
กระทรวงยุติธรรม วันที่ 15 ก.ค. 68
ปีนี้ประจวบกับเป็นวาระครบรอบ 80 ปีแห่งการก่อตั้งสมาคม Taiwan After-Care Association ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อการฟื้นฟูพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังให้กลับตนเป็นพลเมืองดี เพื่อส่งเสริมและพัฒนามาตรการที่เกี่ยวข้อง ควบคู่ไปกับการรณรงค์ต่อต้านปัญหายาเสพติด ทางสมาคมฯ จึงได้มีกำหนดการจัดการประชุมสัมนาเชิงวิชาการนานาชาติ ประจำปี 2568 ภายใต้หัวข้อ “สัมผัสความอบอุ่น ฟื้นฟูด้วยความรัก” (2025 Feel Warmth, Rehabilitate with Love International Academic Seminar) โดยได้ติดต่อเชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เข้าร่วมบรรยายในหัวข้อพิเศษเกี่ยวกับมาตรการคุ้มครองผู้พ้นโทษในญี่ปุ่น และภารกิจเพื่อการป้องกันและปราบปรามปัญหายาเสพติดในสหรัฐฯ
นายเจิ้งหมิงเชียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมไต้หวัน แถลงว่า เพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางสังคมที่ครอบคลุม นอกจากจะมุ่งเน้นการป้องกันการก่ออาชญากรรมแล้ว ยังต้องช่วยให้ผู้ต้องขังสามารถกลับคืนสู่สังคมได้หลังพ้นโทษ ด้วยเหตุนี้ ตลอดระยะเวลาหลายปีมานี้ สภาบริหารไต้หวันจึงได้มุ่งผลักดัน “แผนปฏิบัติการเชิงกลยุทธ์ว่าด้วยการต่อต้านยาเสพติดในยุคสมัยใหม่” และ “เครือข่ายความมั่นคงทางสังคม” ด้วยการอัดฉีดงบประมาณและทรัพยากรจำนวนมาก ในการช่วยส่งเสริมให้ผู้พ้นโทษกลับคืนสู่สังคมได้อย่างราบรื่น ทั้งในการปรับตัวในวิถีชีวิตประจำวัน การกลับเข้าสู่ชุมชน และการเสริมสร้างทักษะความเชี่ยวชาญเพื่อหาเลี้ยงชีพตนเอง
การประชุมในครั้งนี้ประกอบด้วยการเปิดอภิปรายหัวข้อหลักต่างๆ ดังต่อไปนี้ : “กรอบโครงสร้างการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ต้องขังหลังพ้นโทษในญี่ปุ่น” “การจัดตั้งกรอบความร่วมมือเพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำอย่างมีประสิทธิภาพ” “การพัฒนากลไกการคุ้มครองในรูปแบบเชื่อมโยง ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน” “การก่อตั้งหน่วยงานอาสาสมัคร รวมถึงการจัดตั้งระบบบริหารและการประยุกต์ใช้” และ “การกำหนดเกณฑ์การประเมินการให้บริการ และช่องทางการติดต่อประสานงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะซึมซับประสบการณ์จากแนวทางการปฏิบัติจริงในญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เพื่อใช้เป็นหลักอ้างอิงให้แก่รัฐบาลไต้หวัน ในการวางแผนผลักดันมาตรการคุ้มครองกลุ่มเป้าหมาย และคิดค้นแนวทางการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด ที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ หน่วยงานเจ้าภาพยังได้จัดตั้ง “นิทรรศการผลงานศิลปะของกลุ่มผู้ต้องขัง” และ “ตลาดนัดจำหน่ายสินค้างานฝีมือของกลุ่มผู้ต้องขัง” ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้มิตรสหายชาวต่างชาติและผู้เข้าร่วมการประชุม ตระหนักเห็นถึงความมุ่งมั่นในการกลับคืนสู่สังคมของกลุ่มเป้าหมายอย่างกระตือรือร้น