New Southbound Policy Portal

ฟอร์โมซาคือบ้านของฉัน จังหวะ Scherzo ของ Rolf-Peter Wille

Rolf-Peter Wille และภรรยา ยกเปียโนไปเปิดการแสดงตามท้องถนนในกรุงไทเป ทั้งคู่ใช้การแสดงเปียโนสี่มือที่ยอดเยี่ยมดึงดูดความสนใจจากผู้คนรอบข้าง (ภาพจาก: เย่ลวี่น่า)

Rolf-Peter Wille และภรรยา ยกเปียโนไปเปิดการแสดงตามท้องถนนในกรุงไทเป ทั้งคู่ใช้การแสดงเปียโนสี่มือที่ยอดเยี่ยมดึงดูดความสนใจจากผู้คนรอบข้าง (ภาพจาก: เย่ลวี่น่า)
 

แน่นอนที่สุด ในฐานะของคนที่มาจากต่างแดน ผมไม่อาจพูดได้อย่างเต็มปากว่า ผมคือคนที่อาศัยอยู่บนเกาะ ไต้หวันแห่งนี้เป็นเวลายาวนานมากที่สุด แต่ช่วงเวลา 30 ปีที่ไม่เคยห่างหายไปไหน ถือได้ว่าไม่เลวนัก เพราะเมื่อเทียบกันแล้ว โรบินสัน ครูโซเองก็เดินทางออกจากเกาะร้างที่ถูกสมมุติขึ้น หลังติดอยู่บนเกาะแห่งนั้นเป็นเวลานานกว่า 28 ปีเท่านั้นเอง

Rolf-Peter Wille《เรื่องที่เติมแต่งและเรื่องจริงของฟอร์โมซา》

 

ปี 1978 Rolf-Peter Wille ออกเดินทางผจญภัยแบบเดียวกับโรบินสัน ครูโซ หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Hanover University of Music, Drama and Media ในวัย 24 ปีเต็ม เขาเดินทางมายังไต้หวัน ดินแดนที่ไม่คุ้นเคยและแสนห่างไกลแห่งนี้

หรืออาจเป็นเพราะว่า มีมูลเหตุมาจากการที่ภรรยาของเขา ยืนกรานที่จะกลับมาอาศัยอยู่ในไต้หวันกันแน่ ก็ไม่ใช่อีกเช่นกัน แต่ ณ ขณะนั้น ตัวเขาเองต่างหากที่ต้องการจะมาที่ไต้หวัน เย่ลวี่น่า (葉綠娜) นักดนตรีคู่ชีวิตของ Rolf-Peter Wille และเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนของเขาบอกเล่าเรื่องราวที่แท้จริง

แม้ว่าสภาพแวดล้อมทางด้านดนตรีในไต้หวัน อาจจะเทียบไม่ได้กับยุโรปตะวันตก อันเป็นต้นกำเนิดของดนตรีคลาสสิก ที่คึกคักและสมบูรณ์แบบก็ตาม แต่เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าในยุโรปตะวันตก ที่มีการพัฒนามานาน แม้จะเป็นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ตลาดดนตรีที่นั่นก็ถึงจุดอิ่มตัวมานานแล้ว ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่บัณฑิตจบใหม่ จะมีโอกาสสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย

เมื่อหันไปมองสภาพแวดล้อมทางด้านดนตรีของไต้หวันในสมัยนั้น เปรียบเสมือนดินแดนที่ยังบริสุทธิ์ต่อดนตรีคลาสสิก โดยเพิ่งจะเริ่มต้นใหม่ ยังต้องการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีและให้นักดนตรีได้รับอิสระในการสร้างสรรค์ผลงาน ทำให้ผู้คนมีความคาดหวังในอนาคตเป็นอย่างมาก 

ด้วยเหตุนี้เอง หลังแต่งงาน Rolf-Peter Wille จึงถือโอกาสเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล เริ่มอาชีพสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยในไต้หวัน

แม้ว่ายุโรปและเอเชียจะไม่ได้ห่างไกลกันมากนัก ประกอบกับลักษณะพิเศษในอาชีพของการเป็นนักดนตรี ที่มักจะต้องเดินทางไปทั่วโลกจนเป็นเรื่องปกติ และอย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อน  นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา Rolf-Peter Wille ไม่เคยเดินทางกลับไปพักอาศัยอยู่ที่เยอรมนีเป็นเวลานานๆ อีกเลย อย่างมากก็จะอาศัยอยู่ชั่วคราว เป็นเวลาเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น ในอีกแง่หนึ่งก็คือ เขาคิดว่าไต้หวันคือบ้านที่แท้จริงของเขา

