New Southbound Policy Portal

สถิติปี 2019 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเยือนไต้หวันทั้งสิ้น 11.84 ล้านคน ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ปี 2019 สำนักการท่องเที่ยวไต้หวันประจำกรุงลอนดอน ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อผลักดันความประทับใจต่อการท่องเที่ยวในไต้หวัน ให้กับชาวอังกฤษและไอร์แลนด์ รวมถึงให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ จำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวของไต้หวัน (ภาพจาก MOFA)

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ปี 2019 สำนักการท่องเที่ยวไต้หวันประจำกรุงลอนดอน ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อผลักดันความประทับใจต่อการท่องเที่ยวในไต้หวัน ให้กับชาวอังกฤษและไอร์แลนด์ รวมถึงให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ จำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวของไต้หวัน (ภาพจาก MOFA)

กรมการท่องเที่ยว วันที่ 6 ม.ค. 63

 

เมื่อวันที่ 6 ม.ค. กรมการท่องเที่ยว กระทรวงคมนาคม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า ตามข้อมูลสถิติของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไต้หวัน ตลอดช่วงปี 2019 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไต้หวัน เป็นจำนวนทั้งสิ้น 11.84 ล้านคน เมื่อเทียบกับสถิติปี 2018 ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 11.07 ล้านคน เติบโตขึ้นร้อยละ 7 ซึ่งในจำนวนดังกล่าว เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน 2.71 ล้านคน เมื่อเทียบกับตลอดปี 2018 ที่มีจำนวน 2.7 ล้านคน เติบโตขึ้นเพียงร้อยละ 0.5 ส่วนนักท่องเที่ยวที่ไม่ใช่ชาวจีน มีจำนวนเกือบ 9.14 ล้านคน เมื่อเทียบกับปี 2018 ที่มีจำนวน 8.37 ล้านคน เติบโตขึ้นร้อยละ 9 โดยในจำนวนนี้ ตลาดนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นที่เดินทางมาไต้หวัน พุ่งทำลายสถิติ 2 ล้านคนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ปี 2019 ที่ผ่านมา โดยตลาดนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ได้พุ่งทำลายสถิติ ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน อัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 10 และ 20 ตามลำดับ สำหรับประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ทั้ง 18 ประเทศ มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 กล่าวโดยสรุปคือ ตลอดในปี 2019 รัฐบาลไต้หวันประสบความสำเร็จ ในการขยายตลาดนักท่องเที่ยว ให้มีความหลากหลายมากขึ้น


 

กรมการท่องเที่ยวเผยว่า หากมองย้อนกลับไปยังปีที่ผ่านมา ภาพรวมของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไต้หวัน ตลอดช่วงปี 2019 เติบโตขึ้นเป็นจำนวน 7.7 แสนคน ซึ่งเป็นผลสัมฤทธิ์ที่ได้มาจากความมุมานะร่วมกันของทุกฝ่าย ไต้หวันได้พยายามดึงดูดนักท่องเที่ยวจากนานาประเทศอย่างกระตือรือร้น ภายใต้บริบทสภาพแวดล้อมด้านตลาดการท่องเที่ยว  ที่มีการแข่งขันสูงในระดับนานาชาติ โดยวางแนวทางหลัก 2 ประการ ประกอบด้วย “เพิ่มช่องทางการตลาดระหว่างประเทศ จัดตั้งศูนย์ให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีศักยภาพ” และ “ขยายความร่วมมือข้ามชาติ ข้ามวงการ และข้ามอุตสาหกรรม พร้อมยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวในระดับนานาชาติ” ซึ่งมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้


 

ประการแรก การประชาสัมพันธ์ระหว่างประเทศและจัดตั้งศูนย์ให้บริการในต่างแดน ช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลไต้หวันได้มอบงบประมาณสนับสนุนการท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย อาทิ เมื่อช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่ออุดหนุนการเช่าเครื่องบินแบบเหมาลำ จากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ บินตรงไปยังเมืองฮัวเหลียน รวม 38 เที่ยวบิน นอกจากนี้ จังหวัดคังวอนของเกาหลีใต้ และเมืองมัตสึยาม่าของญี่ปุ่น ได้เปิดเส้นทางบินใหม่สู่ไต้หวันเป็นครั้งแรก ในส่วนของการจัดตั้งศูนย์ให้บริการนั้น ในปี 2019 ได้มีการจัดตั้งสำนักงานการท่องเที่ยวไต้หวัน (Taiwan Tourism Bureau) ในต่างแดน เพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง ได้แก่ นครโฮจิมินห์และกรุงลอนดอน รวมทั้งได้จัดตั้งศูนย์บริการข้อมูลการท่องเที่ยวไต้หวัน (Taiwan Tourism Information Center) อีก 5 แห่ง ได้แก่ กรุงมอสโก กรุงจาการ์ตา เมืองโอ๊คแลนด์ เมืองซิดนีย์ และเมืองแวนคูเวอร์ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ มีโอกาสได้ทำความรู้จักกับสถานที่ท่องเที่ยวในไต้หวันเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ จำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวของไต้หวันอีกด้วย


 

ประการที่สอง สำหรับการขยายความร่วมมือข้ามชาติ ข้ามวงการและข้ามอุตสาหกรรม สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประการย่อย โดยเริ่มจากเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน ในการประชุมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวแบบทวิภาคี ระหว่างไต้หวัน – ญี่ปุ่น หรือไต้หวัน – เกาหลีใต้ มักจะมีการสอดแทรกมหกรรมการท่องเที่ยวไต้หวันร่วมด้วย ซึ่งนอกจากจะเป็นการกระชับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นการอัดฉีดพลัง ในการกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างกันอีกด้วย  นอกจากนี้ยังได้ผนึกกำลังทางด้านงานวิจัย ซึ่งได้ร่วมลงนามโครงการความร่วมมือวิจัยและพัฒนาเรือสำราญกับ 3 สถาบันอุดมศึกษา ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติเกาสง (National Kaohsiung University of Science and Technology, NKUST) มหาวิทยาลัยการอาหารและการโรงแรมแห่งชาติ เกาสง (National Kaohsiung University of Hospitality and Tourism, NKUHT) และมหาวิทยาลัยทางทะเลแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan Ocean University, NTOU) ซึ่งทั้ง 3 สถาบันดังกล่าวได้ร่วมกันก่อตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาเรือสำราญไต้หวันขึ้นที่ NKUST และจะดำเนินการประชาสัมพันธ์สู่ตลาดโลกและภูมิภาคเอเชีย ผ่านสมาพันธ์เรือสำราญแห่งเอเชีย (Asia Cruise Cooperation, ACC) ต่อไป ส่วนภายในประเทศ ได้บูรณาการและยกระดับทรัพยากรการท่องเที่ยวของไต้หวันให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยได้ร่วมจัดสร้างเวทีความร่วมมือข้ามวงการ กับศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแห่งชาติ สำนักบริหารจัดการทางรถไฟและป่าอุทยาน การท่องเที่ยวเชิงทัศนศึกษา การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลให้แก่พนักงาน บริษัทเรือสำราญและการบริหารจัดการท่าเรืออุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมการจัดแจงทรัพยากรการท่องเที่ยวและการประชาสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมอบตัวเลือกที่หลากหลาย ในการเดินทางมาท่องเที่ยวยังไต้หวัน ให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อไป


 

ในตอนท้าย กรมการท่องเที่ยว แถลงว่า เพื่อรับมือกับตลาดนานาชาติที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันตลอดเวลา การยึดมั่นในแนวคิด "ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่หลากหลาย ขยายฐานสู่ทั่วโลก" ทำให้ไต้หวันกลายเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่สำคัญในเอเชีย ที่เปี่ยมด้วย "ความเป็นมิตร อัจฉริยะ และสัมผัสประสบการณ์"