New Southbound Policy Portal
เมื่อวันที่ 20 ส.ค. นายหวงจินเฉิง รองประธานคกก.การเกษตรไต้หวันเข้าร่วมเป็นประธานและกล่าวปราศรัยในพิธีเปิดการประชุมนานานาชาติในครั้งนี้ (ภาพจากคกก. การเกษตรไต้หวัน)
คณะกรรมการการเกษตร สภาบริหารสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) วันที่ 21 ส.ค. 62
คณะกรรมการการเกษตร สภาบริหารสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และองค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย (Asian Productivity Organization, APO) ได้ร่วมมือกันจัด “การประชุมนานาชาติว่าด้วยปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืช APO” ระหว่างวันที่ 20 – 23 ส.ค. ที่ศูนย์เทคโนโลยีชีวภาพการเกษตรเมืองผิงตง ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการการเกษตร สภาบริหารไต้หวัน โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการจากประเทศกัมพูชา อิหร่าน อินโดนีเซีย อินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนามและสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) รวม 60คน จากทั้งหมด 13 ประเทศมาร่วมอภิปรายและแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน
คกก.การเกษตรไต้หวันแถลงว่า เนื่องจากประเทศเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชีย มีระดับกำลังการผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่หากใช้สารเคมีทางการเกษตรในปริมาณที่มากเกินไป จะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และสุขภาพของเกษตรกร ในช่วงหลายปีมานี้มีการพัฒนาใช้จุลินทรีย์ในทางการเกษตร สามารถคงไว้ซึ่งระดับกำลังการผลิต อีกทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการการเกษตรไต้หวันจึงได้เสนอต่อองค์การ APO เมื่อปลายปี 2015 โดยมีกำหนดการว่า ช่วงระหว่างปี 2016 – 2020 จะจัดการประชุมระดับนานาชาติขึ้น 5 รอบ โดยในทุกปีจะเชิญตัวแทนประเทศสมาชิก APO เดินทางมาร่วมอภิปรายและแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ที่ไต้หวัน
ข้อเสนอดังกล่าวเป็นแผนความร่วมมือระยะเวลา 5 ปี ฉบับแรกที่ผ่านการอนุมัติจาก APO โดยประเด็นในการแลกเปลี่ยน ประกอบด้วย กฎหมายและมาตรการควบคุมของแต่ละประเทศ การวิจัยพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ แนวโน้มความต้องการของตลาดและทิศทางการพัฒนา การฝึกอบรมบุคลากรและความร่วมมือระหว่างภูมิภาค เป็นต้น
คกก.การเกษตรชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา นายหวงจินเฉิง รองประธานคกก.การเกษตรไต้หวัน เข้าร่วมเป็นประธานและกล่าวปราศรัยในพิธีเปิดการประชุมนานาชาติในครั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการกล่าวปราศรัย ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการจากสวีเดน ไทย เวียดนาม ญี่ปุ่น อินเดียและไต้หวัน มีกำหนดการขึ้นแสดงปาฐกถาในหัวข้อพิเศษทั้งหมด 7 รอบ ภายใต้หัวข้อ “รูปแบบความสำเร็จของธุรกิจปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืช” จากนั้นในวันที่ 21 ส.ค. ตัวแทนจาก 13 ประเทศสมาชิก ได้รายงานสถานการณ์เกี่ยวกับการพัฒนาปุ๋ยชีวภาพและชีวภัณฑ์กำจัดแมลงศัตรูพืชในประเทศของตนต่อที่ประชุมฯ
นอกจากนี้ เพื่อให้ตัวแทนทุกประเทศเข้าใจถึงการพัฒนาจุลินทรีย์ทางการเกษตรของไต้หวัน ทางคกก.การเกษตรไต้หวันจึงจัดให้คณะตัวแทนฯ เดินทางเข้าเยี่ยมชมฟาร์มปรับปรุงพันธุ์พืชทางการเกษตร ในนครเกาสง และสถาบันวิจัยพันธุ์กล้วยไต้หวัน เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์การประยุกต์ใช้จุลินทรีย์ในฟาร์มไต้หวัน อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ความสำเร็จด้านการประยุกต์ใช้จุลินทรีย์ทางการเกษตรของไต้หวัน ให้เป็นที่ประจักษ์แก่นานาชาติ ตลอดจนนำมาซึ่งโอกาสการขยายธุรกิจชีวภัณฑ์ทางการเกษตรชั้นยอดของไต้หวันสู่สากลอีกด้วย