หลังจากนั้น ในเดือนกรกฎาคม ปีค.ศ.2018 เขาได้รับบัตรประชาชนไต้หวัน จากสำนักงานทะเบียนราษฎร์เขตต้าอันของกรุงไทเป ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านของเขา และถือว่าเขาได้เป็นพลเมืองไต้หวันอย่างถูกต้องและสมบูรณ์
 

Rolf-Peter Wille นำเอาสิ่งที่เขาพบเห็นและความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ประจำวันของเขาในไต้หวันมาสร้างสรรค์เป็นบทเพลงที่กินใจผู้คน ก้าวข้ามอุปสรรคที่เกิดจากภาษาที่แตกต่าง

Rolf-Peter Wille นำเอาสิ่งที่เขาพบเห็นและความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ประจำวันของเขาในไต้หวันมาสร้างสรรค์เป็นบทเพลงที่กินใจผู้คน ก้าวข้ามอุปสรรคที่เกิดจากภาษาที่แตกต่าง
 

ชาวเยอรมันคนหนึ่งที่อยู่ในไต้หวัน

จากที่เคยเป็นคนต่างถิ่นคนหนึ่ง ชีวิตของ Rolf-Peter Wille ในขณะที่เขาอยู่ในไต้หวันกลับเต็มไปด้วยเรื่องน่าอัศจรรย์มากมาย (หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นความไม่คุ้นชิน) “ตอนที่ยังเป็นวัยรุ่น อะไรก็สามารถทนได้” จู่ๆ เขาก็พูดประโยคดังกล่าวออกมา จนผู้คนอดที่จะหัวเราะไม่ได้

เรื่องที่แตกต่างกันมากที่สุด คือคนเยอรมันเคร่งครัดเรื่องเวลาและความเป็นส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ส่วนตัวหรือสาธารณะ

เย่ลวี่น่ามีความเข้าใจในความเป็นอยู่และประเพณีที่แตกต่างกัน ของทั้งสองประเทศเป็นอย่างดี “อย่างบ้านของคนเยอรมัน ข้าวของในบ้านจะต้องวางในตำแหน่งเป็นที่เป็นทางให้ถูกต้อง แม้จะเป็นเด็กก็ไม่สามารถจะวางของ ตามอำเภอใจได้” แต่สำหรับคนไต้หวันที่มีนิสัย มักชอบทำตามความพอใจของตนแล้ว นับว่าเป็นเรื่องที่ยากจะจินตนาการได้

เนื่องจากเขาทำงานเกี่ยวกับการศึกษาด้านดนตรี จึงมักมีนักเรียนมาเรียนเปียโนที่บ้านอยู่เป็นประจำ Rolf-Peter Wille หวนนึกถึงความหลัง มีอยู่ครั้งหนึ่งมีผู้ปกครองพานักเรียนมาเรียนเปียโน “ผู้ปกครองคนนั้นเอาแต่พูดว่า คุณครูไม่ต้องดูแลอะไรนะ” หลังจากนั้นผู้ปกครองคนนั้น ก็ตรงไปเปิดตู้เย็นในบ้านของเขา” Rolf-Peter Wille กล่าวว่า “ถ้าทำแบบนี้ในเยอรมนีล่ะก็ สามารถเรียกตำรวจจับได้เลย”

กล่าวกันว่าแนวคิดเกี่ยวกับพื้นที่ส่วนตัว และพื้นที่สาธารณะของคนเยอรมันนั้น เริ่มตั้งแต่การเข้าเรียนในชั้นประถมศึกษา ซึ่งจะต้องมีความเข้าใจในบ้านที่ตัวเองอาศัย รวมถึงพิกัดที่ตั้ง ภูมิศาสตร์ อุทกศาสตร์ และถนนหนทาง เป็นต้น ราวกับว่าการที่ไม่รู้ตำแหน่งของตัวเอง ว่าอยู่ส่วนไหนของโลก ก็ไม่สามารถจะตั้งหลักปักฐานหรือรกรากได้เลย  

Rolf-Peter Wille ยึดจิตวิญญาณดังกล่าว มาปรับใช้เข้ากับสภาพของไต้หวัน เขาใช้เขตต้าอันในกรุงไทเป ซึ่งเป็นถิ่นที่พักอาศัยของเขา เป็นฐานในการเริ่มต้น ขี่จักรยานซอกซอนไปตามตรอกซอกซอยต่างๆ และทำเป็นแผนที่ขึ้นมา ทำเครื่องหมายจุดที่มีเส้นทางที่สำคัญ และจดจำอยู่ในใจ “ผมพบว่าลักษณะรูปร่างของเขตต้าอัน มีความคล้ายคลึงกับพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งปรัสเซีย ของประเทศเยอรมนี” เขาหยิบภาพวาดที่เขาวาดเองกับมือออกมาให้ดู ถ้ามองผ่านแบบเผินๆ จะมีส่วนที่คล้ายกันอยู่ไม่น้อย
 

