
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 20 มิ.ย. 68
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2568 รองประธานาธิบดีเซียวเหม่ยฉิน ได้ให้สัมภาษณ์แก่รายการ Shawn Ryan Show ของสหรัฐฯ โดยได้ตอบข้อซักถามในประเด็นต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เศรษฐกิจและการค้า การทูต กลาโหม ความสัมพันธ์สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ความมั่นคงในภูมิภาค การเข้าร่วมของภาคประชาสังคม ความมั่นคงทางไซเบอร์และพลังงาน เป็นต้น
สาระสำคัญของเนื้อหาบทสัมภาษณ์ สรุปโดยสังเขป ดังนี้ :
ถาม : ไต้หวันเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก และเป็นผู้ผลักดันการขับเคลื่อนการพัฒนาโลกสมัยใหม่ พวกเราจึงใคร่จะทราบว่า ไต้หวันทำได้อย่างไร ?
ตอบ : พวกเราใช้ระยะเวลาหลายสิบปีในการหล่อหลอมศักยภาพที่โดดเด่นเฉพาะตัว ในด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะด้านไมโครชิป ซึ่งนอกจากจะครอบคลุมโรงงานผลิตแผ่นชิปแล้ว ผู้ประกอบการไต้หวันยังได้เข้าลงทุนในสหรัฐฯ เพื่อผลักดันการผลิตชิปในพื้นที่ ท้องถิ่น ซึ่งนอกเหนือจากการผลิตแล้ว ยังครอบคลุมไปถึงระบบนิเวศทางอุตสาหกรรมที่ประกอบด้วยผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) นับร้อยพันอย่างผู้ประกอบการด้านการออกแบบไมโครชิป ซัพพลายเออร์เคมีภัณฑ์ ไปจนถึงผู้ผลิตเครื่องจักรกล ซึ่งล้วนแต่รวมตัวกันอยู่ในดินแดนไต้หวันแห่งนี้ การประสานความร่วมมือทางโลจิสติกส์และการบูรณาการทรัพยากรระบบนิเวศในไต้หวัน ก่อเกิดเป็นผลสัมฤทธิ์ที่ดีเยี่ยม ด้วยเหตุนี้ ไต้หวันนอกจากจะสามารถผลิตแผ่นชิปขั้นสูงที่ทันสมัยแล้ว ยังสามารถดำเนินการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงที่ผ่านการวิเคราะห์ต้นทุน และสามารถไว้วางใจได้
รองปธน. เซียวฯ เน้นย้ำเรื่อง “ความไว้วางใจได้” เป็นพิเศษ เนื่องจากในแง่เทคโนโลยี โดยเฉพาะการพัฒนา AI สมาร์ทโฟนหรือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ล้วนแต่มีส่วนเกี่ยวพันกับความเป็นส่วนตัวและความน่าเชื่อถือ
รองปธน.เซียวฯ ยังแสดงทรรศนะว่า นอกจาก “ระบบนิเวศของไต้หวัน” แล้ว เรายังมุ่งจัดตั้งระบบนิเวศทางเทคโนโลยีทันสมัยร่วมกัน ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ เพื่อมุ่งผลักดันให้เกิดการพัฒนาของมวลมนุษยชาติ และปกป้องไว้ซึ่งเสรีภาพของพวกเรา ควบคู่ไปกับการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์โลก ระบบนิเวศที่สำคัญในรูปแบบนี้ได้รับการยกย่องจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนําระดับโลก 7 ประเทศ (Group of Seven, G7) และอีกหลายประเทศว่า ไต้หวันสวมบทบาทสำคัญในด้านเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองระดับสากล
ถาม : อุปทานของแผ่นชิปเซมิคอนดักเตอร์ ร้อยละ 60 และแผ่นชิปทันสมัยมากกว่าร้อยละ 95 ถูกผลิตขึ้นในไต้หวัน คุณสามารถชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับภาคประชาชน ที่ยังไม่ค่อยเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญที่แผ่นชิปมีต่อการหมุนเวียนในภาคประชาสังคมในปัจจุบัน ได้หรือไม่ ?
