New Southbound Policy Portal

ไต้หวันจับมืออินเดียจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษา กระชับความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนร่วมสร้างความรุ่งเรือง

ไต้หวันจับมืออินเดียจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษา กระชับความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนร่วมสร้างความรุ่งเรือง

 

คณะกรรมการพัฒนาแห่งชาติ สมาคมอินเดีย-ไทเป (India Taipei Association) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีไทเป (Taipei Tech) ร่วมเป็นเจ้าภาพจัด “การประชุมสัมมนาว่าด้วยการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษาไต้หวัน-อินเดีย” เมื่อวันที่ 26 กันยายน ซึ่งได้เชิญกลุ่มธุรกิจไต้หวันที่ไปลงทุนในประเทศอินเดียมาแบ่งปันประสบการณ์การรับสมัครพนักงาน โดยหวังว่านักศึกษาอินเดียในไต้หวันจะรู้สึกใกล้ชิดกับผืนแผ่นดินนี้ รวมถึงเข้าใจแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจและนโยบายการเปิดรับบุคลากรต่างชาติของรัฐบาลไต้หวันและยินดีที่จะทำงานอยู่ในไต้หวันหลังสำเร็จการศึกษา

 

นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลไต้หวันร่วมมือกับสมาคมอินเดีย-ไทเปจัดการประชุมสัมมนาว่าด้วยการแลกเปลี่ยนบุคลากร ซึ่งมีนักศึกษาอินเดียที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในไต้หวัน 8แห่งอาทิ มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University) มหาวิทยาลัยครุศาสตร์(National Taiwan Normal University) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีไทเป (National Taipei University of Technology :Taipei Tech) มหาวิทยาลัยหยางหมิง (National Yang-Ming University) มหาวิทยาลัยฝู่เหริน (Fu Jen Catholic University) มหาวิทยาลัยต้านเจียง(Tamkang University) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีหมิงจื้อ (Ming Chi University of Technology) จำนวนกว่า 40 คนเข้าร่วมการประชุมสัมมนา

 

นางเฉินเหม่ยหลิง ประธานคณะกรรมการพัฒนาแห่งชาติกล่าวขณะปราศรัยในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาว่า การกระชับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างไต้หวันกับอินเดียอย่างต่อเนื่องเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะในปัจจุบันรัฐบาลกำลังผลักดัน “นโยบายมุ่งใต้ใหม่”และอินเดียถือเป็นประเทศเป้าหมายสำคัญในภูมิภาคเอเชียใต้ ไต้หวันกับอินเดียได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกัน 5 ฉบับ ประกอบด้วยด้านการเกษตร การรถไฟ เทคโนโลยีและด้านศุลกากร เป็นต้น โดยล่าสุด ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างกันเมื่อเดือนธ.ค.ปีค.ศ. 2017 แสดงให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายต้องการเพิ่มความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างกันในเชิงลึก นอกจากนี้ไต้หวันยังอ้าแขนเปิดรับบุคลากรจากทั่วโลก โดยรัฐบาลได้บัญญัติ “กฎหมายว่าด้วยการเปิดรับสมัครและว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ” และกำลังร่างกฎหมายคนเข้าเมืองฉบับใหม่ โดยหวังว่าจะสร้างสภาพแวดล้อมการลงทุนและการทำงานที่ดี เป็นมิตรและเชื่อมต่อกับนานาชาติมากกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้สามารถดึงดูดบุคลากรต่างชาติเข้ามาทำงานในไต้หวัน

 

ประธานคณะกรรมการพัฒนาแห่งชาติกล่าวว่า ไต้หวันมีมาตรฐานการแพทย์ที่เป็นเลิศ ได้รับการยอมรับจากเจ้าหน้าที่ต่างประเทศและกลุ่มธุรกิจข้ามชาติที่ถูกส่งมาประจำในไต้หวัน สังคมมีความปลอดภัยและการจราจรสะดวกสบาย หวังว่านักศึกษาที่เข้าร่วมการประชุมสัมมนาในวันนี้จะอาศัยช่วงเวลาที่มาศึกษาอยู่ในไต้หวัน เรียนรู้วัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนภาษา ระเบียบกฎหมายและสภาพแวดล้อมด้านเศรษฐกิจการค้าของไต้หวันให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อพัฒนาตนเองให้กลายเป็นผู้ผลักดันความร่วมมือระหว่างไต้หวันกับอินเดียในอนาคต

 

ด้าน Sridharan Madhusudhanan นายกสมาคมอินเดีย-ไทเปขานรับคำพูดของประธานคณะกรรมการพัฒนาแห่งชาติขณะปราศรัยว่า ไต้หวันกำลังเร่งผลักดัน “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” อินเดียเป็นประเทศเป้าหมายสำคัญ ไต้หวันกับอินเดียมีการแลกเปลี่ยนและร่วมมือกันหลายด้านอาทิ การเกษตร ศุลกากร เทคโนโลยี วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยการแลกเปลี่ยนด้านการค้า การลงทุน ภาควิชาการและบุคลากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หวังว่าผลสัมฤทธิ์จากความร่วมมือกันในลักษณะเช่นนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

 

ด้าน หวังสีฝู อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีไทเป (Taipei Tech) หนึ่งในเจ้าภาพจัดการประชุมสัมมนาครั้งนี้กล่าวขณะปราศรัยว่า ชื่อเสียงและความสำเร็จด้านวิชาการที่เป็นเลิศของ Taipei Tech ซึ่งสั่งสมมาเป็นเวลายาวนาน คือสิ่งสำคัญที่สามารถดึงดูดนักศึกษาระดับหัวกะทิจากต่างชาติให้เดินทางมาศึกษาต่อในไต้หวัน ทางมหาวิทยาลัยได้ขานรับ ”นโยบายมุ่งใต้ใหม่”ของรัฐบาล โดยหลังจากมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีในประเทศไทยแล้ว ขณะนี้กำลังวางแผนขยายไปยังประเทศอินเดียโดยอาศัยทุนการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ มาช่วยสนับสนุนให้นักศึกษาอินเดียเดินทางศึกษาต่อในไต้หวัน