New Southbound Policy Portal

งานศิลป์โบราณกับนวัตกรรมใหม่ ไอเดียสร้างสรรค์ของขวัญในเทศกาลตรุษจีน

สิงห์คาบดาบ ออกแบบเป็นลวดลาย “ผู้ปกป้องทะเล” หวังว่าผู้สวมใส่จะได้รับความคุ้มครอง ปลอดภัย

สิงห์คาบดาบ ออกแบบเป็นลวดลาย “ผู้ปกป้องทะเล” หวังว่าผู้สวมใส่จะได้รับความคุ้มครอง ปลอดภัย
 

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา คุณมีคนที่อยากจะขอบคุณหรือไม่ หากเลือกของขวัญชิ้นหนึ่งเพื่อตอบแทนน้ำใจ คุณคิดถึงอะไร?

เพื่อบุคคลหนึ่งเดียวในดวงใจ นิตยสาร “ไต้หวัน พาโนรามา” ฉบับนี้ขอแนะนำผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมสร้างสรรค์ 3 แบรนด์ พวกเขาผลิตสินค้าทำมือคงไว้ซึ่ง เทคนิคงานศิลป์ดั้งเดิมเป็นพื้นฐาน ผนวกด้วยความสร้างสรรค์ ทำให้ผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมกลายเป็นนวัตกรรมใหม่

เมื่องานศิลป์แบบดั้งเดิมพบกับนวัตกรรมใหม่ จะก่อให้เกิดประกายไฟหรือไม่? อย่างไร?

 

หนังสัตว์สีสดใสน้ำตาลคาราเมลและสีฟ้าใสแบบอะความารีน ประดับด้วยลายปักที่ผ่านการบรรจงออกแบบ ลวดลายหลากหลายทำให้ผู้สวมใส่รู้สึกมีชีวิตชีวา รองเท้าปักลายแบบดั้งเดิมกลายเป็นสิ่งของทันยุคสมัย ผู้อยู่เบื้องหลังที่สำคัญคือคุณเจียงเพ่ยเจีย (江珮嘉) ผู้ก่อตั้งบริษัทซิ่ว ไต้หวัน (Hsiu Taiwan)

 

งานเย็บปักถักร้อยแบบดั้งเดิม ออกแบบในสไตล์ใหม่

คุณเจียงอาศัยอยู่ที่นครไทจง แต่ไปเรียนต่อปริญญาโทที่นครไถหนาน ครั้งหนึ่งได้เดินผ่านร้าน “เหนียน” (年) ขายรองเท้าปักลายที่สวยงามประณีตสะดุดตามาก เผอิญการศึกษาปริญญาโทมีวิชาสร้างสรรค์บริการ ต้องตามหาร้านค้าเก่าแก่ เธอจึงเลือกร้าน “เหนียน” เพื่อช่วยออกแบบและพัฒนาสินค้าเสียใหม่

จากการศึกษาในวิชาที่เรียนทำให้คุณเจียงเข้าใจถึงความหมายในแง่วัฒนธรรมของรองเท้าปักลายอย่างลึกซึ้ง เช่น เจ้าสาวปักลายรองเท้าแต่งงานด้วยตนเอง เป็นสัญลักษณ์ของความคาดหวังและยืนหยัดในความรัก “ฉันคิดว่านี่เป็นโอกาสที่จะทำให้รองเท้าปักลายมีรูปโฉมที่ไม่เหมือนเดิม” คุณเจียงกล่าว
 

คุณเจียงเพ่ยเจีย (ซ้าย) ผู้ก่อตั้งบริษัทซิ่ว ไต้หวัน บอกเรื่องราว ความทรงจำแห่งยุคสมัยผ่านเส้นด้ายลายปัก

คุณเจียงเพ่ยเจีย (ซ้าย) ผู้ก่อตั้งบริษัทซิ่ว ไต้หวัน บอกเรื่องราว ความทรงจำแห่งยุคสมัยผ่านเส้นด้ายลายปัก
 