ตอบ : แผ่นชิปเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนทุกองค์ประกอบของวิถีชีวิตของเราในปัจจุบัน ตั้งแต่นาฬิกาข้อมืออัจฉริยะ สมาร์ทโฟน ไปจนถึงยานยนต์ หรือไมโครโฟน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่รอบตัวคุณทั้งหมด จะเห็นได้ว่า แผ่นชิปทำหน้าที่ขับเคลื่อนและเชื่อมโยงโลกสมัยใหม่ของเรา และอาจสรุปได้ว่า แผ่นชิปไต้หวันมีความสำคัญต่อการเชื่อมโยงระดับโลก การบริหารอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี AI โดยพวกเราจะยังคงมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีให้เกิดความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างคุณูปการให้แก่ประชาคมโลกต่อไป
ถาม : และยังรวมถึงเทคโนโลยีกลาโหมอื่นๆ อีกด้วย
ตอบ : แน่นอนค่ะ
ถาม : กลไกการค้าระหว่างประเทศที่แล่นผ่านช่องแคบไต้หวัน ครองสัดส่วนมากน้อยเพียงใด ?
ตอบ : จากรายงานความคาดการณ์ จะเห็นว่า ช่องแคบไต้หวันครองสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 – 50% ของการค้าในน่านน้ำทะเลสากล
ถาม : 20-50% ?
ตอบ : ใช่ค่ะ เจ้าหน้าที่ภาครัฐของสหรัฐฯ เคยกล่าวไว้ว่า ช่องแคบไต้หวันเป็นเส้นทางการค้าทางทะเลที่สำคัญของโลกที่ครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 หากนับตามปริมาณการขนส่งเรือบรรทุกสินค้าและบันทึกการเดินเรือ จะเห็นว่าครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 20 เป็นอย่างต่ำ หากพิจารณาจากแง่มุมแผนที่โลก ช่องแคบไต้หวันตั้งอยู่ใจกลางสำคัญของมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และนับวันยิ่งทวีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจโลกเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งนอกเหนือจากเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ ไต้หวันยังนำเข้าพลังงานและสินค้าอื่นๆ ที่มีมูลค่าสูงอีกด้วย
ถาม : เราทราบว่า มูลค่าการค้าที่แล่นผ่านช่องแคบไต้หวัน มีมูลค่าสูงถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ท่ามกลางสถานการณ์ความผันผวนทางการเมืองเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ไต้หวันมีแนวทางอย่างไรในการรักษาหรือเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางความร่วมมือกับหุ้นส่วนทางการค้าที่สำคัญระดับโลก ?
ตอบ : จริงอยู่ที่พวกเราตกอยู่ในสถานการณ์การเมืองเชิงภูมิรัฐศาสตรที่มีความซับซ้อน อย่างไรก็ตาม พวกเรายังคงมุ่งมั่นในการรักษาความเชื่อมั่นที่มีเสถียรภาพ ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อความเสี่ยงทางการเมืองเชิงภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อมุ่งพัฒนาการสนับสนุนสภาพแวดล้อมทางการพาณิชย์และการลงทุนที่ดี ให้คงอยู่อย่างต่อเนื่อง ไต้หวันแม้จะเป็นเป็นประเทศขนาดเล็ก ที่ต้องพึ่งพาอาศัยกลไกการค้าโลกและสร้างความเชื่อมโยงกับประชาคมโลก แต่ถึงกระนั้น พวกเรากลับมีความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความเชื่อมโยงในเชิงลึก ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความหลากหลายทางการค้า ผ่านการจัดตั้งความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนกับพันธมิตรด้านประชาธิปไตยทั่วโลก เพื่อลดการพึ่งพาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากจนเกินไป
ถาม : ขณะนี้ ทั่วโลกมีเพียง 11 ประเทศ ซึ่งรวมถึงนครรัฐวาติกัน แสดงจุดยืนให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างเปิดเผย เนื่องจากจีนมุ่งทำลายความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและกลุ่มประเทศพันธมิตรด้วยการส่งมอบการสนับสนุนทางการเงิน ไม่ทราบว่า พวกเขาใช้มาตรการใด ?
