New Southbound Policy Portal

ไทยร่วมเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือ ในมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค ของมูลนิธิผู้บริโภคไต้หวัน

นายเฉินจื้ออี้ (ซ้าย) รองประธานกรรมการมูลนิธิผู้บริโภคไต้หวัน ร่วมลงนาม MOU ว่าด้วยการจัดการเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคข้ามพรมแดน กับคุณสารี อ๋องสมหวัง เลขานุการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคของไทย เมื่อวันที่ 25 พ.ย. ที่ผ่านมา ณ กรุงไทเป (ภาพจากมูลนิธิผู้บริโภคไต้หวัน)

นายเฉินจื้ออี้ (ซ้าย) รองประธานกรรมการมูลนิธิผู้บริโภคไต้หวัน ร่วมลงนาม MOU ว่าด้วยการจัดการเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคข้ามพรมแดน กับคุณสารี อ๋องสมหวัง เลขานุการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคของไทย เมื่อวันที่ 25 พ.ย. ที่ผ่านมา ณ กรุงไทเป (ภาพจากมูลนิธิผู้บริโภคไต้หวัน)

มูลนิธิผู้บริโภค วันที่ 25 พ.ย. 62

 

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. มูลนิธิผู้บริโภค สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) (Consumers' Foundation, Chinese Taipei) แถลงว่า ทางมูลนิธิฯ กับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (FFC) ของไทย ได้ร่วมลงนาม “บันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการจัดการเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคข้ามพรมแดน” (Signing Ceremony for the MOU on Cross Border Consumer Complaints Handling) อย่างเป็นทางการ เพื่อให้บริการแก่ผู้บริโภคระหว่างประเทศ ที่เดินทางเข้า – ออก ระหว่างไทย – ไต้หวัน แจ้งเรื่องร้องเรียน ผ่านช่องทางการร้องเรียนอย่างเป็นทางการ


 

โดยมูลนิธิผู้บริโภค ระบุว่า องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคของไทย ถือเป็นประเทศที่ 5 ในภูมิภาคเอเชีย ที่ได้ประสานความร่วมมือกับไต้หวัน ต่อเนื่องจากญี่ปุ่น มาเก๊า เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ เพื่อร่วมเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ในหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งถือได้ว่าเป็นผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง


 

ทั้งนี้ มูลนิธิผู้บริโภค เผยว่า นักท่องเที่ยวไต้หวัน – ไทย เดินทางไปมาหาสู่กันเป็นประจำ เมื่อปีที่แล้ว คนไต้หวันที่เดินทางไปท่องเที่ยวที่ไทย มีจำนวน 679,145 คนครั้ง ส่วนนักท่องเที่ยวไทย ที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไต้หวัน มีจำนวน 320,008 คนครั้ง เมื่อผู้บริโภคประสบกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค เมื่อเดินทางออกนอกประเทศแล้ว และไม่สามารถจัดการกับปัญหาได้ เนื่องจากขาดประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง ความแตกต่างเรื่องภาษาและวัฒนธรรม รวมถึงข้อจำกัดทางด้านกฎหมายที่ให้การคุ้มครอง ล้วนเป็นอุปสรรคทั้งสิ้น นอกจากนี้ ในระหว่างที่ผู้บริโภคหาทางแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ก็มักจะขาดคำชี้แนะและความช่วยเหลือ ที่ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ แม้ว่าจะพยายามอย่างสุดกำลังแรงกาย และแรงใจแล้วก็ตาม


 

นอกจากนี้ มูลนิธิผู้บริโภค ได้ชี้แจงว่า ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทางมูลนิธิฯ ได้พยายามขยายกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชีย จึงได้เร่งผลักดันการร่วมลงนาม MOU ว่าด้วยการจัดการเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคข้ามพรมแดน โดยไต้หวันได้ร่วมจัดตั้งกลไกความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือนานาชาติ เพื่อรับมือและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับ เรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคระหว่างประเทศ ได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ตราบจนปัจจุบัน เครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชีย ที่ประสานความร่วมมือระดับนานาชาติ โดยมูลนิธิผู้บริโภคไต้หวัน บังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่เด่นชัด ในระดับหนึ่งแล้ว


 

ท้ายสุด มูลนิธิผู้บริโภคแถลงว่า ยินดีต้อนรับการมาเยือนของตัวแทนมูลนิธิ FFC ของไทย เพื่อร่วมลงนาม MOU ระหว่างกัน ทั้งนี้ FFC ของไทย ย่อมาจาก Foundation for Consumers หรือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1996 เป็นองค์การไม่แสวงหาผลกำไร เช่นเดียวกับมูลนิธิผู้บริโภคไต้หวัน โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลุ่มประชาสังคม องค์กรภาคการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ได้ประสานความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภค ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภค ตลอดจนสนับสนุนบทบาทสำคัญของกลุ่มผู้บริโภคในสังคม