Rolf-Peter Wille และภรรยาร่วมกันจัดแสดงละครเพลง โดยนอกจากจะมีการแสดงบรรเลงดนตรีแล้ว ยังนำบทพูดมาประกอบราวกับเพลงประกอบภาพยนตร์ ช่วยสร้างบรรยากาศในการแสดงได้อย่างเต็มอิ่ม

Rolf-Peter Wille และภรรยาร่วมกันจัดแสดงละครเพลง โดยนอกจากจะมีการแสดงบรรเลงดนตรีแล้ว ยังนำบทพูดมาประกอบราวกับเพลงประกอบภาพยนตร์ ช่วยสร้างบรรยากาศในการแสดงได้อย่างเต็มอิ่ม
 

มองไต้หวันด้วยอารมณ์ขัน

เฉกเช่นเดียวกับชาวเยอรมันอีกหลายต่อหลายคน ในยามที่ใบหน้าของ Rolf-Peter Wille ไม่ปรากฏรอยยิ้ม โครงหน้ากระดูกที่ชัดเจนจึงดูแข็งกระด้าง ดูดุดันอย่างยิ่ง แต่เมื่อเขาพูดคุยขึ้นมา ทั้งภาษาจีนสำเนียงต่างชาติที่ผสมปนเปกับภาษาเยอรมันและอังกฤษ กลับพูดได้อย่างคมคายและไหลลื่น แถมยังมีความเข้าใจถึงความตลกขบขันของการใช้ภาษาที่แฝงอยู่ในหนังสือเป็นอย่างดี เปรียบเหมือนกับคำกล่าวที่ว่า “งานเขียนคือภาพสะท้อนของผู้เขียน” อย่างแท้จริง  

เนื่องจากความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่ค่อนข้างมาก Rolf-Peter Wille เองก็เคยปล่อยไก่อยู่หลายครั้งหลายครา โดยเฉพาะเรื่องของภาษาจีน ที่ถือว่าเป็นเรื่องที่ทำให้คนต่างชาติรู้สึกปวดเศียรเวียนเกล้าอยู่ไม่น้อย บ่อยครั้งจึงเป็นเรื่องของความเข้าใจผิด ในการสื่อสาร  Rolf-Peter Wille จำได้ว่า “มีครั้งหนึ่งนั่งคุยอยู่กับเพื่อน พูดกันว่าหลังแต่งงาน มีเรื่องมากมายที่ต้อง “妥協” (อ่านว่า ถั่วเสีย แปลว่า ถ้อยทีถ้อยอาศัยและประนีประนอม) กัน ตอนนั้นเขาถามกลับไปว่า หลังแต่งงานทำไมจึงต้อง “脫鞋” (อ่านว่า ทัวเสีย แปลว่า ถอดรองเท้า) 

ความตื่นเต้นและการกระทบกระทั่งกัน มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ จากวัฒนธรรมที่แตกต่าง ด้วยความที่ Rolf-Peter Wille เป็นคนที่มีอารมณ์ขัน จึงกลายเป็นความประหลาดใจ ที่เกิดขึ้นในชีวิตครั้งแล้วครั้งเล่า

สามีภรรยาคู่นี้ยังมีความชอบในของเก่าเหมือนกัน ภายในบ้านของ Rolf-Peter Wille และเย่ลวี่น่าเต็มไปด้วยโบราณวัตถุจำนวนมาก ที่จัดวางอย่างละลานตา เช่น ประตูวัดที่วาดเป็นภาพเทพเจ้าแห่งประตู “โต๋วก่ง” หรือขื่อรับน้ำหนักระหว่างเสากับหลังคา ซึ่งทำด้วยฝีมืออันประณีตงดงาม ชั้นหนังสือโบราณแบบแบ่งช่องวางหลายๆ ช่อง และเทวรูป ตุ๊กตาหุ่น และประติมากรรมรูปสัตว์อีกจำนวนมาก เมื่อเปรียบกับบ้านของครอบครัวชาวไต้หวันดั้งเดิมแล้ว ดูจะเต็มไปด้วยกลิ่นอายแบบโบร่ำโบราณมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ของสะสมที่มีจำนวนมากที่สุด ดึงดูดความสนใจมากที่สุด ขณะเดียวกันยังเรียกเสียงหัวเราะจากผู้คนได้ด้วย นั่นก็คือ โถปัสสาวะที่มีมากกว่า 30 ใบ