ตอบ : ปัจจุบัน มีเพียง 12 ประเทศทั่วโลกที่ให้การยอมรับไต้หวัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้า ที่พวกเราสูญเสียประเทศพันธมิตรไปอย่างต่อเนื่อง หลายปีที่ผ่านมา พวกเราสูญเสียฮอนดูรัสไป เนื่องจากการที่จีนยื่นข้อเสนอว่า ตลาดจีนจะนำเข้าสินค้าจากฮอนดูรัสในจำนวนเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ดิฉันคิดเห็นว่า ฮอนดูรัสนอกจากจะไม่สามารถสร้างรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังก่อให้เกิดการขาดดุลการค้าเป็นวงกว้างต่อจีน ซึ่งมีตลาดส่งออกบางส่วนที่ประสบกับวิกฤตความท้าทายขั้นรุนแรง รัฐบาลจีนมักจะสร้างแรงกดดันต่างๆ และไม่ยินยอมดำเนินการตามคำมั่นทางเศรษฐกิจที่ให้ไว้แต่แรกเริ่ม
ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงหวังที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนประเทศในภูมิภาคอเมริกาและลาตินอเมริกา รวมไปถึงกลุ่มประเทศในพื้นที่แถบมหาสมุทรแคริบเบียน ที่ยืนหยัดให้การยอมรับไต้หวันอย่างต่อเนื่อง โดยพวกเรามุ่งหวังที่จะยกระดับความร่วมมือกับกลุ่มประเทศเป้าหมาย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สาธารณสุขและการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อมุ่งสู่ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน
ถาม : ไต้หวันผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ทันสมัยที่ครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 95 ไม่เข้าใจว่า เหตุใดหลายประเทศประชาคมโลกจึงไม่ออกมายืนหยัดให้การสนับสนุนไต้หวัน หากจีนเข้ารุกรานไต้หวันและควบคุมการผลิตโรงงานผลิตชิป จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อประชาคมโลก การยืนหยัดให้การสนับสนุนไต้หวัน จะส่งผลเสียใดต่อกลุ่มประเทศนั้นๆ หรือไม่ ?
ตอบ : นอกเหนือจากประเทศพันธมิตรของไต้หวันแล้ว หลายประเทศที่ยึดมั่นในค่านิยมประชาธิปไตยและเสรีภาพ ต่างก็ทยอยแสดงจุดยืนให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศ อย่างมีความหมาย ประกอบกับเน้นย้ำความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน อาทิ รัฐบาลสหรัฐฯ ที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันอย่างเป็นทางการ ก็มุ่งมั่นช่วยยกระดับแสนยานุภาพทางกลาโหมไต้หวัน ผ่าน “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน”
ถาม : ก่อนหน้านี้ 1 วัน ข้าพเจ้าได้ร่วมหารือกับเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน เกี่ยวกับประเด็นมาตรการภาษีศุลกากร จากที่ทราบมา ไต้หวันเป็นประเทศแรกที่ได้ร่วมพูดคุยหารือกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เพื่อแสวงหาแผนโซลูชันในการร่วมแก้ไขปัญหา นอกเหนือจากภาษีศุลกากรแล้ว พวกเรายังได้ระบุถึงประเด็นปัญหายูเครน จากที่ทราบมา ไต้หวันต้องการส่งมอบความช่วยเหลือด้านการสกัดกั้นการรุกล้ำดินแดนยูเครนจากรัสเซีย แต่ถูกปฏิเสธ เหตุใดรัฐบาลยูเครนถึงได้ปฏิเสธ ?
ตอบ : ในประเด็นภาษีศุลกากร ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ มีความสำคัญต่อทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างมาก ความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนเช่นนี้ ก่อเกิดเป็นวัฏจักรที่ดีงามแก่กัน ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงหวังจะทำข้อตกลงในการลดอัตราภาษีและขจัดปัญหาอุปสรรคที่นอกเหนือจากภาษีศุลกากร ควบคู่ไปกับการผลักดันโครงการการลงทุนใหม่ๆ อาทิ แผ่นชิปเซมิคอนดักเตอร์ และการจัดซื้อพลังงาน เป็นต้น
สำหรับสถานการณ์ในทวีปยุโรป รัฐบาลยูเครนยังคงท่าทีระมัดระวังต่อการสร้างปฏิสัมพันธ์กับไต้หวัน แต่เนื่องจากภาคประชาชนชาวไต้หวันต่างรู้สึกเห็นอกเห็นใจต่อผู้ประสบเคราะห์ในภัยสงครามและต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามอย่างไม่สิ้นสุด ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงหวังจะส่งมอบความช่วยเหลือและการสนับสนุนด้านมนุษยธรรมให้แก่มิตรประเทศ
อนึ่ง พวกเราได้เรียนรู้ข้อคิดอีกประการที่สำคัญจากภาคประชาชนชาวยูเครน ซึ่งก็คือการกระจายอำนาจด้านการบังคับบัญชา โดยให้หน่วยงานระดับรากหญ้ามีอิสระและมีความสามารถในการตัดสินใจมากขึ้น เพื่อยกระดับความยืดหยุ่นในการปฏิบัติการและความสามารถในการปรับตัว โดยไต้หวันก็ได้มุ่งมั่นในการปฏิรูปกลาโหมมาตั้งแต่สมัยการปกครองของอดีตประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ซึ่งประธานาธิบดีไล่ชิงเต๋อ ผู้นำไต้หวันคนปัจจุบันก็ได้มุ่งสืบสานดำเนินการต่อเนื่อง อาทิ การฟื้นฟูระบบการเกณฑ์ทหารที่ต้องเข้ารับการฝึกอบรมและรับใช้ประเทศเป็นเวลา 1 ปี ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างศักยภาพการปกป้องประเทศโดยภาคประชาชน อันจะเป็นเป็นการเพิ่มพูนความทรหดของภาคประชาสังคมในภาพรวม
ถาม : มาตรการข้างต้นเพิ่มเริ่มดำเนินการเมื่อช่วงที่ผ่านมานี้หรือ ?
ตอบ : ใช่ค่ะ
ถาม : การตอบสนองของภาคประชาชน เป็นอย่างไร ?
ตอบ : ในแง่การเมือง เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย เนื่องจากนโยบายข้างต้นมีผลบังคับใช้ในช่วงระหว่างการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการเรียกร้องให้ภาคประชาชนในประเทศร่วมแบกรับภาระความรับผิดชอบ เพื่อรับมือกับปัจจัยความไม่แน่นอนและภัยคุกคามทางการเมืองเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งนี้ เพื่อคงไว้ซึ่งสันติภาพให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป
ถาม : ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – จีน เป็นเช่นไร ? จากที่ทราบ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลจีนส่งเรือรบจำนวน 70 ลำ รุกล้ำเข้าสู่เขตแดนช่องแคบไต้หวัน ประกอบกับเมื่อวันก่อน จีนก็ยังส่งเรือบรรทุกอากาศยาน 2 ลำ เข้าสู่พื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิกแดนไกลโพ้น ภาคประชาชนชาวไต้หวันรู้สึกเช่นไร ?
