New Southbound Policy Portal
เมื่อช่วงเช้าวันที่ 20 ส.ค. “การประชุมความร่วมมืออุตสาหกรรมระหว่างไต้หวัน – ไทย ปี 2019” ได้จัดพิธีเปิดการประชุมฯ ขึ้นที่โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ โดยนายเซี่ยฉีเจีย (ซ้าย) ผู้ประสานงานคณะตัวแทนสภาอุตสาหกรรมไต้หวันเดินทางเยือนไทย ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจกับคุณสุพันธุ์ มงคลสุธี (ขวา) ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักข่าว CNA วันที่ 20 ส.ค.62
สำนักข่าว CNA วันที่ 20 ส.ค. 62
“การประชุมความร่วมมืออุตสาหกรรมระหว่างไต้หวัน – ไทย ปี 2019” (2019 Taiwan –Thailand Industry Collabaration Summit) เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 20 ส.ค. โดยได้จัดพิธีเปิดการประชุมฯ ขึ้นที่โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ โดยในปีนี้ตัวแทนไต้หวัน - ไทยได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ รวม 7ฉบับ ซึ่งเนื้อหาในบันทึกความเข้าใจแต่ละฉบับ ได้ครอบคลุมถึงด้านต่างๆ อาทิ เครื่องจักรผลิตอาหาร ความเชื่อมโยงทางอุตสาหกรรมอาหาร สิ่งทออัจฉริยะ เมืองอัจฉิรยะและเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (Drone)เป็นต้น
ในการประชุมครั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมไต้หวัน (Chinese National Federation of Industries, CNFI) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (The Federation of Thai Industries, F.T.I) ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ โดยตัวแทนจากทั้งสองประเทศต่างร่วมอภิปรายเชิงลึก ในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายต่างกำลังให้ความสนใจ อาทิ ด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอ เทคโนโลยีชีวภาพอาหาร เมืองอัจฉริยะ เครื่องจักรอัตโนมัติและการผลิตอัจฉริยะ
ในส่วนของไต้หวัน นายหลินฉวนเหนิง รมช. เศรษฐการสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และนายเซี่ยฉีเจีย ผู้ประสานงานคณะตัวแทนสภาอุตสาหกรรมไต้หวัน ที่เดินทางไปร่วมการประชุมที่ประเทศไทยในครั้งนี้ ในส่วนของไทย นำคณะโดยคุณสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดย ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเดินทางมาร่วมพิธีเปิดการประชุมฯ ด้วย
นายเซี่ยฉีเจียกล่าวขณะปราศรัยว่า ผลกระทบจากสงครามการค้าจีน – สหรัฐฯ ทำให้โอกาสทางธุรกิจมากมายถูกโอนย้ายออกไปจากจีน ไต้หวันและไทยต่างก็ได้รับอานิสงส์ โดยได้รับใบสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น คาดหวังว่าในอนาคตไต้หวัน – ไทยจะกระชับความร่วมมือ ในด้านต่างๆ มากยิ่งขึ้น
รมช. หลินฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจในวันนี้ ตนได้เห็นถึงโครงการความร่วมมือต่างๆ ระหว่างไต้หวัน – ไทยอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การแลกเปลี่ยนบุคลากร ช่องทางการตลาดของแบรนด์สินค้าและการพัฒนาเทคโนโลยีอุบัติใหม่ ในช่วงระหว่างสงครามการค้าจีน – สหรัฐฯ เราควรต้องเร่งกระตุ้นให้อุตสาหกรรมไต้หวัน – ไทยกระชับความร่วมมือ เพื่อเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันในอนาคต
คุณสุพันธุ์ มงคลสุธี กล่าวขณะปราศรัยว่า ไต้หวันมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าล้ำสมัย โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และนิคมอุตสาหกรรมไทย ต่างยินดีต้อนรับผู้ประกอบการไต้หวัน
ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล กล่าวขณะปราศรัยว่า เทคโนโลยีอวกาศ เทคโนโลยีดิจิทัลและเมืองอัจฉริยะ ต่างเป็นทิศทางที่สำคัญในการพัฒนาของไทย โดยเฉพาะโครงการ EEC ดังนั้นไทยจึงมีความยินดีที่ผู้ประกอบการไต้หวัน จะเข้ามาร่วมลงทุนในประเทศไทย