
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 23 มิ.ย. 68
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2568 รองประธานาธิบดีเซียวเหม่ยฉิน ได้ให้การต้อนรับ Ms. Mami Mizutori อดีตผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และผู้อำนวยการสำนักงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNDRR) โดยรองปธน. เซียวฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อเหล่าอาคันตุกะที่เดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรมค่ายฝึกอบรมนานาชาติ ภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF) เพื่อร่วมอภิปรายแนวโน้มและประสบการณ์การบรรเทาสาธารณภัยระดับโลก โดยรองปธน. เซียวฯ หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะประสานความร่วมมือกับเหล่าอาคันตุกะและภาคประชาชนชาวญี่ปุ่น ในการมุ่งเสริมสร้างความยืดหยุ่นของทั้งสองประเทศชาติในภาพรวม ให้แข็งแกร่งยิ่งๆ ขึ้นไป
รองปธน.เซียวฯ ระบุว่า Ms. Mizutori มีประสบการณ์การทำงานใน UNDRR มาเป็นระยะเวลานานหลายปี ประกอบกับไต้หวัน – ญี่ปุ่น ต่างตั้งอยู่ในพื้นที่ภูมิภาคที่มักจะเกิดเหตุแผ่นดินไหวอยู่เป็นประจำ จึงจำเป็นจะต้องรับมือกับผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างไม่สามารถเลี่ยงได้ แต่ยังโชคดีที่แม้ว่าภัยพิบัติจะยังคงกระหน่ำเข้าไม่หยุดยั้ง แต่ภาคประชาชนชาวไต้หวัน - ญี่ปุ่น ก็ยังคงเดินหน้ารับมือกันอย่างสามัคคี พร้อมช่วยพยุงให้ร่วมกันผ่านพ้นอุปสรรคไปได้อย่างราบรื่น แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นและมิตรภาพที่แท้จริง โดยในอนาคต รองปธน. เซียวฯ หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะประสานความร่วมมือกับภาคประชาชนชาวไต้หวัน ผ่านความเชี่ยวชาญของ Ms. Mizutori เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นในภาพรวมของทั้งสองประเทศชาติ
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2568 นายหลินเจียหรง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน ก็ได้ให้การต้อนรับ Ms. Mizutori เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนกันในประเด็นการบรรเทาสาธารณภัยระดับโลก รวมถึงความร่วมมือแบบทวิภาคีและพหุภาคี ระหว่างไต้หวัน - ญี่ปุ่น เป็นต้น
เริ่มต้น รมว.หลินฯ ได้ให้การต้อนรับต่อการเดินทางมาเยือนเข้าร่วมกิจกรรม ภายใต้กรอบ GCTF ของ Ms. Mizutori โดยในโอกาสนี้ Ms. Mizutori ยังได้เข้าร่วมแสดงปาฐกถาในหัวข้อความร่วมมือด้านการบรรเทาสาธารณภัยระดับโลก รมว.หลินฯ กล่าวว่า ไต้หวัน - ญี่ปุ่น ต่างร่วมรับมือกับภัยธรรมชาติและสถานการณ์โรคระบาด แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีและความยืดหยุ่นที่แข็งแกร่งระหว่างกัน ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – ญี่ปุ่นได้กลายมาเป็นต้นแบบที่สำคัญของประชาคมโลก นอกจากนี้ รมว.หลินฯ ยังได้แถลงว่า ความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ สถานการณ์โรคระบาด และวิกฤตด้านพลังงาน ถือเป็นประเด็นที่ทั่วโลกเฝ้าจับตาให้ความสำคัญ ด้วยเหตุนี้ ไต้หวันนอกจากจะมุ่งเสริมสร้าง “ความยืดหยุ่นด้านการปกป้องภาคประชาสังคม” ด้วยการยกระดับศักยภาพการบรรเทาสาธารณภัยของไต้หวันในภาพรวมแล้ว ยังจะขยายพื้นที่การเข้าร่วมบนเวทีนานาชาติ เพื่ออุทิศคุณประโยชน์ในการสวมบทบาทการเป็นพลังแห่งความดีของโลกใบนี้ต่อไป รมว.หลินฯ หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นทั้งสองฝ่ายมุ่งสร้างการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านการป้องกันภัย ควบคู่ไปกับการขยายทิศทางความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในมิติต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
Ms. Mizutori กล่าวว่า การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติไร้ซึ่งการแบ่งแยกพรมแดน และถือเป็นความท้าทายร่วมกันของประชาคมโลก จึงหวังที่จะเห็นไต้หวัน สหรัฐฯ และญี่ปุ่นและประเทศสมาชิกหุ้นส่วน GCTF มุ่งเสริมสร้างรากฐานความร่วมมือด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผ่านแพลตฟอร์ม GCTF ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันจัดตั้งกลไกการรับมือกับภัยพิบัติ ควบคู่ไปกับการยกระดับความยืดหยุ่นด้านการป้องกันภัย ให้แก่กลุ่มประเทศในซีกโลกใต้ เพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์แก่กัน นอกจากนี้ Ms. Mizutori ยังได้ระบุว่า “ความยืดหยุ่นในการปกป้องภาคประชาสังคม” และ “กรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Sendai Framework for Disaster Risk Reduction)” ที่มุ่งมั่นผลักดันโดย UNDRR มาเป็นระยะเวลานาน มีแนวคิดที่คล้ายคลึงและสอดคล้องกันหลายประการ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นไต้หวันมุ่งดำเนินการภารกิจการป้องกันภัย ตลอดจนร่วมแบ่งปันประสบการณ์ให้แก่ประชาคมโลกอย่างต่อเนื่องสืบไป