ตอบ : เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เรื่องราวเช่นนี้ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของพวกเราไปแล้ว และเป็นเรื่องจริงที่พวกเราถูกบีบให้ยอมรับ แม้ว่าพวกเราจะไม่คาดหวังกับเหตุการณ์เช่นนี้ก็ตาม อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาหลายปีมานี้ ประชาชนชาวไต้หวันต่างคุ้นชินกับสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากพวกเราต้องเผชิญหน้ามาตั้งแต่ปี 2539 หลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งปธน. ครั้งแรกในไต้หวัน
ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงไม่สามารถมองสถานภาพในปัจจุบันว่าเป็นสิ่งที่ได้มาโดยไร้ซึ่งความมุ่งมั่นพยายาม ในทางกลับกัน เราจำเป็นต้องเพิ่มการลงทุนทางกลาโหมในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น ควบคู่ไปกับการยกระดับความยืดหยุ่นของภาคประชาสังคมในภาพรวม เนื่องจากพฤติกรรมการรุกรานจากจีน มิได้จำกัดเพียงเฉพาะการปรากฎตัวของเรือรบเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงการส่งเครื่องบินรบรุกล้ำเข้าสู่เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ซึ่งถือเป็น “การรุกรานด้วยกลยุทธ์พื้นที่สีเทา”
นอกเหนือจากการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยสงครามแล้ว เรายังมุ่งเน้นความสำคัญไปที่แผนปฏิบัติการความยืดหยุ่นด้านการปกป้องภาคประชาสังคม เนื่องจากความมั่นคงของไต้หวัน มิได้จำกัดเพียงเฉพาะด้านกลาโหมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความยืดหยุ่นของภาคประชาสังคม จะเห็นได้ว่า เมื่อช่วงที่ผ่านมา สายเคเบิลใต้ท้องทะเลของพวกเราถูกเรือรบจีนบ่อนทำลาย ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงจำเป็นต้องมุ่งสร้างความยืดหยุ่นทางโทรคมนาคม เพื่อให้พวกเรายังคงสามารถติดต่อแลกเปลี่ยนกับพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกได้ นอกจากนี้ ก็ยังมีความมั่นคงทางไซเบอร์ เนื่องจากไต้หวันเป็นหนึ่งในพื้นที่โลกที่ได้รับการโจมตีทางไซเบอร์รุนแรงที่สุด อีกทั้งพวกเรายังจำเป็นต้องมุ่งรักษาโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณูปโภค อาทิ ความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า พลังงาน การคมนาคมและระบบการเงิน เป็นต้น
ถาม : คุณเคยสร้างปฏิสัมพันธ์กับบริษัทนวัตกรรมเทคโนโลยีทางกลาโหมของสหรัฐฯ อย่าง Saronic , Palantir หรือ Anduril หรือไม่ ?
ตอบ : เคยค่ะ หลายปีก่อนที่ดิฉันดำรงตำแหน่งเป็นผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำสหรัฐฯ ได้มีการแลกเปลี่ยนสร้างปฏิสัมพันธ์กับนิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีกลาโหม และได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนสร้างความเชื่อมโยงในการประชุม “Hill & Valley Forum” นวัตกรรมทางกลาโหมเหล่านี้ นอกจากจะเร่งกระบวนการจัดส่งและปรับปรุงกระบวนการผลิตแล้ว ยังนำมาซึ่งการปฏิรูปครั้งใหญ่ และส่งเสริมให้การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหารของไต้หวัน บรรลุเป้าหมายการจัดจำลองต้นแบบ
ถาม : การจัดตั้งเกาะเทียมของจีนในพื้นที่รายรอบน่านน้ำไต้หวัน คุณสามารถชี้แจงสถานการณ์ของเกาะแห่งนี้ได้หรือไม่ ? ดูเหมือนว่ารัฐบาลจีนกำลังแผ่ขยายอิทธิพลไปสู่เขตแดนภายนอกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ตอบ : เมื่อสิบกว่าปีก่อน รัฐบาลจีนเคยกล่าวอ้างว่าเกาะเทียมเป็นเพียงฐานท่าสำหรับเรือประมงเท่านั้น แต่ในปัจจุบัน พวกเราเล็งเห็นว่า วัตถุประสงค์ของจีนคือการสร้างฐานทัพทหาร ซึ่งประเด็นปัญหานี้คงอยู่ในพื้นที่รายรอบไต้หวัน โดยเฉพาะได้สร้างความวิตกกังวลให้แก่กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างมาก
ถาม : จากการสังเกตการณ์ คุณเล็งเห็นศักยภาพการก่อสงครามใดๆ ในพื้นที่เกาะเทียมนั้น ?
ตอบ : อิทธิพลของกองทัพเรือจีนได้แผ่ขยายไปสู่พื้นที่เลียบชายฝั่งของจีน นอกจากการจัดตั้งเกาะเทียมแล้ว จีนยังได้วางฐานทัพทหารในพื้นที่ตะวันออกกลาง และขยายฐานทัพไปสู่พื้นที่ทั่วโลก อาทิ ทะเลแดง และจิบูติ ก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงเชิงยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะการวางรากฐานทัพทหารในทะเลจีนใต้ และห้ามมิให้ประเทศภายนอกรุกล้ำ จึงจะเห็นได้ว่า การวางฐานทัพทหารของจีน มิได้จำกัดเฉพาะในพื้นที่รายรอบไต้หวัน
ถาม : สงครามจิตวิทยาและข่าวปลอม มีมาตรการเช่นไรในการส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ?
