New Southbound Policy Portal

หายนะจากขยะในทะเล เร่งกู้วิกฤติระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม

คุณเจิ้งหมิงซิวดำน้ำลงไปทำความสะอาดใต้ทะเล เขาเคยช่วยเต่าตนุโดยดึงเศษพลาสติกออกจากรูทวารของมัน (ภาพจาก เจิ้งหมิงซิว)

คุณเจิ้งหมิงซิวดำน้ำลงไปทำความสะอาดใต้ทะเล เขาเคยช่วยเต่าตนุโดยดึงเศษพลาสติกออกจากรูทวารของมัน (ภาพจาก เจิ้งหมิงซิว)
 

นกอัลบาทรอสตายเพราะกินเศษพลาสติกที่ลอยในทะเลเข้าไป ส่วนแมวน้ำที่เกยตื้นก็มีถุงพลาสติกอัดอยู่เต็มท้อง เต่าทะเลที่เดิมควรที่จะแหวกว่ายอยู่กลางทะเลอย่างเสรี แต่กลับต้องตายเพราะถูกแหรัดคอ ภาพการตายของสัตว์ทะเลอย่างไม่ควรจะเกิดขึ้นเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงความมักง่ายของผู้คนที่คำนึงถึงแต่ความสะดวกสบายของตน แต่กลับต้องตอบแทนด้วยความเจ็บปวดอย่างไม่อาจพรรรณาได้ของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม

 

พลาสติกถูกคิดค้นขึ้นและใช้อย่างแพร่หลายในช่วงเวลาเพียง 60 กว่าปีที่ผ่านมานี้เอง แต่กลับถูกทิ้งกันอย่างเกลื่อนกลาดตามอำเภอใจ กลายเป็นหายนะต่อระบบนิเวศ ผลงานวิจัยพบว่า ในแต่ละปีมีขยะพลาสติกถูกทิ้งลงไปในทะเลอย่างน้อย 8 ล้านตัน องค์การสหประชาชาติประเมินว่า จนถึงปีค.ศ.2050 ขยะพลาสติกในทะเลจะมีปริมาณมากกว่าปลาในทะเลเสียอีก

ไต้หวันเป็นสมาชิกหนึ่งของประชาคมโลก จึงไม่อาจที่จะทำตัวอยู่นอกเหนือปัญหานี้ได้ นโยบายจำกัดการใช้พลาสติกและการรีไซเคิลพลาสติกของไต้หวันมีความก้าวหน้ากว่าบรรดาประเทศในยุโรปและสหรัฐฯ โดยมีนโยบายผลักดันการห้ามใช้พลาสติกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งได้วางแผนไปจนถึงปีค.ศ.2030 นอกจากการกำหนดนโยบายแล้ว การรณรงค์และการร่วมมือทำความสะอาดชายหาดของภาคเอกชน ล้วนเป็นความพยายามเพื่อความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมโดยแท้
 

ถังไฉ่หลิงเริ่มจากการเก็บขยะที่ชายหาดและทดลองนำมาเปลี่ยนให้เป็นงานศิลปะ เพื่อดึงดูดผู้คนให้หันมาสนใจต่อประเด็นขยะทะเล

ถังไฉ่หลิงเริ่มจากการเก็บขยะที่ชายหาดและทดลองนำมาเปลี่ยนให้เป็นงานศิลปะ เพื่อดึงดูดผู้คนให้หันมาสนใจต่อประเด็นขยะทะเล
 

อะไรก็มี จึงไม่มีอะไรเป็นเรื่องแปลกใหม่

ไต้หวันล้อมรอบไปด้วยทะเล มีสภาพอากาศแบบเกาะที่เป็นอัตลักษณ์ ตลอดจนอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรทางทะเลและแหล่งประมง แต่อีกด้านหนึ่งนั้น เป็นเพราะว่าไต้หวันอยู่ติดกับทะเล จึงถูกบังคับให้ต้องยอมรับที่จะแลกเปลี่ยนของขวัญที่มาจากทั่วโลก นั่นก็คือ สิ่งปฏิกูลทางทะเล (เรียกง่ายๆ ก็คือ ขยะทะเล)

