New Southbound Policy Portal

อาจารย์และนักศึกษา TCUST เดินทางไปฝึกงานจิตอาสาในประเทศไทย ใช้เครื่องดนตรีจีนเป็นสื่อกลางส่งต่อความอบอุ่น

นักศึกษาชมรมดนตรีจีนของ TCUST เดินทางไปจัดการแสดง และให้ความช่วยเหลือ ในการตรวจสุขภาพแก่ผู้ลี้ภัยที่ประเทศไทย (ภาพจาก TCUST)

นักศึกษาชมรมดนตรีจีนของ TCUST เดินทางไปจัดการแสดง และให้ความช่วยเหลือ ในการตรวจสุขภาพแก่ผู้ลี้ภัยที่ประเทศไทย (ภาพจาก TCUST)

TCUST วันที่ 28 พ.ย. 62

 

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฉือจี้ (Tzu Chi University of Science and Technology, TCUST) แถลงว่า อาจารย์และนักศึกษาของ TCUST จำนวน 20 คน มีกำหนดการเดินทางไปฝึกงานจิตอาสาในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 23 พ.ย. - 1 ธ.ค. ซึ่งนอกจากจะให้บริการตรวจสุขภาพแก่ ผู้ลี้ภัยชาวต่างชาติในกรุงเทพฯ ฟรีแล้ว ยังให้บริการแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือถึงที่พักอาศัย ประชาสัมพันธ์ด้านสุขอนามัยในชุมชน และร่วมแลกเปลี่ยนกับโรงเรียนฉือจี้ เชียงใหม่ โรงเรียนจีนจงเจิน บ้านยาง โรงเรียนจีนชุมชนบ้านสุขฤทัย และโรงเรียนมัธยมศึกษาอี้ซิน อีกด้วย


 

โดย TCUST ระบุว่า ตามรายงานของสหประชาชาติ เผยว่า ในทุกปีจะมีผู้ลี้ภัยชาวต่างชาติที่หลงเหลืออยู่ในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนกว่า 7,000 – 9,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากปากีสถาน กัมพูชา และอีก 40 กว่าประเทศ ระหว่างรอเดินทางไปลี้ภัยในประเทศที่ 3 เนื่องจากไม่มีบัตรประชาชน และอุปสรรคด้านภาษา จำเป็นต้องพึ่งพาการรักษาพยาบาลจากทีมแพทย์อาสาฉือจี้ โดยชาวพุทธฉือจี้นอกจากจะช่วยฝึกอบรมบรรดาผู้ลี้ภัย ให้มีทักษะการนวดเพื่อประกอบอาชีพแล้ว ยังช่วยออกค่าใช้จ่ายด้านการแปลภาษา เพื่อขจัดอุปสรรคด้านภาษา ในขณะที่แพทย์ซักประวัติและถามอาการ


 

ภายในบริเวณคลินิกผู้ลี้ภัย นักศึกษา TCUST ได้จัดแสดงดนตรี ต่อเนื่อง 4 ชั่วโมง และได้บรรเลงเพลงที่สอดคล้องกับเทศกาลคริสต์มาส ทำให้ผู้ลี้ภัยได้สัมผัสกับกลิ่นอายของเทศกาลแห่งความสุข มีผู้ลี้ภัยชาวปากีสถานคนหนึ่งยกนิ้ว พร้อมพูดว่า “ยอดเยี่ยมมาก” (Very good) ส่วนนักศึกษาอีกกลุ่มได้ช่วยเหลือดำเนินการด้านธุรการต่างๆ อาทิ ถ่ายเอกสารบัตรประจำตัวผู้ลี้ภัย ตรวจสอบข้อมูล จัดจำแนกเวชระเบียน ส่งใบสั่งยา และช่วยดูแลเด็กเล็ก เป็นต้น โดยนายชิวเตี้ยน นักศึกษา TCUST กล่าวว่า ตนรู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก ที่ได้ใช้ดนตรีเป็นสื่อกลางในการสานปฏิสัมพันธ์กับผู้ลี้ภัย ซึ่งเสียงดนตรีสามารถช่วยให้พวกเขารู้สึกผ่อนคลาย จากความเครียดและความวิตกกังวลได้ชั่วขณะ