Rolf-Peter Wille รวบรวมเอาโถปัสสาวะที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วบ้าน นำมาวางจัดแสดงไว้รวมกัน ราวกับเป็นของตกแต่งบ้าน “ภาพที่อยู่บนโถใบนี้มีความพิเศษมาก” เขาชี้ไปที่ลวดลายสีฟ้าขาว ที่ถูกวาดอย่างประณีตงดงาม และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเกิดความสนใจและอยากจะเก็บสะสมเป็นพิเศษ

Rolf-Peter Wille ย้อนนึกไปถึงการเริ่มต้นในการเก็บสะสมที่เกิดจากความไม่ตั้งใจของเขา “มันเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึง ตอนนั้นเราไปที่ไถหนาน และได้พบกับเจ้าของร้านขายของเก่าเข้า เขาเอาแต่รบเร้าให้ผมซื้อของของเขา น่ารำคาญมาก ผมจึงชี้ไปที่เครื่องเคลือบลายครามสีฟ้าขาวและถามไปว่า มีโถปัสสาวะที่มีลวดลายแบบเดียวกันนี้ไหม ปรากฏว่ามีจริงด้วย เขาจึงซื้อกลับมา” พอข่าวเช่นนี้เผยแพร่ออกไป จึงมีทั้งคนที่เอามามอบให้เขาเลยก็มี บ้างก็ลองเอามาขาย ทำให้หลายสิบปีที่ผ่านมา สะสมจำนวนมากขนาดนี้โดยไม่รู้ตัว

ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา รสชาติต่างๆ ทั้งเปรี้ยวหวานมันเค็มและเผ็ดร้อนของการใช้ชีวิตในต่างแดน ค่อยๆ แทรกซึมเข้าไปอยู่ในจิตใจเขา แต่ถ้าหากให้บอกว่ามีเรื่องที่ทำให้เขาเสียใจบ้างหรือไม่ Rolf-Peter Wille ตอบคำถามด้วยใบหน้าที่ดูเย็นชาเหมือนปกติว่า “ตอนที่มาใหม่ๆ ก็ไม่คิดว่าจะอาศัยอยู่ที่นี่ ทุกครั้งที่มีเรื่อง ทั้งที่เหนือความคาดหมาย และสนุกมากๆ เกิดขึ้น ก็มักจะคิดเสมอว่า ไว้เวลากลับไปที่เยอรมนี ก็สามารถเอามาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังได้” แต่ด้วยสถานะของเขาที่เปลี่ยนไป เขาได้แสดงความรู้สึกเสียใจออกมา “ท้ายที่สุด ตอนนี้คงไม่ได้ไปแล้วล่ะ” เพราะในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นไต้หวันหรือเยอรมนี ก็คือ “การได้กลับบ้าน” เหมือนกัน
 

หลังจากที่ได้รับบัตรประชาชนไต้หวันแล้ว เท่ากับว่าแผนการที่วางไว้ในอนาคตที่จะอาศัยอยู่ที่ไต้หวันจนแก่เฒ่าของ Rolf-Peter Wille มีหลักประกันมากขึ้น

หลังจากที่ได้รับบัตรประชาชนไต้หวันแล้ว เท่ากับว่าแผนการที่วางไว้ในอนาคตที่จะอาศัยอยู่ที่ไต้หวันจนแก่เฒ่าของ Rolf-Peter Wille มีหลักประกันมากขึ้น
 

ชาวเยอรมัน ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ลงหลักปักฐานในไต้หวัน

เดือนตุลาคม 2016 คือวันแห่งการรอคอยที่รัฐบาลไต้หวันแก้ไขกฎหมาย โดยยอมรับการมีสองสัญชาติ สำหรับชาวต่างชาติที่มีคุณูปการเป็นพิเศษต่อไต้หวัน ชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อย จึงเริ่มมุ่งมั่นที่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งของไต้หวัน

กระนั้นก็ตาม เดิม Rolf-Peter Wille คิดว่าอยากจะขอสัญชาติโดยใช้สถานะของผู้เชี่ยวชาญในระดับสูง แต่เนื่องจากต้องผ่านการสอบด้านภาษาที่เข้มงวด จึงเกิดความลังเล เลยเลื่อนแล้วเลื่อนอีกไม่มีกำหนด

