ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
กลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ มุ่งเน้นการรายงานข่าวเกี่ยวกับไต้หวันไปที่บทบาทผู้นำด้านเซมิคอนดักเตอร์และความทรหดทางประชาธิปไตยของไต้หวัน
2025-07-04
New Southbound Policy。กลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ มุ่งเน้นการรายงานข่าวเกี่ยวกับไต้หวันไปที่บทบาทผู้นำด้านเซมิคอนดักเตอร์และความทรหดทางประชาธิปไตยของไต้หวัน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
กลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ มุ่งเน้นการรายงานข่าวเกี่ยวกับไต้หวันไปที่บทบาทผู้นำด้านเซมิคอนดักเตอร์และความทรหดทางประชาธิปไตยของไต้หวัน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 3 ก.ค. 68
 
กระทรวงการต่างประเทศไต้หวันได้ติดต่อเชิญ “คณะตัวแทนผู้สื่อข่าวด้านการเมืองและเศรษฐกิจ จากกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส” เดินทางมาเยือนไต้หวัน เมื่อช่วงระหว่างวันที่ 8 – 14 มิถุนายน 2568 โดยกลุ่มผู้สื่อข่าวจากสาธารณรัฐเฮติ สาธารณรัฐโกตดิวัวร์ ฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ ได้เดินทางมารวมตัวกันที่ไต้หวัน เพื่อเข้าเยี่ยมเยือนหน่วยงานรัฐบาล ภาคธุรกิจเอกชน และสถาบันวัฒนธรรม พร้อมทั้งร่วมเสวนาพูดคุยกับนายอู๋จื้อจง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และออเดรย์ ถัง เอกอัครราชทูตผู้แทนพิเศษที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อทรงอิทธิพลในพื้นที่ อาทิ หนังสือพิมพ์ La Tribune และวารสารรายสัปดาห์ L'Express ของฝรั่งเศส รวมถึงหนังสือพิมพ์ Le Nouvelliste ของเฮติ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการยกระดับการมองเห็น และการเสริมสร้างความเข้าใจที่มีต่อไต้หวัน ในกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ
 
ในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ รายงานในนสพ. La Tribune ระบุถึง การเน้นย้ำของรมช.อู๋ฯ ที่ว่า ในปี 2567 สัดส่วนของแผ่นชิปขั้นสูงที่ผลิตในไต้หวัน เพิ่มขึ้นจาก 93% เป็น 95% บ่งชี้ให้เห็นถึงสถานภาพผู้นำทางอุตสาหกรรมของไต้หวันที่ยังคงดำเนินไปอย่างมีเสถียรภาพต่อเนื่อง นอกจากนี้ รมช.อู๋ฯ ยังได้ระบุเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ไต้หวันและผู้ประกอบการธุรกิจแนวหน้าในกลุ่มประเทศทวีปยุโรป อาทิ “ASML” ของเนเธอร์แลนด์ “Air Liquide” ของฝรั่งเศส และ “BASF” ของเยอรมนี กำลังมุ่งเสริมสร้างทิศทางความร่วมมือกันในเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง เมื่อมองย้อนกลับมาสู่จีน ซึ่งขณะนี้ กำลังประสบกับปัญหาข้อจำกัดการส่งออกสินค้าสู่สหรัฐฯ และอุปสรรคความท้าทายทางเทคโนโลยีที่กำลังเผชิญหน้า คาดว่า ยากที่จะสามารถก้าวตามทันมาตรฐานของภาคอุตสาหกรรมในไต้หวันได้ ภายในระยะเวลาอันสั้น
 
ในแง่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน นสพ. La Tribune ได้อ้างอิงคำชี้แจงของรมช.อู๋ฯ ที่แถลงไว้ว่า สัดส่วนการลงทุนในจีนของผู้ประกอบการไต้หวันได้ลดลงจากร้อยละ 84 ในปี 2557 มาสู่ร้อยละ 7 ในปี 2567 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ไต้หวันกำลังมุ่งผลักดันการวางรากฐานทางเศรษฐกิจในมิติที่หลากหลายอย่างกระตือรือร้น ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการค้ากับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยุโรป และภูมิภาคเอเชียใต้อย่างมุ่งมั่น รมช.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า แม้ว่าการไปมาหาสู่ทางเศรษฐกิจและการค้าแบบทวิภาคีของสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน จะยังคงมีให้เห็นอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน และแหล่งที่มาของวัสดุตั้งต้นที่สำคัญ พวกเราได้แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นและการวางกลยุทธ์ที่เตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายในภายภาคหน้าแล้ว
 
สำหรับประเด็นที่คนส่วนใหญ่ตั้งข้อสงสัยว่า หากบริษัท TSMC ของไต้หวันเข้าจัดตั้งฐานประกอบการในสหรัฐฯ แล้ว จะเป็นการลดทอนศักยภาพ “เกราะป้องกันซิลิคอน” (Silicon Shield) หรือไม่?
 