 

นอกจากนี้ ในจังหวัดเชียงใหม่ มีนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่เข้าเรียนหลักสูตรภาษาไทยในตอนกลางวัน ส่วนช่วงค่ำประมาณ 18:00 – 20:00 จะเป็นหลักสูตรเสริมทักษะภาษาจีน ซึ่งการเรียนรู้ภาษาเพิ่มเติมอีกหนึ่งภาษา ถือเป็นการยกระดับศักยภาพในการประกอบอาชีพให้พวกเขาในภายภาคหน้า การแสดงเครื่องดนตรีจีนของอาจารย์และนักศึกษา TCUST ในครั้งนี้ เป็นโอกาสที่หาดูได้ยาก ทางโรงเรียนจีนจงเจิน บ้านยาง จึงได้รวบรวมนักเรียนทั้งโรงเรียน กว่า 400 คน มาร่วมรับฟังการแสดงดนตรีที่ไพเราะเสนาะหู บรรยากาศในงานเป็นไปอย่างคึกคัก


 

หวงเฉิงเจวียน นักศึกษา TCUST กล่าวว่า นักเรียนในพื้นที่ภาคเหนือ ใช้ภาษาจีนสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว โดยตนคาดไม่ถึงว่าการเสริมทักษะภาษาจีน เพียงวันละ 2 ชั่วโมง จะทำให้พวกเขาเปี่ยมด้วยศักยภาพ ด้านภาษาที่สมบูรณ์พร้อม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขาขยันหมั่นเพียรในการศึกษามาก ตู้หมิ่นเหว่ย นักศึกษาอีกคนของ TCUST เสริมว่า ฐานะทางบ้านของตนค่อนข้างยากจน ประกอบกับยังมีผู้พิการในครอบครัวที่ต้องดูแล ทำให้เกิดความรู้สึกเหนื่อยล้าอยู่บ่อยครั้ง แต่การมาเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ ถึงตระหนักได้ว่า ชีวิตของตนมีพร้อมทั้งอาหาร เครื่องนุ่งห่มและที่อยู่อาศัย ทั้งยังมีโอกาสได้ร่ำเรียนหนังสือ ไม่ได้แย่เกินไป พร้อมกล่าวว่า “ฉันอยากจะนำความรู้สึกตื้นตันเหล่านี้ แปรเป็นแรงขับเคลื่อน ในการช่วยเหลือผู้คนให้มากขึ้น”


 

ทางด้านสมาชิกชมรมดนตรีจีน ที่มาร่วมจัดแสดงในครั้งนี้ ส่วนใหญ่มาจากคณะพยาบาลศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์และการจัดการสุขภาพ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการบริหารจัดการ ส่วนเครื่องดนตรีที่นำใช้แสดง ประกอบด้วย พิณผีผา แคนจีนแบบดั้งเดิม วิโอลอนเชลโล ซอเอ้อหู รวม 10 กว่าประเภท โดยเครื่องดนตรีเหล่านี้ ขนย้ายและจัดการดูแลด้วยตัวนักศึกษาเอง


 

ทั้งนี้ นักศึกษา TCUST กล่าวว่า อาสาสมัครของ TCUST ไม่เพียงแต่มอบความช่วยเหลือ ให้ผู้ต้องการเพียงอย่างเดียว ระหว่างการให้บริการทางสังคม ยังได้สังเกตความต้องการของอีกฝ่าย เพื่อส่งมอบความช่วยเหลือที่เหมาะสม และใช้โอกาสนี้ ในการขยายการเรียนรู้ไปสู่นานาชาติอีกด้วย