ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
“การประชุมเสวนาด้านสิทธิมนุษยชนแบบข้ามเจเนอเรชั่นในภูมิภาคเอเชีย ประจำปี 2568” ปิดฉากลงอย่างราบรื่น
2025-07-17
New Southbound Policy。“การประชุมเสวนาด้านสิทธิมนุษยชนแบบข้ามเจเนอเรชั่นในภูมิภาคเอเชีย ประจำปี 2568” ปิดฉากลงอย่างราบรื่น (ภาพจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน)
“การประชุมเสวนาด้านสิทธิมนุษยชนแบบข้ามเจเนอเรชั่นในภูมิภาคเอเชีย ประจำปี 2568” ปิดฉากลงอย่างราบรื่น (ภาพจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน)

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน วันที่ 16 ก.ค. 68
 
เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 คณะกรรมการกิจการสิทธิมนุษยชนไต้หวัน (National Human Rights Commission, NHRC) และมูลนิธิเพื่อการแลกเปลี่ยนไต้หวัน-เอเชีย (Taiwan-Asia Exchange Foundation, TAEF) ร่วมจัด “การประชุมเสวนาด้านสิทธิมนุษยชนแบบข้ามเจเนอเรชั่นในภูมิภาคเอเชีย ประจำปี 2568” (Human Rights in Asia : Multigenerational Dialogue) โดยภายในงานได้รวบรวมตัวแทนคลังสมองจากทั้งในและต่างประเทศ องค์การสังคมพลเมืองและตัวแทนสื่อมวลชน นับร้อยเข้าร่วม เพื่อเปิดอภิปรายกันในประเด็นความท้าทายและแนวทางการบรรลุหลักการตามสิทธิมนุษยชน ภายใต้สถานการณ์โลกที่มีความผันผวนไม่แน่นอนในปัจจุบัน ร่วมกับผู้นำเยาวชนยอดเยี่ยม จำนวน 45 คนจาก 16 ประเทศ ที่เข้าร่วมในกิจกรรม “ค่ายผู้นำเยาวชนในเอเชีย”  (Southeast Asia-South Asia-Taiwan Youth Camp) ส่งผลให้บรรยากาศการแลกเปลี่ยน ดำเนินไปอย่างคึกคัก
 
การประชุมในครั้งนี้ มุ่งเน้นไปที่ความยืดหยุ่นในภาคประชาสังคม แผนปฏิบัติการของกลุ่มเยาวชน การเชื่อมโยงประสานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและบทบาทของไต้หวัน โดยมีนางหวังโย่วหลิง รองประธาน NHRC ทำหน้าที่เป็นประธาน โดยมี Mr. Marcin Jerzewski ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายด้านความมั่นคงตามค่านิยมในภูมิภาคยุโรป (European Values Center for Security Policy, EVC) เข้าร่วมแสดงปาฐกถาในหัวข้อพิเศษ โดยได้ทำการวิเคราะห์สถานการณ์ความถดถอยของระบอบประชาธิปไตยในหลายประเทศทั่วโลก และสถานการณ์การพัฒนาสังคมพลเมือง
 
รองปธ.หวังฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างผู้นำเยาวชนและสังคมพลเมือง ถือเป็นแนวทางที่มั่นคงในการเสริมสร้างค่านิยมด้านสิทธิมนุษยชน และเป็นการขยายขอบเขตทางการทูตด้านสิทธิมนุษยชนของไต้หวัน เนื่องจากไต้หวันเคยก้าวผ่านยุคสมัยแห่งกฎอัยการศึกที่ดำเนินอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 38 ปี จึงตระหนักดีว่า เสรีภาพนั้นมีค่ามากเพียงใด พวกเราจึงมีความพร้อมและยินดีที่จะให้การสนับสนุนแก่เจ้าหน้าที่แนวหน้าที่มุ่งปฏิบัติภารกิจสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มกำลัง ด้วยประสบการณ์ในกระบวนการทางประชาธิปไตยของไต้หวัน ถือเป็นสินทรัพย์อันล้ำค่าที่สามารถสร้างคุณูปการให้แก่ประชาคมโลกได้
 
