับการมองเห็นจากหุ้นส่วนที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันในระดับภูมิภาค เพื่อร่วมธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป เคียงคู่กับกลุ่มพันธมิตรประชาธิปไตย
คณะตัวแทนผู้สื่อข่าวในครั้งนี้ ได้ร่วมรายงานผลสัมฤทธิ์ของไต้หวันในหลากหลายแง่มุม ทั้งการทูต การป้องกันประเทศ เทคโนโลยี และการเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมให้สื่อต่างชาติตระหนักถึงความสำคัญของระบอบประชาธิปไตย และบทบาทของไต้หวันในประชาคมโลก โดยกต.ไต้หวันจะมุ่งเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนกับสื่อต่างชาติในเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการผลักดันการเชื่อมโยงแนวคิดและการแพร่กระจายข่าวสารข้อเท็จจริงอย่างกระตือรือร้นต่อไป