
คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ วันที่ 17 มิ.ย. 68
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2568 สถาบัน IMD (International Institute for Management Development) แห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ประกาศผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของโลก ประจำปี 2568 (IMD World Competitiveness Yearbook) พบว่า ไต้หวันอยู่ในอันดับที่ 6 จากทั้งหมด 69 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ถือเป็นอันดับ 1 มาเป็นเวลาติดต่อกัน 5 ปีซ้อน หากนับเฉพาะเขตเศรษฐกิจที่มีประชากรจำนวนมากกว่า 20 ล้านคนขึ้นไป
4 ปัจจัยที่ใช้ในการจัดอันดับ คือ “ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ” “ประสิทธิภาพของภาครัฐ” “ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ” และ “โครงสร้างพื้นฐาน” ต่างได้รับการจัดให้อยู่อันดับ 10, 8 , 4 และ 10 ของโลกตามลำดับ โดยเฉพาะปัจจัยด้าน “ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ” ที่มีอันดับขยับขึ้นหน้ากว่า 16 อันดับ และเป็นสาเหตุหลักของการที่ไต้หวันได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้นจากปีที่ผ่านๆ มา หากมองเฉพาะดัชนีย่อย ไต้หวันถูกจัดให้อยู่ใน 3 อันดับแรกของโลกในดัชนีย่อย รวม 24 รายการ แสดงให้เห็นถึงสปิริตของผู้ประกอบการไต้หวัน คุณสมบัติที่เปี่ยมคุณภาพของบุคลากร และความโดดเด่นด้านการวิจัยและพัฒนาในไต้หวัน
1. "ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ" ขยับขึ้นจากอันดับ 26 ของปีที่แล้วมาสู่อันดับ 10 ในปีนี้
ผลการจัดอันดับดัชนีรองอย่าง “ระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ” “การค้าระหว่างประเทศ” และ “การลงทุนระหว่างประเทศ” ต่างก็มีพัฒนาการที่ก้าวหน้า แสดงให้เห็นถึงโมเมนตัมทางเศรษฐกิจในภาพรวมของไต้หวันที่ขยายตัวเติบโตเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะข้อได้เปรียบด้านเซมิคอนดักเตอร์ AI และระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง เป็นต้น ที่ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการส่งออกในภาพรวมของไต้หวัน ส่วนอันดับของ "การจ้างงาน" และ "ราคา" กลับมีแนวโน้มที่ปรับตัวลดลง
ดัชนีย่อย อาทิ “ดัชนีความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ” ก้าวขึ้นครองอันดับ 2 ของโลก ส่วน “ความทรหดทางเศรษฐกิจ” และ “อัตราการขยายตัวเติบโตของ real GDP per capita” ถูกจัดอยู่ในอันดับ 4 ของโลก บ่งชี้ให้เห็นว่า ไต้หวันเปี่ยมด้วยศักยภาพการแข่งขันระดับสูง ในด้านความหลากหลายของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และการบริหารจัดการความเสี่ยง อันจะนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ โดย “อัตราการขยายตัวเติบโตของ real GDP per capita” มีการขยับตัวขึ้นจากอันดับ 32 ของปีที่แล้ว มาสู่อันดับ 28 ในปีนี้
2. “ประสิทธิภาพของภาครัฐ” ยังคงสามารถรักษาอันดับ 8 ไว้ได้ดังเดิม
ในส่วนของดัชนีรองอย่าง “แนวโน้มสถานการณ์ทางการเงิน” และ “นโยบายภาษี” ต่างก็ยังคงมาตรฐานใน 10 อันดับแรกของโลก แสดงให้เห็นถึงรากฐานที่เปี่ยมเสถียรภาพในด้านความมั่นคงและสภาพคล่องของระบบการคลัง ศักยภาพการแข่งขันทางภาษี และสภาพแวดล้อมทางกฎหมาย เป็นต้น โดยในจำนวนนี้ “กฎระเบียบด้านเศรษฐกิจและการพาณิชย์” มีอันดับที่ก้าวหน้าขึ้นจากปีที่แล้ว ส่วนอันดับ “โครงสร้างทางสังคม” มีแนวโน้มที่เริ่มถดถอยลง
ดัชนีย่อย อาทิ “การก่อตัวของคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเสรี” ครองอันดับ 1 ของโลก และ “สภาพแวดล้อมเชิงพาณิชย์ที่เป็นมิตรต่อผู้ประกอบการ” ครองอันดับ 2 ของโลก แสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นของไต้หวัน ในด้านการบริหารปกครองรูปแบบประชาธิปไตย และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่สะดวก นอกจากนี้ “ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศต่อหัว” และ “อัตราภาษีการบริโภค” ต่างอยู่ในอันดับ 4 ของโลก แสดงให้เห็นว่า ไต้หวันมีจำนวนทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพียงพอ ประกอบกับข้อได้เปรียบด้านการจัดเก็บอัตราภาษีที่ลดต่ำลง ส่งผลให้เกิดเป็นรากฐานที่มั่นคงของเสถียรภาพทางระบบเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นความเชื่อมั่นของตลาดและการบริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ
3. “ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ” ขยับขึ้นจากอันดับ 6 ของปีที่แล้วมาสู่อันดับ 4 ในปีนี้