ตอบ : การแพร่กระจายข่าวปลอมมิใช่ประเด็นปัญหาที่ไต้หวันประสบแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นประเด็นระดับโลก ระบอบเผด็จการของจีนอาศัยการปั้นแต่งเรื่องราว และเสริมสร้างกลไกการประชาสัมพันธ์ของภาครัฐบาล โดยหวังที่จะนำเอามุมมองเหล่านี้ แทรกซึมเข้าสู่สังคมไต้หวัน
การประชาสัมพันธ์ต่อโลกภายนอกของจีน มีนัยยะสำคัญ 3 ประการหลัก ได้แก่ (1) ในกรณีความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างไต้วัน - สหรัฐฯ รัฐบาลจีนประกาศก้องว่า สหรัฐฯ พึ่งพาและเชื่อถือไม่ได้ ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ เปราะบางเกินไป พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นว่า การอนุมัติจำหน่ายยุทโธปกรณ์ให้ไต้หวันของสหรัฐฯ มิใช่การช่วยเหลือ แต่เป็นการที่ไต้หวันต้องมาสวมรับบทบาทตัวตายตัวแทน ภายใต้สถานการณ์การปะทะกัน ระหว่างจีน - สหรัฐฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นข้อกล่าวอ้างจากฝ่ายจีน (2) กระตุ้นให้ไต้หวันเกิดความสับสนต่อศักยภาพทางกลาโหม ด้วยการกดขี่ไต้หวัน ควบคู่ไปกับการโอ้อวดศักยภาพทางเทคโนโลยีและกลาโหมของตน (3) โจมตีรัฐบาลชุดปัจจุบัน รัฐบาลจีนปฏิเสธการเปิดเสวนากับรัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งของไต้หวัน ผ่านช่องทางการทูต แต่กลับเลือกที่จะใช้วิธีข้างต้น
เพื่อการรับมือวิกฤตเหล่านี้ ไต้หวันจึงได้จัดตั้งองค์การพลเรือนมากมาย แม้ว่ารัฐบาลจะไม่ใช่หน่วยงานที่เชื่อถือได้มากที่สุด แต่พวกเรายังมีสังคมพลเรือนที่ครอบคลุมสมบูรณ์ และภาคประชาชนที่ร่วมใส่ใจต่อประเด็นดังกล่าว และยินดีแบกรับหน้าที่ความรับผิดชอบ ตลอดจนร่วมเสริมสร้างทักษะการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อการสกัดกั้นข่าวปลอม
ถาม : พวกเขามักจะใช้กลไกใดในการประชาสัมพันธ์และแพร่กระจายข่าวปลอม ? อาทิ การใช้สื่อโซเชียล
ตอบ : จีนอาศัยสภาพแวดล้อมสื่อของไต้หวันที่เปิดกว้างและมีเสรี แพร่กระจายข่าวปลอมผ่านสื่อโซเชียล และเฝ้าจับตาต่อองค์การพลเรือนไต้หวัน พร้อมส่งมอบความช่วยเหลือให้องค์การบางกลุ่มเพื่อเป็นการชักจูง อีกทั้งยังจับมือกับบรรดาเน็ตไอดอลและเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ในการแพร่กระจายข่าวปลอมที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายจีน อย่างไรก็ตาม พวกเราจะยังคงมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อระบอบประชาธิปไตยของภาคประชาชน และค่านิยมที่พวกเราหวงแหนให้คงอยู่ต่อไป
ถาม : ทราบมาว่า จีนได้ระดมกำลัง Youtuber ที่มียอดผู้ติดตามจำนวน 300,000 คนขึ้นไป มาช่วยส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ อยากทราบว่าไต้หวันมีมาตรการรับมือเช่นไร ? โดยเฉพาะหลังจากที่ Mr. Mark Elliot Zuckerberg ประกาศยุติแผนการอนุมัติการตรวจสอบข้อเท็จจริง อยากทราบว่า ไต้หวันมีมาตรการสกัดกั้นข่าวปลอมเช่นใดบ้าง ?
