
กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 23 มิ.ย. 68
“การประชุมสุดยอดการอุดมศึกษา ระหว่างไต้หวัน - ฝรั่งเศส ประจำปี 2568” และ “การประชุมโต๊ะกลมว่าด้วยการอุดมศึกษา ระหว่างไต้หวัน - เบลเยี่ยม ประจำปี 2568” มีกำหนดการเปิดฉากขึ้น ณ เมืองลีล (Lille) ประเทศฝรั่งเศส และนครบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ในช่วงวันที่ 17 – 19 มิถุนายน 2568 ในโอกาสนี้ นางหลี่อวี้เจวียน อธิบดีกรมประสานงานระหว่างประเทศ และการศึกษาสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน และนายอู๋เจิ้งจี่ ประธานมูลนิธิความร่วมมือนานาชาติด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไต้หวัน (Foundation for International Cooperation in Higher Education of Taiwan, FICHET) ได้นำตัวแทนเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของสถาบันอุดมศึกษา 17 แห่งในไต้หวัน เข้าร่วมการประชุม เพื่อกระตุ้นการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาระหว่างไต้หวัน – ฝรั่งเศส และไต้หวัน - เบลเยี่ยม
“การประชุมสุดยอดการอุดมศึกษา ระหว่างไต้หวัน - ฝรั่งเศส ประจำปี 2568” เป็นการประชุมด้านการศึกษาระดับสูง ที่ร่วมจัดขึ้นระหว่างกระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน และฝรั่งเศส เป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยปีนี้มีกำหนดการจัดขึ้น ณ เมืองลีล ในวันที่ 17 มิ.ย. 68 และได้รับการทาบทามให้จัดขึ้นอีกรอบ ณ สำนักงานย่อยขององค์การ France Universités ที่ตั้งอยู่ในนครบรัสเซลส์ เนื่องในวันยุโรป (Europe Day) โดยตัวแทนเจ้าหน้าที่ฝ่ายฝรั่งเศสที่เข้าร่วม มีจำนวนรวมกว่า 50 คน ประกอบด้วย Ms. Sylvie Retailleau อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาและการวิจัยแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส และ Dr. Yassine Lakhnech อธิการบดีมหาวิทยาลัย Grenoble Alpes University แห่งฝรั่งเศส รวมถึงอธิการบดีและเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายประสานงานระหว่างประเทศของสถาบันอุดมศึกษาในฝรั่งเศส อีก 28 แห่ง เนื่องในวาระพิเศษนี้ นางห่าวเผยจือ ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำฝรั่งเศส จึงได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนกล่าวปราศรัยในพิธีเปิด
การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “บ่มเพาะบุคลากรในวันพรุ่งนี้” โดยมี ดร.เกาเหวยหยวน อธิการบดีมหาวิทยาลัยชิงหัวไต้หวัน (NTHU) Ms. Sylvie Retailleau อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาและการวิจัยแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส และ Dr. Yassine Lakhnech อธิการบดีมหาวิทยาลัย Grenoble Alpes University เข้าร่วมเปิดการอภิปรายโต๊ะกลม ภายใต้หัวข้อ “ความรับผิดชอบที่การอุดมศึกษามีต่อการบ่มเพาะบุคลากรในวันพรุ่งนี้ : การแลกเปลี่ยนมุมมอง ระหว่างไต้หวัน - ฝรั่งเศส” ในลำดับถัดไป ตัวแทนสถาบันอุดมศึกษาของทั้งสองฝ่าย ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนกันในประเด็น 3 มิติหลัก ได้แก่ ความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและวิชาการ ระบบการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากร และการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมในพื้นที่ของนักศึกษาต่างชาติ พร้อมอ้างอิงประสบการณ์จริงของแต่ละสถาบันมาประกอบการชี้แจงเพิ่มเติม
การประชุมในรอบวาระโอกาส “วันยุโรป” นำเสนอให้เห็นถึงมิติความร่วมมือระหว่างไต้หวัน - ฝรั่งเศส ที่ยกระดับไปสู่ “ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – ฝรั่งเศส – ยุโรป” โดยมุ่งเน้นไปที่แนวทางการเชื่อมโยงสร้างปฏิสัมพันธ์ ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่น ระหว่างไต้หวัน - ฝรั่งเศส รวมถึงสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานวิจัยฝรั่งเศสที่มีวิทยาเขตในนครบรัสเซลล์ ผ่านบทบาทของสมาชิกองค์การ France Universités ที่มีจำนวน 117 รายชื่อในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอัดฉีดศักยภาพใหม่ๆ เข้าสู่ความร่วมมือทางวิชาการให้แก่สถาบันอุดมศึกษาของไต้หวัน
นอกจากนี้ “การประชุมโต๊ะกลมว่าด้วยการอุดมศึกษา ระหว่างไต้หวัน - เบลเยี่ยม ประจำปี 2568” ที่มีกำหนดการจัดขึ้น เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2568 มุ่งเน้นการอภิปรายไปที่การสำรวจโอกาสความร่วมมือทางการอุดมศึกษา ระหว่างไต้หวัน – เบลเยี่ยม โดยในระหว่างการประชุม เจ้าหน้าที่ตัวแทนไต้หวันได้ทำการชี้แจงสถานการณ์การวิจัยและการศึกษาระดับสูงของไต้หวัน จากนั้น ได้ทำการแบ่งกลุ่มเพื่ออภิปรายความเป็นไปได้ในการสานสัมพันธ์เพื่อประสานความร่วมมือ การประชุมครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ที่ ศธ.ไต้หวัน – เบลเยี่ยม ประสานความร่วมมือกันจัดขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ตัวแทนฝ่ายเบลเยี่ยมที่เข้าร่วม ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ภาครัฐฝ่ายการศึกษาในเขตชุมชนภาษาฝรั่งเศสของเบลเยี่ยม และตัวแทนสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 14 แห่ง รวม 33 คน ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายไต้หวัน ได้ติดต่อเชิญให้นายหลี่ฉุน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำสหภาพยุโรปและผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำเบลเยี่ยม เข้าร่วมแลกเปลี่ยนในกิจกรรมครั้งนี้ด้วย
หลังเสร็จสิ้นการประชุม คณะตัวแทนได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมมหาวิทยาลัย Katholieke Universiteit Leuven พร้อมร่วมเสวนาพูดคุยกับ Ms. Séverine Vermeire อธิการบดีคนใหม่และเหล่ารองอธิการบดี โดยเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายต่างร่วมหารือกันในทิศทางความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทางวิชาการแบบทวิภาคี จากนั้น คณะตัวแทนไต้หวันยังได้จัดกิจกรรมเพื่อการเฟ้นหาบุคลากรที่มีความสามารถ ภายใต้แคมเปญ “Yushan Project” ควบคู่ไปกับการจัดการแลกเปลี่ยนกับนักศึกษาและนักวิชาการเยาวชนไต้หวัน ตลอดจนเดินทางเข้าเยี่ยมชมศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ IMEC (Interuniversity Microelectronics Centre)
ศธ.ไต้หวัน หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนาความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาว ระหว่างไต้หวันและกลุ่มประเทศทวีปยุโรป เพื่อร่วมบ่มเพาะบุคลากรผู้เชี่ยวชาญระดับสูง อันเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรมในอนาคตต่อไป