ความงดงามของหนังสัตว์และลายปัก บรรจบกันโดยบังเอิญ

ลายปักแบบดั้งเดิมเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่บนเนื้อผ้า เช่นเดียวกับรองเท้าปักลาย คุณเจียงบอกว่า ในตอนแรกเพียงแต่คิดว่าจะทำการออกแบบลวดลายบนรองเท้าผ้าที่ไม่เหมือนลายดั้งเดิม จึงได้เลือกร้าน “เหนียน” ซึ่งมีช่างช่วยทำให้ แต่หลังจากร่วมมือกันแล้ว ได้เกิดแรงบันดาลใจใหม่ “ลวดลายบนรองเท้าผ้าให้ความรู้สึกไม่ได้ดั่งใจ การสัมผัส ความประณีตยังไม่ดีพอ อีกทั้งการระบายอากาศ ความสบายในการสวมใส่สู้รองเท้าหนังไม่ได้” คุณเจียงจึงตัดสินใจทดลองปักลายบนรองเท้าหนัง

คุณเจียงไปหาโรงงานทำรองเท้าด้วยมือที่เขตอันหนาน (安南) นครไถหนาน หลังจากปรับปรุงอยู่หลายครั้งจึงปักลายที่สวยงามบนรองเท้าหนังได้สำเร็จ

การผลิตรองเท้าปักลายทุกคู่ที่ออกแบบโดยคุณเจียง ช่างจะต้องทำด้วยมือทั้งหมดผ่านหลายขั้นตอน การใช้มือเย็บ การตีทุบ การติดกาว สวมเข้าไปในแม่แบบเพื่อให้แผ่นหนังติดแน่น ความนุ่มสบายของรองเท้าทำด้วยมือ เป็นสิ่งที่เครื่องจักรเทียบเคียงไม่ได้

คุณเจียงเลือกใช้หนังแท้ต้นทุนสูงผลิตเป็นรองเท้าผู้หญิงเหมาะกับชาวตะวันออก อาทิ หนังวัว หนังสุกร หนังแกะ เป็นต้น วัสดุแต่ละชนิดเหมาะกับรองเท้าที่ต่างกัน รายละเอียดด้านนอก ชั้นกลาง และพื้นล่าง ฯลฯ ของรองเท้า คุณเจียงทดลองผลิตซ้ำแล้วซ้ำอีก ยืนหยัดในการผลิตรองเท้าที่สวยงามและสวมใส่สบาย

 

รองเท้าเชื่อมโยงเรื่องราว ความอบอุ่นทางอารมณ์

รองเท้าที่คุณเจียงออกแบบไม่มีลวดลายแบบดั้งเดิม แต่ใช้ลายเส้นที่เรียบง่าย เป็นรูปภาพที่มีความหมาย ผลงานชิ้นแรกคือ “ผู้ปกป้องทะเล” ได้แรงบันดาลใจจากรูปทรงสิงห์คาบดาบ (劍獅 เจี้ยนซือ) เป็นเครื่องรางป้องกันเภทภัยที่เชื่อถือกันตั้งแต่ยุคเจิ้งเฉิงกง (ขุนพลปลายสมัยราชวงศ์หมิงที่นำทหารยกพลขึ้นสู่เกาะไต้หวัน) หวังว่า “ผู้สวมรองเท้าที่ปักลายสิงห์คาบดาบจะเกิดความรู้สึกว่าได้สวมใส่ความปลอดภัย”

แผนที่โบราณของเมือง เปลือกหอยนางรม ผีเสื้อจรกาลายม่วง หรือแม้แต่น้ำแข็งไสของยอดฮิตหน้าร้อน ล้วนถูกนำมาออกแบบเป็นลวดลาย “ภาพปักลายบนรองเท้ามีความหมายทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของทุกยุคสมัย ฉันอยากบันทึกเรื่องราวในยุคของพวกเราไว้”

บนรองเท้าคู่ใจ ท่องโลกกว้างไกล คุณเจียงเพ่ยเจียบันทึกความทรงจำยุคใหม่ ผ่านด้ายในลายปักแต่ละเส้น
 

