New Southbound Policy Portal

การประชุมแลกเปลี่ยนด้านพลังงานหมุนเวียนระหว่างไต้หวัน – อังกฤษ ครั้งที่ 14 เปิดฉากขึ้นแล้ว

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. กรมพลังงาน กระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสำนักงานตัวแทนอังกฤษในไต้หวัน ได้ร่วมกันจัด “การประชุมแลกเปลี่ยนด้านพลังงานหมุนเวียน ระหว่างไต้หวัน – อังกฤษ ครั้งที่ 14” (ภาพจากกระทรวงเศรษฐการ)

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. กรมพลังงาน กระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสำนักงานตัวแทนอังกฤษในไต้หวัน ได้ร่วมกันจัด “การประชุมแลกเปลี่ยนด้านพลังงานหมุนเวียน ระหว่างไต้หวัน – อังกฤษ ครั้งที่ 14” (ภาพจากกระทรวงเศรษฐการ)

กระทรวงเศรษฐการ วันที่ 15 พ.ย. 62

 

เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่ผ่านมา กรมพลังงาน กระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสำนักงานตัวแทนอังกฤษในไต้หวัน ได้ร่วมกันจัด “การประชุมแลกเปลี่ยนด้านพลังงานหมุนเวียนระหว่างไต้หวัน – อังกฤษ ครั้งที่ 14” (14 th Taiwan - UK Renewable Energy Conference) ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติ ไทเป โดยนายหลินเฉวียนเหนิง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการไต้หวัน และ Ms. Catherine Elizabeth Nettleton ผู้แทนรัฐบาลอังกฤษประจำไต้หวัน รวมถึงแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน ต่างเข้ามีส่วนร่วมในพิธีเปิดการประชุมฯ ที่สามารถดึงดูดผู้เข้าร่วมจากภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ ภาควิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัย กว่า 200 คน ให้เดินทางมาเข้าร่วม โดยในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการประกาศเปิดตัว “สมาคมส่งเสริมและพัฒนาพลังงานหมุนเวียนอังกฤษในไต้หวัน” ด้วย พร้อมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะร่วมส่งเสริมการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนระยะยาว ร่วมกับผู้ประกอบการไต้หวัน แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ด้านการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน มาเป็นเวลานาน  ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงมิตรภาพอันแข็งแกร่ง ระหว่างไต้หวัน – อังกฤษด้วย


 

รมช. หลินฯ กล่าวขณะปราศรัยในพิธีเปิดว่า ความร่วมมือแลกเปลี่ยนด้านพลังงานหมุนเวียน ระหว่างไต้หวัน – อังกฤษ เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2006 โดยกรมพลังงานและสำนักงานตัวแทนอังกฤษในไต้หวัน เป็นผู้ริเริ่มในการจัดตั้งขึั้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน นโยบาย และการวางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน ตราบจนปัจจุบัน ความร่วมมือดังกล่าวได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 13 ด้วยความมั่นคงยาวนาน ซึ่งภายในระยะเวลาที่ผ่านมา นอกจากได้จัดตั้งเวทีการบรรยาย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานหมุนเวียนแล้ว ยังได้ประสานความร่วมมือเชิงปฏิบัติ ในการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีระหว่างกันอีกด้วย


 

รมช. หลินฯ ชี้ว่า ผลสำเร็จจากความร่วมมือแลกเปลี่ยนระหว่างไต้หวัน – อังกฤษ ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 14 แล้ว และได้รวมถึงการส่งเสริมการทำฟาร์มผลิตไฟฟ้า ด้วยพลังงานลมนอกชายฝั่งแห่งแรกของไต้หวัน ที่แล้วเสร็จไปเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยรัฐบาลไต้หวัน หวังจะส่งเสริมการพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่ง ให้เกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ววัน ดังนั้นในปีนี้ จึงได้เชิญเจ้าหน้าที่จากภาครัฐของอังกฤษ และตัวแทนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ให้เดินทางมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ไต้หวันด้วย


 

โดยผู้แทน Catherine เน้นย้ำว่า ในปัจจุบัน อังกฤษมีกำลังการผลิตพลังงานลมนอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมีประสบการณ์การมุ่งพัฒนาอย่างมากมาย จึงยินดีที่จะร่วมมือกับไต้หวัน ในการพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่ง ดังนั้นในการประชุมครั้งนี้ Mr. den Rooijen ประธานกรรมการบริหารสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (Crown Estate) จึงได้นำคณะตัวแทนจากบริษัท ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่ง กว่า 30 ราย เดินทางมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ประกอบการชาวไต้หวัน พร้อมคาดหวังว่าจะร่วมเสริมสร้างโอกาสธุรกิจ ด้านอุตสาหกรรมพลังงานสีเขียวระหว่างกัน


 

การประชุมครั้งนี้ เปิดฉากขึ้นด้วยการแสดงปาฐกถาในหัวข้อพิเศษ ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐของไต้หวันและอังกฤษในช่วงเช้า ก่อนจะต่อด้วย “การสัมมนาด้านพลังงานลมนอกชายฝั่ง” ในช่วงบ่าย โดยมีกำหนดการจัดกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจระหว่างกัน เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในประเทศ และบริษัทชั้นนำที่เกี่ยวข้องของอังกฤษ ได้มีโอกาสติดต่อและประสานความร่วมมือระหว่างกันในระยะยาว อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างศักยภาพ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพลังงานลม ให้กับผู้ประกอบการไต้หวันด้วย


 

กรมพลังงานแถลงว่า อังกฤษมีกำลังการผลิตพลังงานลมนอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยเทคโนโลยีวิศวกรรมที่สมบูรณ์ และมีประสบการณ์เชิงปฏิบัติที่เพียบพร้อม จึงถือได้ว่าอังกฤษเป็นหุ้นส่วนที่ดีที่สุด ของการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่งของไต้หวัน  และจากการประชุมในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เสริมสร้างความร่วมมือแลกเปลี่ยนระหว่างกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งจากประสบการณ์ของอังกฤษ จะช่วยสร้างเสริมสภาพแวดล้อมที่ดี ให้กับการพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่งของไต้หวัน อันจะเป็นการส่งเสริมให้ฟาร์มผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่ง เกิดประสิทธิภาพที่ดีต่อไป อันจะเป็นการช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ให้กับพลังงานสีเขียวมากขึ้น และนำไปสู่การบรรลุเป้าหมาย การปรับเปลี่ยนโครงสร้างพลังงาน รวมถึงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ในอนาคตต่อไป