นายไล่โย่วหาว นักวิจัยสถาบันวิจัยประชาธิปไตย สังคม และเทคโนโลยีเกิดใหม่ (Research Institute for Democracy, Society and Emerging Technology) ได้เฝ้าจับตาต่อความขัดแย้งทางสังคมภายในประเทศของไต้หวัน และผลกระทบต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามแนวทางรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งระบุถึงภัยคุกคามต่อระบอบประชาธิปไตย ที่เกิดจากการแทรกซึมโดยประเทศภายนอก รวมไปถึงจุดสมดุลกึ่งกลาง ระหว่างความมั่นคงแห่งชาติและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
 
นายหลูเย่จ้ง รองประธานคณะกรรมการบริหาร TAEF ได้เฝ้าจับตาต่อสถานการณ์ล่าสุดในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างจีน – สหรัฐฯ ผ่านมุมมองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยได้ข้อสรุปว่า ขณะนี้ประเทศในภูมิภาคกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายที่สังคมพลเมืองถูกจำกัดการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ประกอบการสถานการณ์ความขัดแย้ง นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาด้านสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคอีกด้วย
 
นางชิวอีหลิง เลขาธิการองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ประจำไต้หวัน แถลงว่า ร่างกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่สำคัญหลายฉบับ เป็นเรื่องยากที่จะผลักดันให้มีการลงมติเห็นชอบในรัฐสภาชุดปัจจุบัน ประกอบกับการตัดงบประมาณของสหรัฐฯ ส่งผลให้พลังของกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอ่อนกำลังลง อย่างไรก็ตาม เยาวชนในพื้นที่ภูมิภาคต่างยังคงมุ่งมั่นธำรงปกป้องสิทธิมนุษยชน ผ่านแผนปฏิบัติการระดับรากหญ้าอย่างกระตือรือร้นไม่เสื่อมคลาย
 
ผู้ที่เข้าร่วมค่ายกิจกรรมในครั้งนี้ ต่างแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่ตนมุ่งให้ความสนใจ อาทิ แนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนต่างรุ่น จุดสมดุลระหว่างเสรีภาพทางความคิดเห็นและความมั่นคงแห่งชาติ รวมไปถึงการควบคุมอินเทอร์เน็ตและการปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัว โดยผู้เข้าร่วมบรรยายได้ชี้แจงต่อประเด็นข้างต้นว่า เราสามารถริเริ่มเปิดการเสวนาของคนต่างรุ่นภายรอบตัวเรา ควบคู่ไปกับการสร้างบทสนทนา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน
 
สำหรับการกำหนดขอบเขตเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและความมั่นคงแห่งชาติ ผู้เข้าร่วมบรรยายเน้นย้ำเกี่ยวกับความแตกต่างของสถานการณ์ในภาพรวมของนานาประเทศ อย่างไรก็ตาม การอภิปรายยังคงต้องมุ่งสู่กระแสในทิศทางเดียวกัน จึงขอชี้แนะให้นานาประเทศร่วมกำหนดกฎระเบียบที่ชัดเจน
 
สำหรับประเด็นการควบคุมอินเทอร์เน็ตและการปกป้องสิทธิความเป็นส่วนตัวที่เกิดจากการเข้าใช้บริการแพลตฟอร์มทางอินเทอร์เน็ต จำเป็นต้องมีการคิดค้นพิจารณามาตรการความมั่นคงที่กระตือรือร้น นอกเหนือจาก “การแจ้งให้ผู้ใช้งานรับทราบ” ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน หลีกเลี่ยงมิให้ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดี
 
NHRC แถลงว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่ประชาธิปไตยโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายที่เกิดจากการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ การจัดตั้งแพลตฟอร์มเหล่านี้ จะมีส่วนช่วยในการส่งเสริมให้ไต้หวัน ก้าวสู่ศูนย์กลางในการส่งเสริมการเสวนาระหว่างภาคสังคมพลเมืองในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก ควบคู่ไปกับการสวมบทบาทสำคัญในการสนับสนุนแผนผลักดันประชาธิปไตย ตลอดจนเป็นผู้ผดุงสันติภาพในภูมิภาค ให้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน