New Southbound Policy Portal
รมว.ถังฯ เผยแพร่บทความที่กล่าวถึงผลสัมฤทธิ์ของการผลักดันประชาธิปไตยดิจิทัล ในนสพ.เดอะนิวยอร์กไทมส์ (ภาพจาก กระทรวงการต่างประเทศ)
สำนักข่าว CNA วันที่ 15 ต.ค. 62
นายถังฟ่ง รัฐมนตรีประจำสภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เผยแพร่บทความที่เกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ของการผลักดันประชาธิปไตยดิจิทัลในไต้หวัน โดยถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ (The New York Times) เนื้อหาระบุว่า เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยกระชับความสัมพันธ์ในการร่วมหารือระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน และเติมจิตวิญญาณในการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมให้แก่ภาครัฐฯ โดยไต้หวันได้ส่งเสริมให้ทุกคนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น อันเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่รากฐานประชาธิปไตยของไต้หวันในอนาคต
เมื่อวันที่ 15 ต.ค. เว็ปไซต์ นสพ.เดอะนิวยอร์กไทมส์ได้ตีพิมพ์บทความดังกล่าวของรมว.ถังฯ ภายใต้หัวข้อ “ประชาธิปไตยอันแข็งแกร่ง คือประชาธิปไตยดิจิทัล” (A Strong Democracy Is a Digital Democracy) โดยมีสาระสำคัญคือ ประชาธิปไตยจะแข็งแกร่งขึ้น ตามการมีส่วนร่วมของผู้คนในสังคมที่เพิ่มมากขึ้น เพียงแค่โฟกัสไปที่ฉันทามติที่เห็นพ้องต้องกันในสังคม มิใช่การแบ่งแยก เทคโนโลยีดิจิทัลก็จะยังคงเป็นกลไกที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้คนมีส่วนร่วมในกิจกรรมภาครัฐที่ดีที่สุด
รมว.ถังฯ กล่าวว่า ช่วงหลายปีมานี้ รัฐบาลไต้หวันและกลุ่มเทคโนโลยี ได้ร่วมมือกันสรรสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์และโครงการดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเสนอญัตติ หรือแสดงความคิดเห็นในด้านการปฏิรูปนโยบาย ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด “ประชาธิปไตยของไต้หวันถูกโอบล้อมด้วยพลังมวลชน ก่อกำเนิดรัฐบาลที่มีการตอบรับอย่างกระตือรือร้น” โดยรมว.ถังฯ ได้ยกตัวอย่างแรก ซึ่งก็คือแพลตฟอร์ม vTaiwan ที่เปิดตัวในรูปแบบออนไลน์อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2015 เพื่อร่วมอภิปรายในประเด็นการบัญญัติและแก้ไขร่างกฎหมายต่างๆ ของไต้หวัน
vTaiwan รวบรวมไว้ซึ่งตัวแทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อร่วมอภิปรายและหารือในการกำหนดนโยบาย ที่จะนำมาใช้แก้ไขปัญหาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล รมว.ถังฯ เผยว่า นับตั้งแต่ที่ vTaiwan เปิดตัวในรูปแบบออนไลน์ ได้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางที่ช่วยแก้ไขปัญหาแล้ว 30 ประเด็น โดยเฉพาะปัญหานโยบายดิจิทัลที่มีความยุ่งยากและซับซ้อน ซึ่งรวมถึงการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบริหารแพลตฟอร์มเรียกรถขนส่งสาธารณะ อูเบอร์ (Uber) อีกด้วย
นอกจากนี้ การแข่งขัน Presidential Hackathon ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีจุดประสงค์เพื่อระดมความคิด และความร่วมมือกันของหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อร่วมกันกำหนดแผนแม่บทเทคโนโลยีซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วน โดยกิจกรรมดังกล่าวได้ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว ผู้เข้าร่วมการแข่งขันประกอบด้วยกลุ่มประชาชน และกลุ่มข้าราชการ เพื่อออกแบบโครงการนวัตกรรม สำหรับการปรับปรุงด้านการบริการสาธารณะ ซึ่งถึงแม้ทีมที่ชนะเลิศจะไม่ได้รับเงินรางวัล แต่ได้รับคำมั่นจากรัฐบาลว่า จะนำแนวคิดที่ได้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป