New Southbound Policy Portal

คณะกรรมการประสานงาน NGO ระหว่างประเทศ กต.ไต้หวัน ผลักดันการทูตเชิงมนุษยธรรม ในแถบชายแดนไทย - เมียนมา

นายไล่หมิงฉี (ยืน) ประธานกรรมการบริหารคณะกรรมการประสานงาน NGO ระหว่างประเทศ กต.ไต้หวัน ได้นำคณะตัวแทนเดินทางไปยังพื้นที่ใน อ.แม่สอด จ.ตาก ระหว่างวันที่ 28 – 30 ต.ค. เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมรำลึกการก่อตั้งค่ายผู้ลี้ภัยในเขตชายแดนไทย – เมียนมา เนื่องในวาระครบรอบ 35 ปี (ภาพจากสำนักงานตัวแทนไต้หวันประจำประเทศไทย)

นายไล่หมิงฉี (ยืน) ประธานกรรมการบริหารคณะกรรมการประสานงาน NGO ระหว่างประเทศ กต.ไต้หวัน ได้นำคณะตัวแทนเดินทางไปยังพื้นที่ใน อ.แม่สอด จ.ตาก ระหว่างวันที่ 28 – 30 ต.ค. เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมรำลึกการก่อตั้งค่ายผู้ลี้ภัยในเขตชายแดนไทย – เมียนมา เนื่องในวาระครบรอบ 35 ปี (ภาพจากสำนักงานตัวแทนไต้หวันประจำประเทศไทย)

สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย วันที่ 30 ต.ค. 62

 

เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการประสานงานองค์กรนอกภาครัฐระหว่างประเทศ (Department of NGO International Affairs) กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้นำคณะตัวแทนเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมขององค์กรนอกภาครัฐ (NGO) ในพื้นที่แถบชายแดนประเทศไทย กต.ไต้หวันแถลงว่า ไต้หวันยินดีที่จะผนึกกำลังกับภาคประชาคม ร่วมส่งเสริมความช่วยเหลือทางการแพทย์ด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อแสดงให้เห็นถึงค่านิยมด้านมนุษยธรรมและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของไต้หวัน


 

เมื่อวันที่ 30 ต.ค. จดหมายข่าวของสำนักงานตัวแทนไต้หวันประจำประเทศไทยเผยว่า นายไล่หมิงฉี ประธานกรรมการบริหาร คณะกรรมการประสานงาน NGO ระหว่างประเทศ ได้นำคณะตัวแทนเดินทางไปสมทบกับสมาชิกมูลนิธิพุทธฉือจี้ไต้หวันในประเทศไทย เพื่อเดินทางต่อไปยังพื้นที่ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ระหว่างวันที่ 28 – 30 ต.ค. เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมรำลึกการก่อตั้งค่ายผู้ลี้ภัยในเขตชายแดนไทย – เมียนมา เนื่องในวาระครบรอบ 35 ปี


 

การเดินทางไปเยือนครั้งนี้ นายไล่หมิงฉีนอกจากจะตรวจสอบโครงการส่งมอบความช่วยเหลือของไต้หวันแล้ว ยังได้ร่วมหารือเพื่อปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ในประเด็นการอพยพข้ามแดนกับตัวแทนประเทศผู้บริจาครายสำคัญขององค์กร The Border Consortium (TBC) ในประเทศไทย อีกด้วย


 

โดยเมื่อวันที่ 29 ต.ค. นายไล่หมิงฉีและคณะตัวแทนของประเทศต่างๆ ได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมค่ายผู้ลี้ภัยแม่ลา และชุมชนผู้อพยพแถบชายแดน เพื่อทำความเข้าใจกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้อพยพ พร้อมกันนี้ยังได้หารือและแลกเปลี่ยนกับคณะกรรมการจังหวัด ในประเด็นความคืบหน้าของการดำเนินการส่งผู้อพยพกลับสู่บ้านเกิดในเมียนมา ตลอดจนเข้าเยี่ยมชมภายในค่ายฯ เพื่อทำความเข้าใจกับประสิทธิภาพในการดำเนินการตามโครงการเสริมโภชนาการทารกและเด็ก ที่ไต้หวันเป็นผู้ส่งมอบความช่วยเหลือสู่พื้นที่ดังกล่าว


 

ต่อมาในวันที่ 30 ต.ค. กต.ไต้หวันและองค์กร TBC ได้ร่วมลงนามโครงการความร่วมมือระหว่างกัน และได้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาว่าด้วยประเด็นผู้ลี้ภัยในพื้นที่แถบชายแดน รวมถึงเข้าร่วมกิจกรรมรำลึกการก่อตั้งค่ายผู้ลี้ภัยในเขตชายแดนไทย - เมียนมา เนื่องในวาระครบรอบ 35 ปี โดยคณะตัวแทนไต้หวันได้ร่วมแลกเปลี่ยน และแบ่งปันประสบการณ์ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม กับตัวแทนรัฐบาลสหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย นอร์เวย์ และองค์กรด้านมนุษยธรรมนานาชาติ โดยคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคตจะสามารถประสานความร่วมมือด้านมนุษยธรรมกับประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน


 

ในขณะที่ร่วมแลกเปลี่ยนกับตัวแทนประเทศอื่นๆ นายไล่หมิงฉีกล่าวชี้แจงว่า ไต้หวันเร่งผลักดันการช่วยเหลือนานาชาติ โดยในทุกปีมีองค์กรการกุศลไต้หวันและบุคลากรทางการแพทย์ เดินทางเยือนพื้นที่ภาคเหนือของไทย และชายแดนไทย – เมียนมา เพื่อให้บริการด้านการดูแลทางการแพทย์ระยะสั้น กต.ไต้หวันและสำนักงานตัวแทนไต้หวันประจำประเทศไทย ยินดีที่จะผนึกกำลังกับภาคประชาคม ในการร่วมกันส่งเสริมความช่วยเหลือทางการแพทย์ด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อแสดงให้เห็นถึงค่านิยมในด้านมนุษยธรรมและการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของไต้หวัน


 

สำนักงานตัวแทนไต้หวันประจำประเทศไทยระบุว่า ไต้หวันได้เริ่มประสานความร่วมมือกับองค์กร TBC เพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา โดย กต.ไต้หวันได้ร่วมบริจาคเงินเพื่อดำเนินการตามโครงการ ผ่านทางสำนักงานตัวแทนไต้หวันประจำประเทศไทยรวม 6 ครั้ง มียอดบริจาคสะสมรวมกว่า 8.8 แสนเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 26.84 ล้านเหรียญไต้หวัน) และเป็นประเทศผู้บริจาคเพียงหนึ่งเดียวในภูมิภาคเอเชีย


 

Ms. Sally Thompson ประธาน TBC แถลงว่า ขอบคุณรัฐบาลไต้หวันที่ให้การสนับสนุนอย่างเหนียวแน่นมาเป็นเวลาช้านาน โดยนับแต่นี้เป็นต้นไป TBC จะกระชับความร่วมมือในเชิงลึกกับสำนักงานตัวแทนไต้หวันประจำประเทศไทย เพื่อให้ทุกคนได้เห็นถึงน้ำใจอันดีงามของไต้หวัน