เทศกาลตรุษจีนเปี่ยมไปด้วยบรรยากาศของความมงคล ผลิตภัณฑ์ทำด้วยมือของช่างเป็นของขวัญที่เปี่ยมด้วยน้ำใจ

เทศกาลตรุษจีนเปี่ยมไปด้วยบรรยากาศของความมงคล ผลิตภัณฑ์ทำด้วยมือของช่างเป็นของขวัญที่เปี่ยมด้วยน้ำใจ
 

อิฐและกระเบื้องดินเผา สะท้อนความทรงจำ

ที่เขตต้าซู่ (大樹區) นครเกาสง ถือเป็นศูนย์กลางของเกาสงและผิงตง เคยมีโรงเผาอิฐมากที่สุดในไต้หวัน ในยุครุ่งเรืองเคยมีโรงเผาอิฐเกินกว่า 100 แห่ง แต่ตามการเปลี่ยนแปลงของสังคมไต้หวันในยุค 1970 คอนกรีตเสริมเหล็กเข้ามาทดแทนอิฐแดง ถึงยุค 1988 ในเขตต้าซู่ เหลือเพียงโรงเผาอิฐซันเหอ (San-He Tile Kiln) เพียงแห่งเดียวเท่านั้น

คุณปู่หลี่อวี้จู้ (李玉柱) ซึ่งอายุมากแล้ว ได้ถามคุณหลี่จวิ้นหง (李俊宏) ผู้เป็นหลานชายว่า จะสืบทอดกิจการหรือไม่ เมื่อนึกถึงวัยเด็กที่ร่วมเผาอิฐกับบิดาซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว กล่าวได้ว่าโรงเผาอิฐเป็นสิ่งที่บิดาฝากฝังไว้ คุณหลี่จวิ้นหงจึงไม่อยากเห็นกิจการล่มสลายในยุคของเขา

หลังคิดทบทวนหลายครั้ง      คุณหลี่จวิ้นหงลาออกจากงานธนาคาร หันมาทุ่มเทให้แก่โรงเผาอิฐ หลังเข้าสืบสานกิจการสิ่งสำคัญที่สุดคือ การนำพากิจการก้าวสู่เส้นทางใหม่

ที่ใส่ตะเกียบดินเผาที่คุณแม่ทำเป็นงานอดิเรกทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจว่า บางทีควรจะมุ่งไปในทิศทางหัตถศิลป์ เผอิญนักศึกษากลุ่มหนึ่งจาก Tung Fang Design University ต้องการสร้างงานศิลป์จากอิฐ เป็นโครงงานนักศึกษา หรือโปรเจกต์จบ จึงได้พบกับคุณหลี่จวิ้นหง และนับเป็นโอกาสการพัฒนาสู่หัตถศิลป์ของโรงงานซันเหอ

คุณหลี่จวิ้นหงได้ยื่นขอเงินอุดหนุนจากโครงการส่งเสริมหัตถศิลป์ชุมชนของสถาบันวิจัยและพัฒนาศิลปหัตถกรรมแห่งชาติ (National Taiwan Craft Research and Development Institute) และได้ขอให้นักศึกษาของ Tung Fang Design University ช่วยฝึกอบรมชาวบ้านในท้องถิ่น เริ่มการพัฒนาหัตถศิลป์อย่างเป็นทางการ

หลังการอุดหนุนผ่านไป 3 ปี ประเภทของงานศิลปะและช่องทางการจัดจำหน่ายเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น คุณหลี่จวิ้นหงจึงตัดสินใจจัดตั้งบริษัทออกแบบเชิงสร้างสรรค์ และสร้างแบรนด์ San-He Tile Kiln (三和瓦窯) อย่างเป็นทางการ

 

ร้านค้าเฉพาะอย่าง ขายเฉพาะอิฐสื่อความหมาย

คุณหลี่จวิ้นหงได้จัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งในโรงงานเป็นที่จัดแสดงสินค้า เมื่อเดินเข้าไปในร้านจะได้เห็นชิ้นงานอิฐดินเผาสีแดง ให้บรรยากาศอบอุ่น วางใจ และมีความเป็นธรรมชาติ