เขาหยิบหนังสือตัวอย่างข้อสอบเล่มหนา ที่ทำขึ้นเองออกมาโชว์ให้ดู แสดงให้เห็นว่าเส้นทางของการขอสัญชาตินั้นไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายเลย ผู้สมัครทั่วไปจะต้องทำคะแนนให้ได้มากกว่า 60 ขึ้นไป จึงจะถือว่าสอบผ่าน

Rolf-Peter Wille เป็นคนที่ชอบทำอะไรอย่างเป็นระบบและมีลำดับขั้นตอน เขานำเอาคำถามต่างๆ พิมพ์ออกมา แล้วจดบันทึกสัญลักษณ์ช่วยการอ่านออกเสียง โทนเสียง และคำตอบลงไปทีละข้อ นอกจากนี้ เขายังบันทึกเทปแต่ละคำถามเอาไว้ด้วย ในตอนฝึกทบทวน เขาอาศัยการเคลื่อนไหวของร่างกายด้วยการใช้มือทำท่าทางต่างๆ และใช้ความพยายามอย่างมาก ในการคิดหาวิธีที่จะทำให้สามารถจดจำโทนเสียงต่างๆ ในภาษาจีน ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับชาวต่างชาติ

นับว่าเป็นความโชคดีที่เขาพบในภายหลังว่า ทั้งเขาและภรรยาเคยมีความเชี่ยวชาญ ในเรื่องของการเล่นเปียโนคู่ และทั้งคู่ยังเคยได้รับรางวัลด้านศิลปวัฒนธรรมระดับชาติมาแล้ว เขาจึงยื่นเรื่องขอสัญชาติ โดยใช้เงื่อนไขพิเศษของการเป็นบุคคล ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับไต้หวันแทน จึงไม่จำเป็นต้องผ่านการสอบ และหลังจากที่เตรียมเอกสารครบถ้วน เขาก็ได้รับบัตรประชาชนในเวลาอันรวดเร็วเพียง 10 วันเท่านั้น

เนื่องจากเขาและภรรยาจัดแสดงคอนเสิร์ตร่วมกัน มาเป็นเวลานาน การเล่นเปียโนคู่ของทั้งสอง ได้กลายเป็นภาพที่ผู้ชมจดจำและคุ้นเคยเป็นอย่างดี สองสามีภรรยานักเปียโนที่มีความรักให้กันและกันอย่างสุดซึ้งคู่นี้ เริ่มต้นการแสดงของพวกเขา ตามท้องถนนในกรุงไทเป และพวกเขายังเคยยกเปียโนขึ้นไปจัดแสดงบนอวี้ซันหรือภูเขาหยก (玉山) ยอดเขาที่สูงที่สุดในไต้หวัน รวมทั้งจัดแสดงเปียโนที่บริเวณด้านหน้าของต้นไม้คู่สามีภรรยา จุดชมวิวที่มีชื่อเสียงโด่งดังของภูเขาอาลีซัน (阿里山) ด้วย

พวกเขาบอกว่า การเล่นเปียโนสี่มือและการเล่นเปียโนคู่หรือเปียโนสองหลังพร้อมกันนั้น ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว การเล่นเปียโนสี่มือ จะต้องเล่นเปียโนหลังเดียวกัน ซึ่งอยู่บนข้อจำกัดของแป้นโน้ต คันเหยียบก็มีเพียงชุดเดียว บางครั้งต้องมีการโอนอ่อนผ่อนตามซึ่งกันและกัน ส่วนการเล่นเปียโนคู่ ต่างคนต่างมีเปียโนหนึ่งหลัง จึงมีอิสระค่อนข้างสูง และสามารถเล่นได้อย่างเต็มศักยภาพมากกว่า

ชีวิตความเป็นอยู่และการทำงานของพวกเขา สะท้อนออกมาเป็นรูปแบบการแสดงที่มีความพิเศษเหล่านี้ ภูมิหลังและความเคยชินในวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน ไม่ได้เป็นข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น แต่กลับสื่อให้เห็นว่า เพราะความหลากหลายเช่นนี้เอง ที่ผสมผสานเป็นดนตรีแห่งชีวิตที่แสนสงบ และมีเอกลักษณ์ได้อย่างกลมกลืน “เมื่อเทียบกับเปียโนสี่มือแล้ว ระดับความสมบูรณ์และการแสดงออกทางดนตรีของเปียโนคู่ จะสามารถทำได้ดีกว่า” คำพูดของเย่ลวี่น่าดูเหมือนจะยังคงดังก้องอยู่ข้างหู