ตอบ : การโจมตีด้วยข่าวปลอมมักจะทวีความรุนแรงขึ้น ในช่วงระหว่างการเลือกตั้ง ก่อนหน้านี้ พวกเราเคยประสานความร่วมมือกับสื่อโซเชียลแนวหน้าของประเทศหลายราย ในการให้การสนับสนุนโปรแกรมตรวจสอบข้อเท็จจริง ควบคู่ไปกับการเรียกร้องให้ข้อมูลโฆษณามีความโปร่งใส โดยเฉพาะข่าวที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม พวกเราจะมุ่งมั่นรับมือกับมาตรการใหม่ๆ ที่จีนใช้ เพื่อต้องการทำลายความสามัคคีของพวกเรา ตลอดจนผนึกกำลังประชาชนให้เกิดความปึกแผ่นในการปกป้องประเทศชาติต่อไป
ถาม : คุณคิดว่า ภาคประชาชนชาวไต้หวันจะสามารถแยกแยะข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวได้หรือไม่ ?
ตอบ : ทุกอย่างยังคงอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นไปตามขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง ดิฉันเชื่อว่า ภาคประชาชนมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับการคงอยู่ของข่าวปลอม และทราบว่าต้องตรวจพิสูจน์ข้อเท็จจริง และเป็นเหตุผลที่ว่า เหตุใดพวกเราจึงมีองค์การนอกภาครัฐเกิดขึ้นมากมาย ที่ยินดีคิดค้นแนวทางการตรวจหาข้อเท็จจริงและช่องทางการพิสูจน์ข้อมูล โดยวิเคราะห์จากมุมมองที่เป็นกลางทางการเมือง
จีนมีหน่วยงานที่ชื่อว่า “Content Farm” ซึ่งมีหน้าที่วิจัย ผลิตและจัดสร้างข้อมูล เพื่อนำมาเผยแพร่สู่สังคมไต้หวัน หลังจากที่พวกเราทำการตรวจสอบรูปแบบและเนื้อหาที่มาข้อมูล และพบว่า มีแหล่งต้นกำเนิดมาจากจีน พวกเราจึงได้ทำการเปิดโปง ซึ่งมีส่วนช่วยในการส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงวิกฤตในภาคสังคมได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
ถาม : ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เคยระบุไว้ว่าจะเข้าโจมตีไต้หวันในปี 2570 คุณคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับแถลงการณ์ดังกล่าว ?
ตอบ : ระยะเวลาข้างต้นนี้มีส่วนเกี่ยวโยงกับเจตนารมณ์และศักยภาพของจีน สำหรับไต้หวันแล้ว สิ่งที่พวกเราทำอยู่ทั้งหมด ก็เพื่อต้องการหลีกเลี่ยงการเกิดความขัดแย้ง ไม่ว่าจะในปี 2570 หรือก่อน หรือหลัง พวกเราก็จำเป็นต้องจัดการกับ “เจตนารมณ์” และ “ศักยภาพความสามารถ” ในแง่ความสามารถ เราจำเป็นต้องมุ่งสร้างแสนยานุภาพทางกลาโหมเพื่อการสกัดกั้น และทำให้ประจักษ์เห็นว่า การรุกรานไต้หวันถือเป็นความสูญเสียครั้งมหาศาล ในแง่ความสามารถในการคานอำนาจ เป็นเป้าหมายที่พวกเรากำลังมุ่งมั่นพิชิตไปสู่ ส่วนในแง่เจตนารมณ์ จีนกล่าวอ้างสิทธิ์เหนืออำนาจอธิปไตยของไต้หวัน ด้วยการอาศัยวิธีการทางการทูต การทหารและเศรษฐกิจในการบรรลุจุดยืนดังกล่าว สิ่งที่พวกเราต้องทำคือ การเพิ่มความซับซ้อนในการประเมินนโยบายของประเทศฝั่งตรงข้าม พร้อมส่งผ่านข้อความที่ว่า “การธำรงสถานภาพในปัจจุบัน สอดคล้องกับผลประโยชน์ร่วมสูงสุดของทุกฝ่าย ซึ่งครอบคลุมแม้กระทั่งต่อจีนด้วย”
ถาม : ศักยภาพการต่อเรือของจีน มีประสิทธิภาพมากกว่าสหรัฐฯ ถึง 250 เท่า ครองสัดส่วนกว่าครึ่งของปริมาณการผลิตในโลก ส่วนสหรัฐฯ ครองสัดส่วนเพียง 0.1% สหรัฐฯ และมิตรประเทศต่างๆ จะสามารถคานอำนาจกับกองทัพเรือจีนที่นับวันยิ่งทรงอานุภาพเช่นไร ?