ดินเหนียวตามธรรมชาติมีส่วนผสมของเหล็ก การเผาทำให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันกลายเป็นสีแดง อย่างจานสบู่ซวงสี่ (囍 มีความหมายว่า มงคลคู่) แผ่นรองแก้วมงคล เป็นต้น ได้รับการออกแบบผสมผสานและกลมกลืนกับความชื่นชอบของชาวตะวันออก ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งการอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาและการเฉลิมฉลอง เป็นสินค้าขายดีที่ชาวไต้หวันนิยมซื้อมอบให้เพื่อนๆ ชาวต่างประเทศ

นอกจากสินค้าไลฟ์สไตล์ชิ้นเล็ก ยังมีที่วางนามบัตรปัญจธาตุ ทำเป็นรูปทรงกำแพงอิฐแบบดั้งเดิม ที่ด้านล่างมีชิ้นส่วนขนาดเล็กสัญลักษณ์ธาตุทั้ง 5 เช่น ม้านั่งไม้ สำหรับราศีธาตุไม้ เตาไฟสำหรับราศีธาตุไฟ ฯลฯ กำแพงอิฐย่อส่วนให้ความรู้สึกเหมือนบ้านโบราณ

ด้วยความยืนหยัดของคุณหลี่จวิ้นหง ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานและผู้ที่ให้การสนับสนุน ทำให้อิฐก่อสร้างแบบดั้งเดิมฉีกแนวเข้าสู่เส้นทางใหม่ กิจการเผาอิฐที่เกือบหมดเชื้อไฟ ลุกโชนขึ้นใหม่อีกครั้ง
 

เดินไปตามทางอิฐสีแดงจะได้พบโรงงานซันเหอ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อิฐที่น่าสนใจ

เดินไปตามทางอิฐสีแดงจะได้พบโรงงานซันเหอ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อิฐที่น่าสนใจ
 

ปกป้องบ้าน ปกป้องเตาเผา

ยังมีพี่น้องสองสาวอีกคู่หนึ่ง คุณเหมาเจี๋ยเซวียน (毛潔軒) และเหมาเสวี่ยนหยวน (毛選媛) ที่ดูแลกิจการเตาเผาเครื่องเซรามิก

บิดาเหมาชังฮุย (毛昌輝) เป็นช่างศิลป์ดินเผาที่มีชื่อเสียง อยู่ที่เขตอิงเกอ นครนิวไทเป สร้างโรงงานเสียงซินเซรามิก (Hsiang Shin Ceramics) ในปีค.ศ.1980 ทำการรับจ้างผลิตเพื่อส่งออกด้วยกำไรต่ำ เนื่องจากมีความชอบในงานศิลป์ ในปีค.ศ.1984 ได้พัฒนาเข้าสู่การผลิตดินเผาที่เป็นทัศนศิลป์ ประสานศิลปะแบบตะวันตก อย่างผลงานของอ็อสการ์ โกลด มอแน (Oscar-Claude Monet) ศิลปินผู้ก่อตั้งจิตรกรรมอิมเพรสชันนิสม์ เป็นต้น ผสานกับเทคนิคการปั้นดินเผาแบบดั้งเดิม พัฒนาเครื่องปั้นดินเผาเข้าสู่ผลงานที่ละเอียดประณีต

ต่อมาเศรษฐกิจซบเซา ตลาดหดตัว โรงงานดินเผาในเขตอิงเกอลดน้อยลงเรื่อยๆ ทั้งที่ในยุครุ่งเรืองเคยมีมากถึง 200 กว่าแห่ง ปัจจุบันเหลือประมาณ 20 แห่ง คุณเหมาเจี๋ยเซวียนบอกว่า นี่เป็นปัญหาที่กิจการดั้งเดิมต้องเผชิญ หากไม่มีการสร้างสรรค์ใหม่ก็ต้องออกจากตลาด