L'Express เผยถึงคำชี้แจงของรมช.อู๋ฯ ที่ระบุไว้ว่า เซมิคอนดักเตอร์ถือเป็นข้อได้เปรียบที่มีความโดดเด่นทางการทูตของไต้หวัน ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือที่เอื้อประโยชน์แก่กันกับประชาคมโลกได้ ฐานประกอบการที่จัดตั้งขึ้นในสหรัฐฯ เป็นการผลิตชิป 4 นาโนเมตรเป็นหลัก แต่ ณ ขณะนี้ ไต้หวันได้ก้าวเข้าสู่ยุคสมัยเทคโนโลยีชิป 2 นาโนเมตรแล้ว สะท้อนให้เห็นว่า ข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีของไต้หวัน ยังคงครองบทบาทผู้นำโลกอย่างต่อเนื่อง ประเด็นที่สมควรเป็นกังวลคือ ความเสี่ยงที่จีนกระทำการรุกรานต่อไต้หวัน มิใช่การวางรากฐานการลงทุนในต่างประเทศของผู้ประกอบการไต้หวัน
 
ต่อกรณีแนวคิดนโยบาย “สหรัฐฯ ต้องมาก่อน” (America First) จะก่อให้เกิดข้อกังขาที่เกี่ยวกับคำมั่นด้านความมั่นคงที่ไต้หวันมีต่อสหรัฐฯ หรือไม่?
 
L'Express เผยว่า เมื่อระยะที่ผ่านมา Mr. Pete Hegseth รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้ประกาศแสดงจุดยืนเกี่ยวกับภัยคุกคามที่จีนกระทำต่อไต้หวันว่า “เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรับมืออย่างกระตือรือร้น” รมช.อู๋ฯ ได้กล่าวตอบรับว่า หากเกิดวิกฤตความขัดแย้งขึ้นในช่องแคบไต้หวัน จีนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลกระทบที่ตามมาอย่างไม่รู้จบ
 
นสพ. Le Nouvelliste มุ่งเน้นการรายงานไปที่ค่านิยมทางประชาธิปไตยของไต้หวัน โดยได้อ้างอิงคำกล่าวของรมช.อู๋ฯ ที่ว่า พฤติกรรมใดๆ ที่เป็นการเขย่าความสั่นคลอนของระบอบประชาธิปไตยของไต้หวัน ก็ล้วนแต่จะส่งผลกระทบให้เกิดความผันผวนในพื้นที่ภูมิภาคได้เช่นกัน และอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อกลไกการค้าโลกอีกด้วย
 
นอกจากนี้ คณะตัวแทนยังมีโอกาสเข้าพบปะพูดคุยกับออเดรย์ ถัง นสพ. La Tribune รายงานว่า ออเดรย์ ถัง ได้ชี้แจงแนวทางการเสริมสร้างศักยภาพการรับมือกับสงครามไซเบอร์ โดยได้มีการระบุว่า ขณะนี้ ไต้หวันได้มีมติผ่านญัตติกฎหมายว่าด้วยการกำหนดให้ข้อความที่เกี่ยวข้องทางการเมืองและการโฆษณา มีการลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ซึ่งประสบความสำเร็จในการส่งผลให้ปริมาณข่าวโฆษณาลวงบนแพลตฟอร์มสื่อโซเชียล มีสัดส่วนลดลงกว่าร้อยละ 90 บ่งชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพเบื้องต้นของนโยบาย โดยออเดรย์ ถัง ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่ ปี 2562 เป็นต้นมา หลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อได้ถูกกำหนดเข้าสู่สถาบันการศึกษาทุกระดับชั้นแล้ว เพื่อช่วยให้รุ่นเยาวชน มีศักยภาพการรู้เท่าทันสื่อ และสามารถวิเคราะห์แยกแยะได้ว่า เป็นข่าวปลอมหรือภัยคุกคามทางไซเบอร์ดิจิทัลที่จงใจก่อให้เกิด
 
การเดินทางมาเยือนของคณะผู้สื่อข่าวในครั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมความเข้าใจต่อสถานการณ์การพัฒนาทางการเมืองและเศรษฐกิจล่าสุดในไต้หวัน ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้กลุ่มประเทศเป้าหมายเกิดความเข้าใจต่อไต้หวันได้อย่างครอบคลุมลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น โดยหลังจากนี้ กต.ไต้หวันจะมุ่งเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือกับสื่อนานาชาติในเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง เพื่อเรียกร้องให้ประชาคมโลกส่งมอบการสนับสนุนนและให้การยอมรับต่อไต้หวัน ในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนประชาธิปไตยที่มีความรับผิดชอบ  

ข่าวยอดนิยม