ตอบ : ตัวเลขนี้สร้างความหวั่นใจให้ประชาคมโลกไม่น้อย ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่า เหตุใดสหรัฐฯ และหลายประเทศทั่วโลกกำลังมุ่งฝ่าฝันอุปสรรคการผลิตสร้าง ควบคู่ไปกับการประสานความร่วมมือกับบรรดาหุ้นส่วนมิตรประเทศ เพื่อรักษาความสมดุลเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งนี้ เพื่อให้สถานภาพเดิมในปัจจุบันยังคงอยู่ต่อไป
เทคโนโลยีของจีนนับวันยิ่งมีพัฒนาการที่ก้าวกระโดด ทั้งในด้านการต่อเรือ หุ่นยนต์โรบอท หรือระบบไร้คนขับที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในยุคสมัยอนาคต ซึ่งพวกเราต่างก็เฝ้าจับตาอย่างตั้งใจ เนื่องจากเทคโนโลยีเหล่านี้ ยังมิได้ถูกนำไปใช้จริงในสงคราม และยังไม่ได้รับการตรวจสอบอย่างครอบคลุม แน่นอนว่า เราไม่ต้องการให้ไต้หวันเป็นฐานสาธิต พวกเราจะมุ่งสกัดกั้นความขัดแย้งอย่างเต็มกำลังต่อไป
ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงมุ่งผลักดันสร้าง “ระบบห่วงโซ่อุปทานที่เป็นอิสระจากการพึ่งพาจีน” (Non – red Supply Chain) โดยมีสาเหตุ 3 ประการหลัก ได้แก่ : (1) พวกเราไม่ควรพึ่งพาชิ้นส่วนอะไหล่จากจีน (2) เมื่อใดที่ระบบห่วงโซ่อุปทานสีแดงตัดขาดลง พวกเราจะสามารถรอดพ้นจากภัยคุกคามนี้ได้ และ (3) พวกเราจำเป็นต้องตระหนักถึงการทดลองทางกลาโหมในพื้นที่ทั่วโลกของประเทศฝั่งตรงข้าม ซึ่งก่อเกิดเป็นความท้าทายที่รุนแรงต่อพวกเรา
ถาม : อะไรที่ทำให้คุณเกิดความมั่นใจต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ว่าจะยื่นมือเข้าช่วยเมื่อเกิดวิกฤต ?
ตอบ : เริ่มแรก พวกเราจำเป็นต้องเชื่อมั่นในตนเองก่อน ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่า เหตุใดเราจึงต้องมุ่งเสริมสร้างศักยภาพการปกป้องประเทศด้วยตนเอง ควบคู่กับการผลักดันการจัดสร้างขึ้นในประเทศ เพื่อให้พวกเรามีทรัพยากรมากพอที่ไว้ใช้ปกป้องตนเอง ประกอบกับตลอดที่ผ่านมา พวกเรามุ่งกระชับความร่วมมือเชิงหุ้นส่วนกับประชาคมโลก อย่างกระตือรือร้น ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ตั้งอยู่บน “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” หลังจากนี้ พวกเราจะมุ่งคว้าเสียงสนับสนุนจากรัฐบาลข้ามพรรคของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ท้ายนี้ เมื่อเผชิญหน้ากับความทะเยอทะยานของจีนในการแผ่ขยายอิทธิพลอำนาจ ไต้หวันแม้จะเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในแนวหน้า แต่พวกเรามิใช่เป้าหมายเดียวที่ได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามจากจีน