New Southbound Policy Portal
สถาบัน IMD แห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ประกาศผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลระดับโลก (IMD World Digital Competitiveness Ranking 2019, DCR) เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ซึ่งชี้ว่า ไต้หวันอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก (ภาพจากนายจินหงห้าว)
NDC วันที่ 26 ก.ย. 62
เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติของไต้หวัน (National Development Council, NDC) แถลงว่า สถาบัน IMD (International Institute for Management Development) แห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ประกาศผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลระดับโลก (IMD World Digital Competitiveness Ranking 2019, DCR) เมื่อวันที่ 26ก.ย. ซึ่งชี้ว่า ไต้หวันครองอันดับที่ 13 จากทั้งหมด 63 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเป็นอันดับที่ดีขึ้น 3 อันดับจากปี 2018
สำหรับในภูมิภาคเอเชีย ไต้หวันครองอันดับที่ 4 จาก 14 ประเทศและเขตเศรษฐกิจ ขยับขึ้น 1 อันดับจากปี 2018 และครองอันดับ 4 ในกลุ่มประเทศและเขตเศรษฐกิจที่มีประชากรมากกว่า 20 ล้านคน ซึ่งมีทั้งหมด 29 ประเทศ และเป็นการขยับขึ้น 2 อันดับจากปีที่แล้วเช่นเดียวกัน
NDC ระบุว่า การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ IMD มีเกณฑ์การพิจารณาทั้งหมด 3 ประการ อันประกอบด้วย ความรู้ (Knowledge) เทคโนโลยี (Technology) และความพร้อมสำหรับอนาคต (Future Readiness) ซึ่งทั้ง 3 เกณฑ์ดังกล่าว ไต้หวันล้วนได้รับอันดับที่ขยับขึ้นหน้าจากปีที่แล้วทั้งสิ้น อาทิ ด้าน “ความรู้” ซึ่งมุ่งเน้นในการประเมินความสามารถของประเทศ ในการเรียนรู้เทคโนโลยีล้ำสมัยต่างๆ ซึ่งไต้หวันครองอันดับที่ 17 ของโลก ขยับขึ้น 2 อันดับจากปีที่แล้ว ทางด้าน “เทคโนโลยี” มุ่งเน้นในการประเมินความสามารถของประเทศ ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งในปีนี้ ไต้หวันครองอันดับที่ 9 ของโลก ส่วนด้าน “ความพร้อมสำหรับอนาคต” มุ่งเน้นในการประเมินการเปลี่ยนแปลงโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งไต้หวันสามารถขึ้นครองอันดับที่ 12 ของโลก ขยับสูงขึ้นจากปีที่แล้วกว่า 10 อันดับ
NDC เผยว่า การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ เป็นข้อมูลอ้างอิงที่สำคัญในการวางแผนนโยบายของรัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ซึ่งจะมีการวิเคราะห์รายงานของ IMFอย่างละเอียดถี่ถ้วน รวมถึงประเมินข้อได้เปรียบ – เสียเปรียบของการพัฒนาดิจิทัลในประเทศ เพื่อนำไปปรับแก้ให้มีการพัฒนาที่ดีขึ้นต่อไปในอนาคต
NDC แถลงปิดท้ายว่า เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม รัฐบาลไต้หวันจึงได้ริเริ่มผลักดันโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา อาทิ “แผนปฏิบัติการรัฐบาลอัจฉริยะ” และ “โครงการเครือข่าย 5G” เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อเสริมสร้างพลังแห่งเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศ ให้เกิดความแข็งแกร่งมากขึ้น ขณะเดียวกัน NDC ก็จะเร่งผ่อนคลายกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และช่วยเหลือผู้ประกอบการ ในการตอบข้อสงสัยที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายและการปรับตัวตามข้อกฎหมาย ตลอดจนเร่งแก้ไขและวิจัยร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อดึงดูดบุคลากรและแรงงานต่างชาติที่มีคุณภาพ ให้เข้ามาทำงานในไต้หวัน อันจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในสากลของประเทศให้สูงขึ้นตามไปด้วย