
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 14 มิ.ย. 68
นายเฉินหมิงฉี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวัน ตอบรับคำเชิญของ “การประชุมความมั่นคงโลก” (GLOBSEC) คลังสมองที่มีชื่อเสียงในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก เข้าร่วมการประชุม ”GLOBSEC Forum in Prague” ที่จัดขึ้น ณ กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก โดยรมช.เฉินฯ มีโอกาสเข้าร่วมเป็นผู้บรรยายบนเวทีหัวข้อ “ไต้หวัน : ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเสถียรภาพระดับโลก” (Taiwan: The Global Imperative for Stability) ที่เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2568 พร้อมกับเน้นย้ำว่า เมื่อเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากจีนที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น การรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ไม่เพียงแต่เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของไต้หวันเท่านั้น แต่เป็นพันธกิจร่วมกันของพันธมิตรด้านประชาธิปไตยทั่วโลก จากประสบการณ์ของยูเครน ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า คำมั่นทางการทูตที่ไร้ซึ่งศักยภาพการป้องกันประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ไม่สามารถสกัดกั้นไว้ซึ่งพฤติกรรมการรุกรานจากประเทศภายนอกได้ ไต้หวันจึงจำเป็นต้องยกระดับแสนยานุภาพในการป้องกันประเทศด้วยตนเอง ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความร่วมมือกับประชาคมโลก จึงจะสามารถบรรลุซึ่งการสกัดกั้นไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การประชุมในครั้งนี้สามารถดึงดูดผู้เข้าร่วมนับร้อยราย ส่งผลให้บรรยากาศการแลกเปลี่ยนดำเนินไปอย่างคึกคัก อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่า ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไต้หวัน ได้รับการมองเห็นจากกลุ่มประเทศยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกแล้ว
รมช.เฉินฯ กล่าวว่า กลยุทธ์ที่ไต้หวันใช้ในการสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของประเทศลัทธิอำนาจนิยม แบ่งออกเป็น 3 มิติหลัก ได้แก่ (1) การยกระดับแสนยานุภาพทางกลาโหม อันครอบคลุมสู่การจัดสรรงบประมาณทางกลาโหมเพิ่มเติม การปฏิรูปกองทัพทหาร และการพัฒนายุทธวิธีสงครามที่ไร้สมมาตร (2) การสร้างพลังสามัคคีของกลุ่มพันธมิตรประชาธิปไตย ในการร่วมธำรงรักษาเสรีภาพการเดินเรือในช่องแคบไต้หวัน และส่งมอบการสนับสนุนด้านการทูต เพื่อคงไว้ซึ่งสถานภาพเดิมในปัจจุบันของช่องแคบไต้หวัน และ (3) การคว้าพลังเสียงสนับสนุนจากประชาคมโลก ที่มีต่อการเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศของไต้หวัน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้ไต้หวันถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบอย่างโดดเดี่ยว
รมช.เฉินฯ เรียกร้องให้นานาประเทศทั่วโลกร่วมแสวงหามาตรการในการป้องกัน มิใช่การแสวงหาแนวทางการตอบสนองหลังจากที่เกิดเหตุวิกฤตนั้นๆ ขึ้นแล้ว พร้อมเน้นย้ำว่า การสนับสนุนที่ทั่วโลกส่งมอบให้ไต้หวัน มิใช่การอุทิศบุญคุณให้แก่ไต้หวัน แต่เป็นการมุ่งปกป้องไว้ซึ่งเสรีภาพ หลักนิติธรรมและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของทั่วโลก อนึ่ง ไต้หวันถือเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกที่มีความรับผิดชอบ โดยพวกเราได้ส่งมอบความช่วยเหลือให้แก่ประชาคมโลก ภายใต้หลักจิตวิญญาณ “ไต้หวันช่วยได้” (Taiwan can help) อย่างกระตือรือร้นเสมอมา ด้วยเหตุนี้ ไต้หวันจึงไม่สมควรถูกกีดกันให้อยู่นอกองค์การระหว่างประเทศ
ผู้ที่เข้าร่วมบรรยายในเวทีการเสวนาครั้งนี้ ยังประกอบด้วย Mr. Pavel Fischer ประธานคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศ กลาโหม และกิจการความมั่นคงแห่งวุฒิสภาเช็ก Mr. Yehor Cherniev รองประธานคณะกรรมาธิการกิจการความมั่นคงแห่งชาติ กลาโหมและข่าวกรองแห่งรัฐสภายูเครน Mr.Raimond Kaljulaid สมาชิกคณะกรรมาธิการด้านกลาโหมแห่งเอสโตเนีย และ Mr. Oleksii Reznikov อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของยูเครน ที่ล้วนแต่แสดงจุดยืนให้การสนับสนุนไต้หวัน พร้อมเน้นย้ำความสำคัญที่พันธมิตรประชาธิปไตยโลก ควรผนึกกำลังกันในการสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของลัทธิอำนาจนิยม อย่างสามัคคี
นอกเหนือจากการแสดงปาฐกถาในที่ประชุม GLOBSEC แล้ว รมช.เฉินฯ ยังได้ร่วมเปิดการเสวนาแบบทวิภาคีกับกลุ่มนักการเมืองของกลุ่มประเทศทวีปยุโรป ที่รวมถึงเช็กด้วย พร้อมทั้งให้สัมภาษณ์แก่สื่อนานาชาติ ในการแสดงจุดยืนนโยบายของไต้หวันที่มีต่อกลุ่มประเทศทวีปยุโรป
การประชุม GLOBSEC รวบรวมไว้ซึ่งนักการเมืองจากทั่วทวีปยุโรป เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนกันในประเด็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงที่กลุ่มประเทศสมาชิกต้องเผชิญหน้า ถือเป็นหนึ่งในคลังสมองสำคัญในภูมิภาคยุโรป หลายปีมานี้ ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - ยุโรป นับวันยิ่งทวีความแน่นแฟ้นเพิ่มมากขึ้น และต่างก็ร่วมชะตาชีวิตในการเผชิญหน้ากับความท้าทายด้านความมั่นคงเช่นเดียวกัน โดยในอนาคต ไต้หวันจะมุ่งพัฒนาความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนในด้านความมั่นคงกับกลุ่มประเทศทวีปยุโรปที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้เกิดสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน ตลอดจนเพื่อร่วมต่อกรกับภัยคุกคามนานับประการที่เกิดจากประเทศเผด็จการ อย่างมีประสิทธิภาพ