New Southbound Policy Portal
การประชุมวิชาการระหว่างสถาบันอุดมศึกษา ไทย-ไต้หวัน ครั้งที่ 7 มุ่งเน้นเสริมสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและการวิจัยนวัตกรรม
กรมการศึกษาระหว่างประเทศและสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ก.ศึกษาธิการสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) วันที่ 5 ส.ค. 2562
การประชุมวิชาการระหว่างสถาบันอุดมศึกษาไทย-ไต้หวัน ครั้งที่ 7 ปี 2019 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 23ก.ค. ณ กรุงเทพฯ นายหลิวม่งฉี รมช. ศึกษาธิการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) นำคณะตัวแทนจากไต้หวัน ที่ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการ อธิการบดีและรองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศของมหาวิทยาลัย 21 แห่งในประเทศ รวม 50 คน พร้อมด้วย ดร. ถงเจิ้นหยวน ผอญ. สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ในฐานะผู้แทนรัฐบาลสาธารณรัฐจีน ประจำประเทศไทย เดินทางไปเข้าร่วมในงานครั้งนี้ด้วย ในส่วนของตัวแทนไทย ประกอบด้วย ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน อดีต รมว.กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการ อธิการบดี รองอธิการบดีและเจ้าหน้าที่ระดับบริหารฝ่ายกิจการต่างประเทศของมหาวิทยาลัย กว่า 50 แห่งในไทย ประมาณ 130 คน ทำให้ยอดจำนวนผู้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้มีประมาณ180 คน แสดงให้เห็นว่าทั้งฝ่ายไต้หวันและไทย ต่างให้ความสำคัญในการส่งเสริมแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาระหว่างกันเป็นอย่างมาก
การประชุมวิชาการครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 โดยในปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “การพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือทางอุตสาหกรรมระหว่างไต้หวัน – ไทย โดยการเสริมสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้แบบเน้นผลลัพธ์ และการพัฒนาทักษะความสามารถ” (Taiwan-Thailand Partnership for Fostering Innovative Learning, Outcome-based Education, and Skill Development through Industry Collaborations) โดยมุ่งเน้นอภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวกับ การเสริมสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนทาง “การเกษตรอัจฉริยะ เทคโนโลยีอาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ” “เทคโนโลยีวิศวกรรมอัจฉริยะ” และ “การเชื่อมโยงระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและสังคม”
รมช.หลิวฯ กล่าวปราศรัยในพิธีเปิดการประชุมว่า สถาบันอุดมศึกษาไต้หวัน – ไทยมีรากฐานที่มั่นคงในการผูกสัมพันธ์กันเป็นมหาวิทยาลัยพี่น้อง และร่วมผลักดันโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษามาเป็นเวลาช้านาน ในอนาคตคาดหวังว่า ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยนวัตกรรมเทคโนโลยี โดยเปิดหลักสูตรDual Degree ระดับปริญญาโท – เอก การวิจัยร่วมในสาขาวิชาชีพ ตลอดจนร่วมมือกันจัดการประชุมวิชาการ เป็นต้น
สำหรับตารางกำหนดการ ประกอบด้วย การประชุมวิชาการในวันแรกของการประชุมตลอดหนึ่งวันเต็ม และในวันถัดไปมีกำหนดการเยี่ยมชม 3 บริษัท ได้แก่ โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ (National Biopharmaceutical Facility, NBF) บริษัท บีดีไอ กรุ๊ป (BDI GROUP) และบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เพื่อกระตุ้นให้สถาบันการศึกษาของไต้หวัน ทำความเข้าใจกับสถานการณ์ในปัจจุบันของอุตสาหกรรมไทย และร่วมหารือในด้านการประสานความร่วมมือกัน ระหว่างอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษา
รายงานสถิติของกระทรวงศึกษาธิการไต้หวันระบุว่า ในปี 2018 นักศึกษาไทยที่เดินทางมาศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของไต้หวัน มีจำนวน 3,236 คน ครองอันดับ 4 ของกลุ่มประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ รองจากมาเลเซีย เวียดนามและอินโดนีเซีย กระทรวงศึกษาธิการไต้หวันคาดหวังว่าการประชุมวิชาการครั้งนี้ จะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดเห็นและประสบการณ์เชิงรูปธรรม ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านการวิจัยและแลกเปลี่ยนทางวิชาการ ระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยของไต้หวัน – ไทย ในภายภาคหน้า