New Southbound Policy Portal

สภาบริหารไต้หวันเสนอมาตรการรับมือ เพื่อคลี่คลายปัญหาจากผลกระทบของโรคระบาดโควิด – 19

เมื่อวันที่ 13 ก.พ. นรม.ซูฯ รับฟังรายงานมาตรการรับมือโรคโควิด – 19 ที่แต่ละหน่วยงานได้นำเสนอในที่ประชุมสภาบริหาร พร้อมชี้แนะให้ทุกฝ่ายเร่งเสนอแผนการให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน (ภาพจากสภาบริหาร)

เมื่อวันที่ 13 ก.พ. นรม.ซูฯ รับฟังรายงานมาตรการรับมือโรคโควิด – 19 ที่แต่ละหน่วยงานได้นำเสนอในที่ประชุมสภาบริหาร พร้อมชี้แนะให้ทุกฝ่ายเร่งเสนอแผนการให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน (ภาพจากสภาบริหาร)

สภาบริหาร วันที่ 13 ก.พ. 63

 

เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ที่ผ่านมา ในที่ประชุมสภาบริหาร นายซูเจินชาง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้รับฟังรายงานที่เกี่ยวกับ “มาตรการการรับมือโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโควิค – 19” จากกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ กระทรวงเศรษฐการ คณะกรรมการกิจการเกษตร และกระทรวงคมนาคม ก่อนจะชี้ว่า โรคระบาดในครั้งนี้ทำให้เกิดผลกระทบต่อไต้หวันหลายด้าน จึงขอให้ทุกหน่วยงานรวบรวมแผนงานในการให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน


 

โดยนรม.ซูฯ กล่าวว่า นอกจากหน่วยงานที่เสนอรายงานในการประชุมวันนี้แล้ว หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ รวมไปจนถึงกระทรวงวัฒนธรรมล้วนได้รับผลกระทบจากการโรคระบาดในครั้งนี้ด้วยกันทั้งสิ้น ในระหว่างที่สภานิติบัญญัติยังไม่พิจารณาผ่านร่างกฎหมายพิเศษ และงบประมาณพิเศษในครั้งนี้ ขอให้ทุกหน่วยงานใช้งบประมาณที่มี ดำเนินการช่วยเหลือไปก่อน


 

นรม.ซูฯ ยังกล่าวในที่ประชุมว่า ในส่วนของงบประมาณพิเศษนั้น หลังจากที่ทุกหน่วยงานได้ทำการรวบรวมความต้องการใช้แล้ว คิดเป็นงบประมาณรวม มากกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญไต้หวัน โดยงบประมาณพิเศษจำนวน 6 หมื่นล้านเหรียญไต้หวันนี้ จะมาจากเงินคงคลังที่ได้จากยอดเงินสะสมคงเหลือ จากงบประมาณแผ่นดินในแต่ละปี ประกอบกับการจัดหาเพิ่มเติมของสำนักบัญชีกลางและสถิติไต้หวัน โดยกฎหมายพิเศษและงบประมาณพิเศษชุดนี้  จะมีอายุในการดำเนินงานเพียง 1 ปี


 

ทั้งนี้ นรม.ซูฯ เน้นย้ำว่า ตามรายงานการประเมินขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ได้ประกาศเมื่อวันที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมา โรคโควิด-19 ยังคงอยู่ในภาวะความเสี่ยงสูงในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสฯ แต่สำหรับไต้หวันแล้ว นอกจากจะไม่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแล้ว สถานการณ์ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อก็ฟื้นตัวได้ดีขึ้นเป็นลำดับ อีกทั้งยังไม่มีการแพร่ระบาดในชุมชนของไต้หวันด้วย


 

นอกจากนี้ นรม.ซูฯ ยังได้ชี้แจงว่า ตามรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจไต้หวันปี 2019 ของสำนักบัญชีกลางและสถิติไต้หวัน ที่ได้ประกาศเมื่อวันที่ 12 ก.พ. ระบุว่า แม้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่อัตราการขยายตัวของ GDP ไต้หวันจะสามารถรักษาระดับการขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 2.37 ไว้ได้ แต่เนื่องด้วยรัฐบาลไต้หวันคำนึงถึงการป้องกันโรคเป็นหลัก จึงจำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคระบาดอย่างเคร่งครัดต่อไป ด้วยการจำกัดและควบคุมกิจการและกลุ่มเป้าหมายบางกลุ่ม อีกทั้งอุตสาหกรรมบางกลุ่มที่เกี่ยวข้อง ก็ยากที่จะควบคุมสถานการณ์ที่สืบเนื่องมาจากผลกระทบของโรคระบาด รวมไปถึงประชาชนส่วนมากต่างเพิ่มความระมัดระวังในการป้องกันตนเองจากเชื้อไวรัสฯ จึงส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายของภาคประชาชน ทำให้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


 

นรม.ซูฯ เผยว่า อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดครั้งนี้ และต้องได้รับการฟื้นฟูใหม่คือ อุตสาหกรรมเพื่อการบริโภคในประเทศ เช่น ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ตลาดกลางคืน ตลาดสด งานนิทรรศการและการประชุม รวมไปถึงอุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการขนส่ง เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องไปยังหน่วยงานด้านแรงงาน และด้านวัฒนธรรม เช่น ธุรกิจบันเทิงและภาพยนตร์ ธุรกิจการศิลปะการแสดง และภาคการผลิต ดังนั้น หากหน่วยงานที่กำกับดูแลธุรกิจเหล่านี้คาดว่า จะมีความเสียหายเกิดขึ้นต่อกิจการในกำกับดูแล ก็ขอให้เร่งเสนอแผนงานในการให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถแก้ไขปัญหาได้ในโอกาสแรก พร้อมอาศัยโอกาสที่เกิดวิกฤตในครั้งนี้ ปรับปรุงและยกระดับธุรกิจให้ดีขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้กับแต่ละอุตสาหกรรมต่อไป