New Southbound Policy Portal
พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติไต้หวัน มีกำหนดลงนาม MOU กับ Stasi Record Agency ของเยอรมนี ในเดือนต.ค. นี้ (ภาพจากMOC)
สำนักข่าว CNA วันที่ 12 มิ.ย. 62
ในปีนี้พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้มีการแลกเปลี่ยนกับนานาชาติบ่อยครั้ง นายเฉินจวิ้นหง ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ฯ กล่าวว่า ในเดือนก.ย.ที่จะถึงนี้ พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติไต้หวัน จะได้รับการยกระดับเป็น “สหพันธ์พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนนานาชาติ สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชีย- แปซิฟิก” และในเดือนต.ค. ปีนี้ มีกำหนดการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ Stasi Record Agency กระทรวงความมั่นคงแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และคาดว่าจะร่วมกันจัดการประชุมวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ระหว่างไต้หวัน – เยอรมนีขึ้น ภายหลังการลงนามอีกด้วย
พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติไต้หวัน ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2018 โดยในเดือนก.ย.ปีนี้ พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติไต้หวัน จะได้รับการยกระดับเป็น “สหพันธ์พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนนานาชาติ สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก” (ICOM – Federation of International Human Rights Museums, FIHRM) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ FIHRM จะจัดตั้งสำนักงานสาขาขึ้นที่ภูมิภาคเอเชีย
พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติไต้หวัน เป็นพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนระดับชาติแห่งแรกของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจัดตั้งขึ้น ณ สถานที่ที่เคยเกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนและไร้ซึ่งความยุติธรรม ในยุคที่ไต้หวันถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรื้อฟื้นประวัติศาสตร์การถูกลิดรอนและละเมิดสิทธิมนุษยชน อีกทั้งเพื่อให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับคนรุ่นหลัง
นายเฉินจวิ้นหงกล่าวว่า สำนักงานใหญ่ของ FIHRM ตั้งอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งปัจจุบัน FIHRMมีสำนักงานสาขาเพียง 2 แห่งทั่วโลก แห่งหนึ่งตั้งอยู่ที่ลาตินอเมริกา ส่วนอีกแห่งตั้งอยู่ที่ไต้หวัน นายเฉินจวิ้นหงยังได้ระบุเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่เลือกจัดตั้งสำนักงานสาขาขึ้นที่ไต้หวัน เนื่องจากพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องถูกก่อตั้งขึ้นในนามประเทศ ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย มักจะก่อตั้งขึ้นในรูปแบบอนุสรณ์สถาน เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์ด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแต่ละประเทศ
นายเฉินจวิ้นหงแสดงความคิดเห็นว่า จากมุมมองของนโยบายมุ่งใต้ใหม่ จะเห็นว่า “สิทธิมนุษยชนเป็นคุณค่าที่สำคัญของนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ขณะเดียวกันสิทธิมนุษยชนก็ยังเป็นหนทางที่ทำให้ไต้หวันก้าวไปสู่เวทีสากลได้อย่างที่ตั้งใจไว้”
นายเฉินจวิ้นหงคาดหวังให้พิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติไต้หวัน ทำหน้าที่เป็นเวทีเชื่อมโยงสิทธิมนุษยชนของประชาชนในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งนอกจากเป็นการเปิดโอกาสในการเรียนรู้กับนานาชาติแล้ว ยังช่วยให้ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางแห่งสิทธิมนุษยชน (human rights hub) ได้อีกด้วย
นายเฉินจวิ้นหงกล่าวอีกว่า หลังจากที่ยกระดับเป็น FIHRM สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกแล้ว ทางพิพิธภัณฑ์ฯ ได้คาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2020 จะจัดการประชุมในหัวข้อ “วรรณกรรมด้านมืด” โดยจะเชิญชวนนักประพันธ์จากทั่วภูมิภาคเอเชีย ที่มีผลงานด้านวรรณกรรม ภายใต้บริบท White Terror หรือการปกครองด้วยอำนาจเผด็จการ เดินทางมาเยือนไต้หวัน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมกันตีแผ่ประวัติศาสตร์ที่ไร้ความยุติธรรมในภูมิภาคเอเชีย ให้โลกได้รับรู้
ท้ายสุดนายเฉินจวิ้นหงชี้ว่า ในเดือนต.ค. ปีนี้ ไต้หวันมีกำหนดการร่วมลงนาม MOU กับ Stasi Record Agency กระทรวงความมั่นคงแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และคาดว่าจะร่วมกันจัดการประชุมวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ระหว่างไต้หวัน – เยอรมนีขึ้น เพื่อกระตุ้นการแลกเปลี่ยนระดับทวิภาคี