New Southbound Policy Portal
TAITRA จัดการประชุมสัมมนาว่าด้วยการแพทย์อัจฉริยะไต้หวัน – ไทย และการเจรรจาจับคู่ธุรกิจขึ้นเมื่อวันที่ 20 ก.ย. ณ กรุงเทพมหานคร (ภาพจาก TAITRA)
TAITRA วันที่ 20 ก.ย. 62
เมื่อวันที่ 20 ก.ย. สภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกแห่งไต้หวัน (TAITRA) แถลงว่า เพื่อคว้าโอกาสทางธุรกิจและเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างไต้หวัน – ไทย TAITRA ได้รับมอบหมายจากกรมการค้าต่างประเทศ (BOFT) กระทรวงเศรษฐการสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) โดยได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (The Federation of Thai Industries, FTI) และสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ไทย (THAIMED) จัดการสัมมนาและเจรจาธุรกิจ Thailand - Taiwan Smart Healthcare Seminar & Trade Meeting 2019 ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมภาพลักษณ์ ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีอัจฉริยะของอุตสาหกรรมการแพทย์ไต้หวัน
TAITRA แถลงว่า รัฐบาลไทยกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาตามแผนระยะยาว 10 ปี ในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทย ขึ้นแท่นเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์แห่งเอเชีย (Medical Hub of Asia) จึงนำมาสู่ความพยายามที่จะนำสินค้าและบริการด้านสุขภาพอัจฉริยะ(Smart Healthcare) ที่สามารถตอบโจทย์นี้เข้ามาในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับข้อได้เปรียบทางอุตสาหกรรมการแพทย์ในปัจจุบันของไต้หวัน
TAITRA เผยว่า การสัมมนาดังกล่าวได้ดึงดูดสื่อมวลชนไทย ตัวแทนของโรงพยาบาลและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานประมาณ 110 คน นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของไทย (อย.) เดินทางมาร่วมงานดังกล่าวด้วย
นายปรีชา พันธุ์ติเวช นายกสมาคม THAIMED ได้ร่วมแบ่งปันแนวโน้มการตลาดเครื่องมือแพทย์ของไทย โดยระบุว่าไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2024 จำนวนประชากรผู้สูงอายุจะครองสัดส่วนถึงร้อยละ 32.13 ดังนั้นความต้องการด้านเครื่องมือแพทย์ จึงมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยไทยจะนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) มาประยุกต์ใช้ในด้านการแพทย์อย่างต่อเนื่อง อาทิ นาฬิกาข้อมืออัจฉริยะ รถพยาบาลอัจฉริยะ หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุและห้องผ่าตัดอัจฉริยะ นายปรีชากล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันไทยมีโรงพยาบาลทั้งหมด 1,229 แห่งทั่วประเทศ และมีเตียงรองรับผู้ป่วย 143,305 เตียง ซึ่งนับได้ว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญ ของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการแพทย์ไต้หวัน
นายแพทย์บุญชัย กิจสนาโยธินแห่งสำนักพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย (Thai Health Information Standards Development Center, THIS) ก็ได้ร่วมแบ่งปันสถานการณ์การพัฒนาด้านการแพทย์อัจฉริยะของไทย โดยกล่าวว่า ในปัจจุบันไทยยังไม่ได้จัดตั้งระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์บนคลาวด์ (Cloud-Based Electronic Health Record) จึงทำให้ไม่สะดวกต่อการเข้ารับการรักษา หรือการย้ายโรงพยาบาลของผู้ป่วย โดยในช่วงนี้ไทยได้เร่งวางแผนจัดตั้งคลังข้อมูลด้วยระบบคลาวด์ เพื่อเก็บรวบรวมเวชระเบียนผู้ป่วยของทุกโรงพยาบาล และจะบูรณาการข้อมูลภาคประชาชนที่ได้จากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในการเข้ารับการรักษา และการย้ายโรงพยาบาล เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมมือกับผู้ประกอบการไต้หวัน จะช่วยเร่งความเร็วในการยกระดับประสิทธิภาพทางการแพทย์ และการพัฒนาไปสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์แห่งเอเชียในอนาคต
การสัมมนาในครั้งนี้ มีตัวแทนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยมไต้หวัน (Taiwan excellence) เข้าร่วมทั้งหมด 6 บริษัท โดยได้ขึ้นรายงานการพัฒนาเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ตามหัวข้อ “การแพทย์อัจฉริยะด้วยระบบดิจิทัล และการประยุกต์ใช้ระบบการแพทย์ทางไกล” ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากตัวแทนของโรงพยาบาลและกลุ่มธุรกิจไทย นอกจากนี้บรรยากาศการเจรจาจับคู่ธุรกิจหลังการสัมมนาก็เป็นไปอย่างคึกคัก ตัวแทนผู้ประกอบการไต้หวันต่างเล็งเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจ และแนวโน้มการพัฒนาในตลาดการแพทย์อัจฉริยะของไทยในอนาคต