New Southbound Policy Portal

การวิจัยในต่างถิ่น เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ม.เจิ้งต้า

รศ.หวังหย่าผิงร่วมมือกับคุณชิตวร วราศิริพงศ์ นักวิชาการรุ่นใหม่ของไทย สนับสนุนการแลก เปลี่ยนในแวดวงวิชาการระหว่างไต้หวันและไทย (ภาพ: หลินหมินเซวียน)

รศ.หวังหย่าผิงร่วมมือกับคุณชิตวร วราศิริพงศ์ นักวิชาการรุ่นใหม่ของไทย สนับสนุนการแลก เปลี่ยนในแวดวงวิชาการระหว่างไต้หวันและไทย (ภาพ: หลินหมินเซวียน)
 

แม้ว่าฟิลิปปินส์และไต้หวันจะอยู่ในเขตเวลาเดียวกัน และใช้เวลาเดินทางโดยเครื่องบินระหว่างกันเพียงหนึ่งชั่วโมงกว่า แต่ทั้งสองประเทศต่างก็ประสบกับประเด็นปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ และแรงงานที่คล้ายคลึงกัน กลุ่มนักวิชาการรุ่นใหม่ของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ (National Chengchi University : NCCU) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ม.เจิ้งต้า จึงใช้พลังของเครือข่ายเวทีในแวดวงวิชาการเจาะลึกเข้าไปถึงแก่นแท้ของปัญหาต่างๆ โดยมุ่งหวังที่จะแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องการปฏิรูปที่ดิน ความยากจน และการอนุรักษ์วัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชีย

 

หลังจากรถเคลื่อนตัวพ้นจากกรุงมะนิลา ในที่สุดก็หลุดจากสภาวะรถติดสุดหฤโหด

เมื่อปีที่แล้ว นักศึกษาจากไต้หวัน, ฟิลิปปินส์, กัมพูชา และเวียดนาม รวม 15 คน เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ ในโรงเรียนภาคฤดูหนาวฟิลิปปินส์ศึกษา (The Winter School for Advanced Philippine Studies) ครั้งที่ 1 การอบรมครั้งนี้จัดขึ้น โดยความร่วมมือระหว่างศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ม.เจิ้งต้า ร่วมกับ โครงการแลกเปลี่ยนการศึกษาเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในภูมิภาค (Southeast Asian Studies Regional Exchange Program หรือ SEASREP) ซึ่งมีสมาชิก 4 ประเทศคือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไทย, ภาควิชาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติจี้หนาน และมูลนิธิเพื่อการแลกเปลี่ยนไต้หวัน-เอเชีย การจัดอบรมมีวัตถุประสงค์ เพื่อบ่มเพาะนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญรุ่นใหม่ของไต้หวันและในภูมิภาคเอเชีย ให้มีความเชี่ยวชาญ ในด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นักศึกษาจากแต่ละประเทศเดินทางมาอบรมความรู้ในวิชาต่างๆ ที่ประเทศฟิลิปปินส์เป็นเวลา 9 วัน เพื่อศึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในฟิลิปปินส์ สัมผัสกับสภาวะรถติดสุดๆ ในกรุงมะนิลาอันเลื่องชื่อ และเพื่อที่จะเข้าถึงวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง จึงมีวิชาที่จัดให้นักศึกษาเดินทางไปเยือนเมืองบาเกียวเป็นพิเศษ การเดินทางจากกรุงมะนิลาใช้เวลาโดยสารรถประมาณ 6-8 ชม. เป็นระยะทางนั่งรถที่ค่อนข้างนาน ทิวทัศน์นอกหน้าต่าง ตัดภาพจากเมืองอันเจริญไปสู่ชนบท บนเส้นทางที่มุ่งไปทางตอนเหนือ มองเห็นถึงสภาพที่แตกต่างระหว่างตัวเมืองกับชนบทได้เป็นอย่างดี ทำให้บรรดานักศึกษาสัมผัสได้อย่างเด่นชัด การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ในลักษณะเดียวกับโรงเรียนภาคฤดูหนาวฟิลิปปินส์ศึกษานี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยน ระหว่างศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ม.เจิ้งต้า กับแวดวงวิชาการ ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา

เมื่อปีค.ศ.2016 ม.เจิ้งต้าได้ก่อตั้งศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาขึ้น เพื่อส่งเสริมการทำงานวิจัยแบบบูรณาการข้ามศาสตร์และข้ามพื้นที่ ในลักษณะของโครงการวิจัยสหวิทยาการในด้านต่างๆ ทั้งด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, นโยบายการต่างประเทศ, การเมืองและเศรษฐกิจ, สังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนภาษาของกลุ่มชนต่างๆ นอกจากนี้ ยังเร่งผลักดันการเสริมสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนในระดับทวิภาคี ระหว่างม.เจิ้งต้ากับสถาบันการศึกษาชั้นนำของนานาประเทศ ในสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