ดัชนีรองอย่าง “ศักยภาพและประสิทธิภาพการผลิต” “การเงิน” “การบริหารจัดการ” และ “เจตคติต่อพฤติกรรมและค่านิยมหลัก” ต่างก็ถูกจัดให้อยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก ในจำนวนนี้ “ศักยภาพและประสิทธิภาพการผลิต” ขยับขึ้นจากอันดับ 9 ของปีที่แล้ว มาสู่อันดับ 2 ในปีนี้ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้ดัชนี “ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ” ของไต้หวัน ขยับขึ้นสู่อันดับ 4 ของโลก
สำหรับดัชนีย่อย อาทิ “คุณสมบัติเชิงผู้ประกอบการของผู้จัดการทั่วไป” “ความเชื่อมั่นของภาคประชาสังคมต่อผู้บริหารธุรกิจ” และ “การให้ความสำคัญต่อเสียงตอบรับของกลุ่มผู้บริโภคจากผู้ประกอบการ” ต่างอยู่ในอันดับ 1 ของโลก สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมองค์กรที่เปี่ยมด้วยจิตวิญญาณด้านนวัตกรรม การบริหารองค์กรธุรกิจด้วยความโปร่งใสและจริงใจ และการให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้บริโภค นอกจากนี้ “การตอบสนองที่รวดเร็วฉับไวและความยืดหยุ่นของผู้ประกอบการ” “การควบคุมการบริหารองค์กรธุรกิจของคณะกรรมการบริหาร” และ “ผู้นำภาคธุรกิจที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบทางสังคม” ต่างอยู่ในอันดับ 2 ของโลก “อัตราส่วนมูลค่าหุ้นต่อ GDP” และ “การระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์” ต่างได้รับการจัดให้อยู่อันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ตลาดทุนของไต้หวันไม่เพียงแต่มีความครอบคลุมสมบูรณ์ แต่ยังสามารถเป็นฐานสนับสนุนที่มีเสถียรภาพในการขยายตัวของภาคธุรกิจได้
4. “โครงสร้างพื้นฐาน” ยังคงสามารถรักษาอันดับ 10 ไว้ได้ดังเดิม
ดัชนีรองอย่าง “โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี” และ “โครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์” ต่างคงอันดับเดิมอยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก ส่วนด้าน “การศึกษา” ขยับตัวขึ้น 3 อันดับมาสู่อันดับที่ 11 สะท้อนให้เห็นว่า ไต้หวันนอกจากจะมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและพัฒนาที่ครอบคลุมสมบูรณ์แล้ว ระบบการศึกษายังเป็นรากฐานที่สนับสนุนให้เกิดผลสัมฤทธิ์ด้านนวัตกรรมทางเทคโนโลยี และเป็นฐานการบ่มเพาะบุคลากรของภาคธุรกิจอีกด้วย ส่วนอันดับ “โครงสร้างพื้นฐาน” และ “การแพทย์และสภาพแวดล้อม” กลับมีแนวโน้มดิ่งตัวลง ซึ่งเป็นการชี้ให้เห็นถึงความเร่งด่วนในการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ประกอบกับการยอมรับซึ่งกันและกัน
สำหรับดัชนีย่อย “การให้ความสำคัญต่อประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนของผู้ประกอบการ” ไต้หวันครองอันดับ 1 ของโลก จึงจะเห็นได้ว่า แนวคิดความยั่งยืนได้หลอมรวมเข้าสู่แผนกลยุทธ์การบริหารของภาคธุรกิจแล้ว ส่วน “อัตราส่วนของรายจ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาต่อ GDP” และ “จำนวนบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาต่อประชากร 1,000 คน” ต่างอยู่ในอันดับ 2 ของโลก “อัตราส่วนของเทคโนโลยีระดับกลางถึงสูงต่อมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิต” “สัดส่วนการเข้ารับการศึกษาระดับอุดมศึกษาของกลุ่มประชากรในช่วงวัย 25 – 34 ปี” และ “การทดสอบประเมินผลการเรียนรู้ในโครงการ PISA ที่มุ่งเน้นด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ของกลุ่มเยาวชนวัย 15 ปี” ต่างก็อยู่ใน 3 อันดับแรกของโลก แสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติที่เปี่ยมคุณภาพของบุคลากร และศักยภาพทางเทคโนโลยีของผู้เชี่ยวชาญชาวไต้หวัน ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
การประเมินผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของโลก IMD ถือเป็นการตรวจสอบคุณภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมของประเทศชาติ รัฐบาลจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับผลการประเมินอย่างกระตือรือร้น พร้อมนำไปใช้เป็นหลักอ้างอิงสำคัญในการร่างทิศทางนโยบายที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ปี 2568 เป็นปีที่มีความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย เมื่อเผชิญหน้ากับมาตรการภาษีศุลกากรใหม่ของสหรัฐฯ และปัจจัยความไม่แน่นอนของการปรับระบบโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานโลก รัฐบาลจะมุ่งเสริมสร้างความทรหดทางเศรษฐกิจของไต้หวันอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการยกระดับศักยภาพทางการแข่งขันระดับนานาชาติ เพื่อส่งเสริมให้ไต้หวันมุ่งพัฒนาไปสู่ความก้าวหน้าที่ก้าวข้ามกรอบจำกัด ภายใต้สถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจโลก