New Southbound Policy Portal

ถังฟ่ง รมว.ประจำสภาบริหารไต้หวันเดินทางเยือนกรุงเทพ แบ่งปันประสบการณ์นวัตกรรมเทคโนโลยีไต้หวัน

นายถังฟ่ง รมว.ประจำสภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แสดงปาฐกา ในการประชุมสัมมนา ที่สำนักงานตัวแทนไต้หวันในประเทศไทยและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกันจัดขึ้น (ภาพจาก CNA)

นายถังฟ่ง รมว.ประจำสภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แสดงปาฐกา ในการประชุมสัมมนา ที่สำนักงานตัวแทนไต้หวันในประเทศไทยและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกันจัดขึ้น (ภาพจาก CNA)

สำนักข่าว CNA วันที่ 21 ต.ค. 62

 

เมื่อวันที่ 21 ต.ค. นายถังฟ่ง รัฐมนตรีประจำสภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสัมมนาที่ประเทศไทย และได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การประยุกต์ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี เพื่อช่วยเหลือการพัฒนาสังคมในไต้หวัน โดยมีนักวิชาการไทยแสดงความคิดเห็นว่า ในด้านเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า (Big Data) และการเปิดเผยข้อมูล ไทยสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ไต้หวันได้


 

นายถังฟ่งเข้าร่วมการประชุมสัมมนาว่าด้วยนวัตกรรมสังคมและการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ที่สำนักงานตัวแทนไต้หวันในประเทศไทย และคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมจัดขึ้น โดยได้ขึ้นแสดงปาฐกถา ภายใต้หัวข้อ “ก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในยุคดิจิทัลได้อย่างไร” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมรับฟังจากทุกวงการกว่า 200 คน


 

รัฐมนตรีประจำสภาบริหารไต้หวัน กล่าวว่า ไต้หวันมีแพลตฟอร์มการมีส่วนร่วมในการเสนอนโยบายสาธารณะที่จัดทำขึ้นในรูปแบบออนไลน์ หากมีผู้เสนอญัตติในทำนองเดียวกัน มากกว่าจำนวนที่กำหนด ญัตตินั้น จะถูกรัฐบาลนำไปเป็นหลักอ้างอิงในการกำหนดนโยบายในอนาคต อาทิ เคยมีผู้เสนอความเห็นว่า ควรงดใช้หลอดพลาสติก ซึ่งดึงดูดผู้ที่มีความเห็นพ้องกันมาออกเสียงสนับสนุนเป็นจำนวนมาก ทำให้สามารถผ่านเข้าสู่การพิจารณาจากภาครัฐในเวลาอันรวดเร็ว โดยในตอนแรก หลายคนคิดว่าผู้ที่เสนอญัตติดังกล่าว เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายหลังถึงทราบว่า คนผู้นั้นเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่มีอายุเพียง 16 ปี


 

นายถังฟ่ง ยังได้ระบุถึงการแข่งขัน Presidential Hackathon ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีจุดประสงค์เพื่อระดมความคิด และความร่วมมือกันของหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม โดยข้อเสนอแนะของทีมผู้เข้าร่วม ก็จะถูกนำไปเป็นหลักอ้างอิงในการกำหนดนโยบายต่อไป อาทิ บริษัทการประปาไต้หวันได้เสนอ “โครงการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ” โดยใช้บิ๊กดาต้าในกระบวนการอัลกอริทึม (Algorithm) เพื่อค้นหาเขตพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำรั่วซึม ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยพนักงานซ่อมบำรุงประหยัดเวลาในการค้นหาจุดรั่วซึม อีกทั้งยังสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ในการค้นพบและย่นขอบเขตการค้นหา รวมถึงการคาดการณ์ล่วงหน้า เป็นต้น


 

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ร่วมแบ่งปันในการประชุมว่า ดัชนีการเปิดเผยข้อมูลของไต้หวัน ครองอันดับต้นๆ ของโลก ส่วนไทยกลับอยู่ในลำดับรั้งท้าย ดังนั้นในด้านเทคโนโลยีบิ๊กดาต้าและการเปิดเผยข้อมูล ไทยสามารถเรียนรู้จากไต้หวันได้ นอกจากนี้ เขายังเคยเดินทางเข้าเยี่ยมชมซิลิคอนวัลเลย์แห่งเอเชีย จึงได้ส่งเสริมให้บริษัทสตาร์ทอัพไทย เรียนรู้การกำหนดนโยบายองค์การกับไต้หวัน


 

ดร.สมเกียรติระบุว่า จำนวนนักวิศวกรไทยไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เขาจึงเสนอว่า ไทยและไต้หวันควรประสานความร่วมมือในการร่วมวางแผนโครงการแลกเปลี่ยนการฝึกอบรมบุคลากร หรือนำเข้าเทคโนโลยีหรือบุคลากรทางเทคโนโลยีไต้หวัน และไทยควรเรียนรู้การจัดทำโครงการฝึกอบรมความเชี่ยวชาญเฉพาะทางระยะสั้นจากไต้หวันด้วย