เพื่อจะรายงาน “ขยะทะเล” บทนี้ เราต้องบินไปที่เกาะเผิงหู ซึ่งถือเป็นแนวหน้าแห่งสมรภูมิขยะทะเลในไต้หวันเลยทีเดียว ได้เยี่ยมชม O2 Lab ที่มีชื่อเสียงจากการนำขยะทะเลมาประดิษฐ์เป็นงานศิลปะ และได้เข้าร่วมกิจกรรมทำความสะอาดริมหาดกับ O2’s craft team ที่จัดขึ้นเป็นประจำ ซึ่งเคยแต่ได้ยินชื่อ คราวนี้ได้มาสัมผัสด้วยตัวเอง และเมื่อทอดสายตาไปยังมหาสมุทรอันเวิ้งว้างสุดลูกหูลูกตา แต่ริมหาดที่อยู่ติดกันกลับเต็มไปด้วยขวดพลาสติก และขยะพลาสติกกระจัดกระจายไปทั่ว ทั้งยังมีเศษแหอวน เศษโฟมทิ้งกลาดเกลื่อนไปทั่ว ภายในรัศมีเพียง 10 ม. เก็บขยะทะเลที่มีทั้งเศษแปรงสีฟัน เข็มฉีดยา หลอดดูด รองเท้าแตะ ขวดแก้ว ทุ่นลอยน้ำ หลอดไฟ ของเล่น และหลอดไฟสัญญาณที่ใช้บนเรือ อัดแน่นเต็มถุงขยะน้ำหนักกว่า 50 กก. หลายใบทีเดียวผู้ร่วมงานเล่าเรื่องราวสิ่งของที่เก็บได้ขณะทำความสะอาดชายหาดว่ามีทั้งเซ็กส์ทอยหลอดและขวดยาฉีดป้ายดวงวิญญาณบรรพบุรุษไพ่นกกระจอกขยะทะเลเหล่านี้มาจากทุกสารทิศโดยไม่แบ่งเขตแดนล้วนเป็นขยะที่มาจากของใช้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์ทั้งสิ้น

จริงๆ แล้วเดิมทีริมหาดในไต้หวันไม่ได้อยู่ในสภาพเช่นนี้ คุณเจิ้งหมิงซิว (鄭明修) นักวิจัยของ Biodiversity Research Center, Academia Sinica ซึ่งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับระบบนิเวศในทะเล และมีประสบการณ์ในการดำน้ำมานานกว่า 40 ปี ผู้มีบ้านเกิดอยู่ที่ตำบลไป๋ซาของเผิงหูเล่าว่า ในวัยเด็กที่นี่มีธรรมชาติที่สวยงามมาก อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ แต่เมื่อพัฒนาเป็นเมือง ทะเลได้รับผลกระทบก่อนเป็นอันดับแรก แหล่งเพาะพันธุ์ใต้ทะเลถูกทำลาย ทำให้เขาต้องก้าวออกมาเรียกร้องให้ผู้คนหันมาสนใจกับมลภาวะรุนแรงที่เกิดกับระบบนิเวศในท้องทะเล กระทั่งปีค.ศ.2018 เขาได้เผยแพร่ผลงานวิจัยที่ใช้เวลานานกว่า 5 ปี โดยทีมงานของเขาได้สำรวจและสร้างสถานการณ์จำลองว่า ขยะทะเลลอยไปตามแนวเกาะตงซาหรือเกาะ Pratas Islands ทางตะวันตกเฉียงใต้ของทะเลไต้หวัน ซึ่งเป็นผลงานวิจัยฉบับแรกของไต้หวันที่ได้เผยแพร่ในนิตยสาร Environmental Research Letters ซึ่งเป็นที่เชื่อถือระดับโลกโดยเสนอแนะวิธีการแก้ปัญหาขยะพลาสติกรวมทั้งเสนอหลักฐานอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้ชีวิตในท้องทะเลมีโอกาสได้อยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน

นักวิทยาศาสตร์อาจอาศัยหลักฐานการสำรวจมายืนยันถึงการทำลายระบบนิเวศของขยะทะเลแต่ถ้าเราไปสำรวจทะเลใกล้เคียงแล้วก็จะพบชายหาดที่อยู่ในภาวะวิกฤตขั้นโคม่าทีเดียวปัญหาอยู่ที่ว่าคุณจะมองข้ามมันไปหรือเปล่าก็เท่านั้น
 