 

เชื่อมสัมพันธ์กับศูนย์วิจัยชั้นนำของโลก

“ม.เจิ้งต้าเสริมศักยภาพด้านการวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ชั้นแนวหน้าทั่วโลกถึง 10 แห่งด้วยกัน” รศ.หวังหย่าผิง (王雅萍) หัวหน้าภาควิชาชาติพันธุ์วิทยา ม.เจิ้งต้า ซึ่งเป็นนักวิจัยประจำศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาด้วย กล่าวอธิบายว่านี่คือการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกัน ในแวดวงวิชาการ เมื่อปีค.ศ.2015 ม.เจิ้งต้าก่อตั้ง “สำนักงานโครงการจัดตั้งศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา” ด้วยการสนับสนุนจาก ศ.เซียวซินหวง (蕭新煌) นักวิจัยอัตราจ้างพิเศษประจำบัณฑิตวิทยาลัยสาขาสังคมศาสตร์ สภาวิจัยแห่งชาติไต้หวันอะคาเดเมีย ซินิกา (Academia Sinica) จึงได้ร่วมมือกับ ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ในด้านการวิจัยสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษานานาชาติ โดยมี ศ.หยางเฮ่า (楊昊) รองผอ.ศูนย์วิจัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ม.เจิ้งต้า ทำหน้าที่เป็นประธานโครงการ และยังเดินหน้าสร้างความร่วมมือเป็นหุ้นส่วน กับหน่วยงานต่างๆ อีกหลายแห่ง อาทิ ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของสถาบันสังคมศาสตร์เวียดนาม และ SEASREP อีกด้วย

ในจำนวนกิจกรรมหลากหลายประเภท ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ม.เจิ้งต้า จัดขึ้นนั้น โรงเรียนภาคฤดูหนาวฟิลิปปินส์ศึกษา เป็นหนึ่งในโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากร ที่สามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม การอบรมเชิงปฏิบัติการในลักษณะดังกล่าว ช่วยให้นักวิชาการรุ่นใหม่มีการวิเคราะห์และสังเคราะห์ปัญหา ที่เกิดขึ้นในแต่ละสังคมด้วยมุมมองที่แตกต่างออกไป “ในวิชานี้นักศึกษาจะได้เรียนรู้ถึง “มุมมอง” ก่อน จากนั้นค่อยลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติจริงในภาคสนาม คุณจะพบว่า ทั้งไต้หวันและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างก็มีประเด็นปัญหาหลายประการที่เหมือนกัน” รศ.หวังหย่าผิงกล่าว

ยกตัวอย่างจากการเดินทางไปเยือนนาขั้นบันได ในจังหวัดอิฟูเกาของรศ.หวังหย่าผิงและนักศึกษากลุ่มหนึ่ง นาขั้นบันไดในจังหวัดอิฟูเกา เป็นหนึ่งในนาขั้นบันไดแห่งแนวเทือกเขาฟิลิปปินส์ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เมื่อปีค.ศ.1995 ระบบชลประทานขนาดมหึมา ที่เกิดจากการตกผลึกทางภูมิปัญญาของชนเผ่าอิฟูเกา (ชนเผ่าอิฟูเกาอพยพจากไต้หวันมาสู่ฟิลิปปินส์เมื่อกว่า 2,000 ปีมาแล้ว) ยังไม่สามารถเอาชนะการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสังคมได้ แหล่งที่ตั้งของนาขั้นบันได กำลังประสบกับผลกระทบที่เกิดจากสภาวะการอพยพย้ายออกของประชากรรุ่นใหม่ การพังทลายของนาขั้นบันได ตลอดจนความเสื่อมสลายของวัฒนธรรมและพิธีกรรมดั้งเดิม “ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นสถานการณ์ที่ไต้หวันและฟิลิปปินส์ กำลังเผชิญอยู่ด้วยกันทั้งคู่”

 

จากใจสู่ใจ สัมผัสไออุ่นของผืนแผ่นดิน

เมื่อได้ซึมซับสิ่งต่างๆ จากการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ ทำให้นักวิชาการรุ่นใหม่ของไต้หวันมีความเข้าใจต่อปัญหาเรื่องที่ดินในฟิลิปปินส์มากยิ่งขึ้น การปฏิรูปที่ดินของฟิลิปปินส์ประสบความล้มเหลว พลเมืองในชนบทจำนวนมหาศาลจึงหลั่งไหลเข้าไปยังกรุงมะนิลา การอยู่อาศัยในเมืองที่แออัดและวุ่นวายโกลาหลนั้น ทำให้ชนพื้นเมืองของเมืองบาเกียวเกิดความรักและหวงแหนบ้านเกิดของตนมากขึ้น

