New Southbound Policy Portal

แผนผลักดันการเข้าร่วม INTERPOL ของไต้หวันในปีนี้ ได้รับเสียงสนับสนุนจากนานาชาติอย่างล้นหลามเป็นครั้งแรกตั้งแต่เคยมีมา

กต.ไต้หวันขอบคุณประเทศพันธมิตร และประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน สำหรับการสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วม INTERPOL (ภาพจากกต.ไต้หวัน)

กต.ไต้หวันขอบคุณประเทศพันธมิตร และประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน สำหรับการสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วม INTERPOL (ภาพจากกต.ไต้หวัน)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 19 ต.ค. 62

 

เมื่อวันที่ 19 ต.ค. กระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า การประชุมสมัชชาองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ ( INTERPOL) ครั้งที่ 88 ได้ปิดฉากลงเมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะเป็นอีกปีที่ไต้หวันไม่ได้ถูกรับเชิญให้เข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ เนื่องด้วยเหตุผลทางการเมือง แต่แผนผลักดันเข้าร่วมในปีนี้ของไต้หวัน กลับได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติทั่วทุกมุมโลก อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นชัดว่า การที่ไต้หวันเรียกร้องขอเข้าร่วมการประชุมขององค์การ INTERPOL มีความจำเป็นและสมเหตุสมผล อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นว่ามีหลายประเทศไม่พอใจต่อการที่องค์การ INTERPOL กีดกันไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในเครือข่ายการรักษาความปลอดภัยทั่วโลก ด้วยเหตุผลทางการเมือง


 

บรรดาประเทศพันธมิตรไต้หวันที่มีส่วนช่วยในการสนับสนุนแผนผลักดันของไต้หวันในครั้งนี้ ประกอบด้วย เบลิซ เอสวาตินี สาธารณรัฐกัวเตมาลา สาธารณรัฐไฮติ ฮอนดูรัส สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ ปารากวัย สาธารณรัฐนาอูรู เซนต์คิตส์และเนวิส เซนต์ลูเซีย เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ รวม 11 ประเทศ ที่ได้ส่งหนังสือเรียกร้องให้กับนายจินจงหยาง ประธาน INTERPOL เพื่อเร่งให้ทางองค์การฯ เชิญไต้หวันเข้าร่วมการประชุมฯ ในฐานะผู้สังเกตการณ์


 

นอกจากนี้ 6 ผู้แทนประเทศพันธมิตรที่ประกอบด้วย เบลิซ เอสวาตินี สาธารณรัฐกัวเตมาลา ฮอนดูรัส ปารากวัย รวมถึงเซนต์คิตส์และเนวิส ยังได้ร่วมเป็นปากเสียงให้กับไต้หวันในการประชุม โดยเรียกร้องให้ INTERPOL เชิญไต้หวันเข้ามีส่วนร่วม เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่เกิดช่องโหว่ในการบังคับใช้กฎหมายสากล ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่ประเทศพันธมิตรได้ประสานกำลัง ร่วมกันเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันในการประชุมฯ อย่างหนักแน่น นับตั้งแต่ที่ไต้หวันถูกบีบบังคับให้ออกจากองค์การฯ ในปี 1984 จนทำให้เป็นที่ดึงดูดความสนใจจากนานาประเทศทั่วโลก และเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจให้กับบรรดาประเทศสมาชิกของ INTERPOL ให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมในการปฏิบัติต่อไต้หวัน

 

 

เสียงสนับสนุนแผนผลักดันของไต้หวันจากประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกับไต้หวัน ก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา Mr. Patrick Murphy รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชีย – แปซิฟิก Mr. Jonathan Moore รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กรมองค์การระหว่างประเทศ Mr. William Brent Christensen ผู้อำนวยการสถาบันอเมริกาในไต้หวัน (AIT) และ Ms. Amanda Mansour โฆษกสถาบันอเมริกาในไต้หวัน ต่างเคยกล่าวสนับสนุนไต้หวัน ในการเข้าร่วมองค์การ INTERPOL อย่างเปิดเผย


 

ทางด้านหน่วยงานนิติบัญญัติของแต่ละประเทศ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกว่า 140 คน จากประเทศที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 14 ประเทศ ที่ให้การสนับสนุนแผนผลักดันของไต้หวันด้วยวิธีการอันหลากหลาย นอกจากนี้ ส.ส.ของประเทศชิลี เยอรมนี ฮอนดูรัส ฮังการี อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลี สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ สเปนและตุรกี รวม 12 ประเทศ ต่างส่งหนังสือเรียกร้องต่อ INTERPOL เป็นครั้งแรก อีกทั้งยังได้ร่วมลงมติ และเป็นกระบอกเสียงสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วม INTERPOL อย่างเปิดเผยด้วย


 

เพื่อให้ประชาคมโลกเข้าใจถึงข้อเรียกร้องและความเร่งด่วนในการเข้าร่วม INTERPOL ของไต้หวัน บทความของนายหวงหมิงเจา อธิบดีกรมตำรวจอาชญากรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทยสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ถูกตีพิมพ์ลงบนสื่อนานาชาติที่สำคัญๆ กว่า 49 แห่ง และตีพิมพ์ลงในบทความที่เกี่ยวข้องอีก 29 ฉบับ เพื่อเผยแพร่ให้ทั่วโลกรับรู้ถึง ข้อเรียกร้องเชิงปฏิบัติในแผนผลักดันของไต้หวัน


 

กต.ไต้หวันขอบคุณประเทศพันธมิตรและประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ที่ยึดมั่นในหลักการของความเป็นมืออาชีพ และร่วมแสดงความกล้าทางคุณธรรม ในการเป็นกระบอกเสียงให้กับไต้หวัน กต.ไต้หวันเน้นย้ำว่า พวกเราจะยืนหยัดสู้ต่อไป และยึดมั่นในหลักการ “มีความเป็นมืออาชีพ ลงมือปฏิบัติจริง ร่วมสร้างคุณประโยชน์” โดยจะประสานความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อกระตุ้นเสียงสนับสนุนจากนานาชาติให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น