ขยะทะเลไม่ใช่ขยะอีกต่อไป กลายเป็นงานศิลปะ
 
ขยะทะเลไม่ใช่ขยะอีกต่อไป กลายเป็นงานศิลปะ

เมื่อต้นปี 2019 O2 Lab ซึ่งได้ย้ายไปปักหลักที่หมู่บ้านหลงเหมิน ตำบลหูซี มีคุณถังไฉ่หลิง (唐采伶) ช่างภาพจากเถาหยวนเป็นผู้รับผิดชอบ เธอพบว่านอกจากวิวทิวทัศน์อันงามตระการตาหาที่เปรียบไม่ได้แล้ว เผิงหูยังถูกรุกล้ำจากขยะทะเลที่ลอยมาพร้อมกับน้ำขึ้นน้ำลงอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย

คุณถังไฉ่หลิงเริ่มลงมือทำความสะอาดชายหาด และประกาศตารางเวลาที่จะทำความสะอาดชายหาดผ่านเฟซบุ๊กของตน ยินดีต้อนรับผู้คนเข้าร่วมกิจกรรมนี้ด้วย ในช่วงแรกของการก่อตั้ง เธอต้องเก็บขยะทะเลริมชายหาดอันเวิ้งว้างสุดลูกหูลูกตาอยู่คนเดียววันแล้ววันเล่า กระทั่งมีอยู่วันหนึ่ง เธอเห็นนักท่องเที่ยว 3 คน เดินมาแต่ไกล พวกเขาเพิ่งลงจากเครื่องบินก็มุ่งสู่ริมชายหาด เพื่อให้กำลังใจแก่คุณถังไฉ่หลิงโดยเฉพาะ “การปรากฏตัวของพวกเขาทำให้ฉันรู้สึกว่า แม้ว่าเราคนเดียวจะมีพลังเพียงน้อยนิด แต่ก็อาจส่งผลต่อบุคคลอื่นได้” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวไต้หวันมักจะเกรงกลัวเสมอว่า การทำความสะอาดชายหาดคนเดียวเป็นการทำตัวคนเดียวแต่ลำพัง  แต่คุณถังไฉ่หลิงรู้สึกว่า “ไม่เป็นไร ฉันเป็นคนนำคนแรกก็แล้วกัน ทำเป็นเพื่อนคุณไปด้วยกัน”

เมื่อว่างเว้นจากการทำความสะอาดชายหาดแล้ว คุณถังไฉ่หลิงยังริเริ่มนำเอาขยะทะเลเหล่านั้นมาแปรรูป ซึ่งเธอบอกว่า “ฉันก็ลองเอาขยะทะเลมาทำให้ดูสวยงามมากขึ้น ดึงดูดผู้คนที่ไม่เคยให้ความสนใจปัญหาขยะทะเลมาก่อน” เธอร่วมกับทีมงานคิดค้นผลงานสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เอาทุ่นลอยมาประดิษฐ์เป็นตัวปลาหมึก ส่วนแหอวนก็เอามาทำเป็นกระเป๋าหิ้ว และยังเคยเอาขยะทะเลมาปรุงแต่งเป็นอาหารขยะทะเลอันโอชะ รวมทั้งยังเอามาประดับต้นคริสต์มาสอีกด้วย

คุณถังไฉ่หลิงกับทีมงานได้สละเวลาและกำลังกายอย่างมหาศาลโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในการทำความสะอาดชายหาด เก็บรวบรวม ล้าง แยก และตากให้แห้ง เพื่อให้ขยะทะเลสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง เช่น เอาเศษพลาสติกมาประดิษฐ์เป็นงานศิลปะ และยังเอาไปใช้เป็นวัสดุในการทำงานฝีมือในโรงเรียนได้อีกด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้ขยะทะเลสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกเท่านั้น แต่เด็กๆ เป็นคนนำเอาขยะเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ด้วยมือของตนเอง ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจยิ่งขึ้น แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านี้ก็คือ การได้สานต่ออุดมการณ์และความตั้งใจจริงของทีมงานที่ต้องการทะนุถนอมสิ่งแวดล้อม
 

“หนังสือภาพขยะทะเล” รวมเอาแนวคิดของเกมโปเกมอนเข้าไปด้วย โดยกำหนดตำแหน่งและค่าพลังชีวิต HP ของขยะทะเล ทำให้เข้าใจประเด็นขยะทะเลได้ง่ายขึ้น (ภาพจาก RE-THINK)

“หนังสือภาพขยะทะเล” รวมเอาแนวคิดของเกมโปเกมอนเข้าไปด้วย โดยกำหนดตำแหน่งและค่าพลังชีวิต HP ของขยะทะเล ทำให้เข้าใจประเด็นขยะทะเลได้ง่ายขึ้น (ภาพจาก RE-THINK)
 

ภาพขยะทะเลนำแฟชั่น

“เราจะเล่าเรื่องราวของขยะทะเลให้คุณฟังด้วย 100 รูปแบบ” คุณหวงจือหยาง (黃之揚) ผู้ก่อตั้ง RE-THINK เล่าให้ฟังว่า RE-THINK ได้เริ่มผลักดันกิจกรรมทำความสะอาดริมหาดรอบเกาะมาตั้งแต่ปีค.ศ.2013 เพื่อให้ผู้คนจำนวนมากขึ้นได้มีโอกาสเข้ามารับรู้และสัมผัส ให้ความสนใจกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในปีค.ศ.2018 RE-THINK ได้เริ่มจัดทำ “ภาพขยะทะเล” ด้วยความตั้งใจเกินร้อย สร้างสตูดิโอขึ้นเอง นำเอาขยะทะเลแต่ละชิ้นมาบันทึกภาพ 360 องศา และนำภาพเหล่านี้ไปแต่งประกอบสีพื้น กลายเป็นสารานุกรมขยะทะเลเล่มแรกของไต้หวัน จนได้รับความสนใจจากหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนของอังกฤษ และยังคว้ารางวัล Best of the Best จาก Red Dot Award ของเยอรมนีด้วย

คุณหวงจือหยาง และทีมงานยังเขียนเรื่องราวให้แก่ขยะทะเลทุกชิ้น ผสมผสานเข้ากับแนวคิดของเกมโปเกมอนที่เคยฮิตสุดๆ โดยนำเอาขยะทะเลเหล่านี้มาสมมติเป็นสัตว์ประหลาดใต้ท้องทะเล ระบุแหล่งที่พบขยะทะเลเหล่านี้ และกำหนดค่าพลังชีวิต HP ของพวกมัน ซึ่งเราพบว่า ขยะทะเลพลาสติกทุกชิ้นไม่อาจสลายตัวได้ แม้เวลาจะล่วงเลยไปถึงนับร้อยปี ขยะทะเลมีเรื่องราวที่น่าสนใจแอบแฝงอยู่ “หนังสือภาพขยะทะเล” (The Illustrated Handbook) ได้เก็บรวบรวมภาพไฟแช็กที่ลอยมาจากมิดเวย์อะทอลล์ (Midway Atoll) ของสหรัฐฯ ซึ่งถูกพบในท้องของนกอัลบาทรอสที่เสียชีวิตเพราะกินมันเข้าไปโดยบังเอิญ และเนื่องจากบนไฟแช็กมีตัวอักษรจีนแบบตัวเต็ม จึงถูกส่งกลับมายังไต้หวัน คุณหวงจือหยางบอกว่า เรื่องราวเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเรื่องผจญภัย แต่หวังว่าผู้ที่ได้ยินจะมีความรู้สึกเป็น “บาป” บ้าง เพราะมันเป็น “บาปที่ทุกคนร่วมกันทำไว้”

เมื่อพิจารณาขยะทะเลอย่างละเอียดจะพบว่าขยะทะเลเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คนอย่างแยกไม่ออกก้าวต่อไปก็คือต้องหันกลับมาพิจารณาว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป
 

O2’s Craft Team ใช้ฝาขวดพลาสติกที่เก็บมาประดับพื้นห้องน้ำแห่งหนึ่ง

O2’s Craft Team ใช้ฝาขวดพลาสติกที่เก็บมาประดับพื้นห้องน้ำแห่งหนึ่ง
 

เชื่อมต่อมนุษย์กับธรรมชาติอีกครั้ง

คุณเจิ้งหมิงซิว ได้เสนอแนวทางในการพิจารณาแก้ปัญหาจากต้นตอ โดยเริ่มจากนโยบาย การศึกษา การปฏิบัติ และการรณรงค์ เขาเสนอ 4 แนวทางสำคัญในการบริหารจัดการท้องทะเล ได้แก่ “แผนประสานสิ่งแวดล้อมกับการตรวจจับความเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิต” “ขนขยะทะเลไปกำจัดบนบก” “แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างประเทศและติดตามร่องรอยขยะทะเล” และ “เสริมความรู้ความเข้าใจต่อสิ่งแวดล้อมให้แก่ประชาชน”

คุณหวงจือหยางได้ขอให้ประชาชนสนับสนุนนโยบายลดการใช้พลาสติกของรัฐบาล และเริ่มจากการแก้นิสัยและลดปริมาณขยะ เมื่อว่างเว้นจากการรณรงค์แล้ว เขาก็ไม่ลืมที่จะเตือนให้ผู้คนควรมีความคิดในลักษณะวิพากษ์ต่อสิ่งที่เรียกว่า “อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม”  อย่างเช่น “ลดปริมาณพลาสติก” คุณหวงจือหยางอธิบายว่า พลาสติกไม่มีความผิด แต่ปัญหาอยู่ที่คนใช้พลาสติก และหลังจากรณรงค์ลดการใช้พลาสติกก็มีการพัฒนาวัสดุอื่นขึ้นมาทดแทนอย่างดาษดื่น แต่วัสดุทดแทนก็มาจากวัตถุดิบหลากชนิด นำมารีไซเคิลได้ไม่ง่าย และยังขาดมาตรการรองรับที่เกี่ยวข้อง ในไต้หวันทำได้แต่เพียงการนำไปเผาทำลาย กลายเป็นปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก

นอกจากนี้ สินค้า “อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” ก็มิใช่ว่าซื้อไปแล้วจะเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การผลิตหลอดดูดสแตนเลสต้องใช้พลังงานจำนวนมหาศาล ผลิตกระดาษก็ต้องใช้น้ำปริมาณมาก และยังมีการวิจัยพบว่า “ถุงผ้าเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก็ต้องใช้อย่างน้อยถึง 131 ครั้ง จึงจะสามารถประหยัดถุงพลาสติกได้ 1 ใบ” เพราะฉะนั้น การลดปริมาณพลาสติกจึงมิใช่อยู่ที่การใช้ถุงผ้าหรือใช้ภาชนะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ประเด็นอยู่ที่ “ความเคยชินในการใช้”

“ลดขยะโดยเริ่มจากการสร้างความไม่สะดวกแก่ตัวเองก่อน โดยการพกพาภาชนะใส่อาหารและกระติกน้ำไปด้วย” คุณถังไฉ่หลิงให้แง่คิดไว้ การเปลี่ยนแปลงจากการปฏิบัติเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาสะสมและส่งผลต่อคนรุ่นเดียวกัน ค่อยๆ ก่อตัวขึ้น เพื่อนๆ รอบข้างของเธอก็เริ่มพกพาภาชนะใส่อาหารและลดขยะกันบ้างแล้ว

ทุ่มเททั้งชีวิตจิตใจและมันสมอง O2 Lab ได้พยายามทำให้การทำความสะอาดชายหาดกลายเป็นกิจกรรมที่ไม่น่าเบื่อ เมื่อเชิญผู้คนมาร่วมทำความสะอาดชายหาดแล้ว ก็จะมีเวลาเหลืออยู่บ้าง ซึ่งจะสามารถร่วมกันชื่นชมสัมผัสชายหาดอันสะอาด บวกกับการเช็คอินของบรรดาเน็ตไอดอลที่กำลังฮิตในปัจจุบัน พวกเขานำเอาขยะทะเลที่เก็บมาจัดเป็นฉากปิกนิก หรืออาจจะเล่นเรือแคนู หรือกิจกรรมประดิษฐ์งานศิลป์ ทำให้กิจกรรม “ปิกนิกท่ามกลางคลื่นทะเล” และ “ทำความสะอาดชายหาดแบบชิลชิล” ถือกำเนิดขึ้น

เจน กูดดอลล์ (Jane Goodall) นักวิจัยพฤติกรรมสัตว์ผู้มีชื่อเสียง เคยกล่าวไว้ว่า “มีเพียงความเข้าใจ เราจึงจะให้ความสนใจ มีเพียงให้ความสนใจ เราจึงจะยื่นมือให้ความช่วยเหลือ มีเพียงแต่การไปช่วยเหลือ พวกเราจึงจะรอดพ้น” ต้องค้นหาความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติให้กลับมาอีกครั้ง แล้วหันกลับมาชื่นชมความงามของชายหาดอันสวยงาม ภายหลังทำความสะอาดแล้ว บางทีเราอาจจะมีคำตอบอยู่ในหัวใจ บางทีอาจจะมีวิธีแก้ไขหายนะจากขยะทะเลแล้วก็เป็นไปได