“ตอนที่เราอ่านข้อมูลเหล่านี้จากในหนังสือ เราไม่มีความรู้สึกใดๆ แต่การได้มาที่นี่ ทำให้สามารถเข้าใจความคิดและความในใจของผู้คนในท้องถิ่นได้มากกว่า” รศ.หวังหย่าผิงมองดูรูปภาพที่นักศึกษาส่งกลับมาให้ด้วยรอยยิ้ม “การได้มาที่แห่งนี้คุณถึงจะรู้ว่า นาขั้นบันไดของที่นี่มีความสวยงามมากขนาดไหน” “การได้ฟังเสียงขับร้องบทเพลงพื้นบ้านอย่าง Hudhud chants of Ifugao ของชนเผ่าอีฟูเกา และได้สัมผัสกับพลังและความงดงาม ที่เชื่อมระหว่างมนุษย์กับผืนแผ่นดิน นี่คือสิ่งที่ทำให้การวิจัยในต่างถิ่นช่างน่าหลงใหล”

 

ความร่วมมือคือพลังของการวิจัยทางวิชาการ

เดือนสิงหาคม ปีค.ศ.2019 ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ม.เจิ้งต้า จัด “โครงการฝึกงานระหว่างประเทศด้านการพัฒนาวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการค้าในอาเซียน : แลกเปลี่ยนไต้หวัน-ไทย มุ่งสู่ใต้” โดยจัดให้นักศึกษาไปฝึกงานที่ประเทศไทย นอกจากนักศึกษาจะได้ไปที่มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (Labour Rights Promotion Network Foundation : LPN) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร (NGO) ในท้องถิ่น เพื่อทำความเข้าใจต่อปัญหาการขูดรีดแรงงานจากการค้ามนุษย์ โครงการดังกล่าวยังจัดให้พวกเขา ได้ไปชมวิถีชีวิตริมฝั่งแม่น้ำที่ตลาดน้ำอัมพวาอีกด้วย

“การเดินทางเช่นนี้ถือเป็นโอกาสที่หาได้ยากมาก” รศ.หวังหย่าผิงกล่าว โดยเฉพาะการได้เข้าไปคลุกคลีกับกลุ่ม NGO ในท้องถิ่น ได้ศึกษาค้นคว้าในปัญหาการขูดรีดแรงงานถ้า ด้วยศักยภาพในการวิจัยของนักวิชาการอิสระทั่วไปนั้น เป็นเรื่องยากมากที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าไปวิจัยสำรวจอย่างใกล้ชิดเช่นนี้ คุณชิตวร วราศิริพงศ์ หรือชื่อจีนว่าติงหย่งซิง (丁永興) นักศึกษาปริญญาเอก ดุษฎีบัณฑิตสาขาเอเชียตะวันออกศึกษา ม.เจิ้งต้า คือผู้ที่เป็นสื่อกลางในการประสานงานครั้งนี้ โดยได้รับความช่วยเหลือจาก ผศ.ดร.รุ่งนภา เทพภาพ รองคณบดีวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่ม NGO ทำให้ได้ประเด็นหัวข้อวิจัยที่ดีเช่นนี้ภายในระยะเวลาอันสั้น ความร่วมมือเช่นนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลทางวิชาการของศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ม.เจิ้งต้าด้วย

ปัจจุบัน ม.เจิ้งต้ามีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการระหว่างประเทศ และการบรรยายในหัวข้อ ที่เกี่ยวข้องกับเอเชียตะวัน ออกเฉียงใต้มากมายเป็นประจำทุกสัปดาห์ แต่ละกิจกรรมเป็นความร่วมมือเชื่อมสัมพันธ์ และความตกลงร่วมกันกับประเทศในกลุ่มนโยบายมุ่งใต้ใหม่ มีนักวิชาการเข้าร่วมจำนวนมาก เป็นความสัมพันธ์ฉันมิตรที่แน่นแฟ้น อย่างไม่เคยมีมาก่อน

ในฐานะที่เป็นคลังสมองด้านการวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ม.เจิ้งต้า ได้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลด้านการวิจัยทางสังคมศาสตร์บนเวทีวิชาการ ที่เชื่อมโยงสาขาที่เกี่ยวข้องกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของแต่ละประเทศทั่วโลกเข้าด้วยกัน ให้นักวิชาการรุ่นใหม่สามารถแสดงพลังอันยิ่งใหญ่ได้