เนื่องจากทนไม่ได้ที่ต้องเห็นกิจการของคุณพ่อที่สร้างมา 30 กว่าปี ต้องปิดตัวลงโดยไม่มีผู้สืบสานงานศิลปะ ผู้ที่ตัดสินใจกลับบ้านคนแรกคือพี่สาวเหมาเจี๋ยเซวียน ต่อมาน้องสาวเหมาเสวี่ยนหยวนจบการศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แล้ว ตัดสินใจกลับมาทดลองทำด้วย

ในตอนแรก 2 พี่น้องช่วยทำงานร่วมกับคุณพ่อ มักจะมีความเห็นขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ คุณพ่อชอบสีสดใส แต่สองพี่น้องเห็นว่าสีที่อ่อนโยนจะใกล้ชิดคนทั่วไปได้มากกว่า คุณเหมาเสวี่ยนหยวนบอกว่า  “งานศิลปะดินเผาสำหรับสะสมมีมูลค่าสูง แต่เครื่องดินเผาใช้ในชีวิตประจำวัน ผู้คนจะซื้อหาได้ง่ายกว่า”

 

ผลิตภัณฑ์เซรามิก กินอิ่ม สุขใจ

มีอยู่ครั้งหนึ่ง คุณเหมาเสวี่ยนหยวนผลิตชามขึ้นเอง 1 ใบ เกิดความคิด เขียนคำว่า เป่า (飽 แปลว่า อิ่ม) ลงไป ถ่ายรูปโพสต์ลง Facebook ให้เพื่อนดู เพื่อนๆ สนใจมีคนต้องการสั่งให้เขียนตัวหนังสือตามที่ต้องการเพื่อนำไปมอบเป็นของขวัญ สองพี่น้องจึงคิดว่าการทำเครื่องดินเผาเฉพาะสำหรับบุคคล เป็นแนวทางการตลาดที่น่าจะบุกเบิก

ดังนั้นในปีค.ศ.2009 ทั้งสองได้สร้างแบรนด์ “Mao Studio”  เน้นการวาดด้วยมือ ผลิตเครื่องเซรามิกใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ลวดลาย 1 แดง 1 ขาว ตัวอักษรสี่ (喜) ที่แปลว่า มงคล ตัวหนึ่งนูนขึ้นหรือตัวเว้าลง ชามซวงสี่ (囍) ออกแบบหยินหยางสัญลักษณ์ผู้ชายผู้หญิง หรือเขียนคำว่า ผิงอัน (平安) แปลว่า ราบรื่นปลอดภัย สี่เล่อ (喜樂 ยินดีมีสุข) เป็นคำพูดอวยพรแสดงความในใจของผู้มอบของขวัญ

ยืนหยัดวิธีการให้ช่างเขียนด้วยมือ แม้เป็นชามแบบเดียวกัน แต่ตัวหนังสือไม่เหมือนกัน ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นมีเอกลักษณ์หนึ่งเดียวไม่มีสอง คุณภาพแตกต่างจากเครื่องดินเผาคุณภาพต่ำ ที่ผสมโลหะเพื่อลดอุณหภูมิและลดเวลาในการเผา Mao Studio ใช้อุณหภูมิ 1,230 องศาเซลเซียสในเตาเผา เพื่อขับส่วนผสมโลหะในสีออกไปจนหมด ทำให้ผู้ใช้เกิดความสบายใจ
 

ผลิตภัณฑ์เซรามิก “Mao Studio” วาดด้วยมือ เป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำกัน

ผลิตภัณฑ์เซรามิก “Mao Studio” วาดด้วยมือ เป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำกัน
 

ยึดบิดาเป็นต้นแบบ มองการณ์ไกล

สองพี่น้องตระกูลเหมาสืบทอดฝีมือ 30 ปีของบิดา ไม่เพียงแต่สืบสานเทคนิคการเผา การวิจัยพัฒนาสี ยังได้สืบทอดคุณภาพที่บิดายึดมั่น “ไม่ละทิ้งอุดมการณ์เพียงเพื่อกำไรเท่านั้น” สร้างผลิตภัณฑ์ “Mao Studio”  ด้วยทัศนคติการสร้างงานหัตถศิลป์ ยึดบิดาเป็นต้นแบบ มองการณ์ไกล สร้างสรรค์ และนำพากิจการดินเผาที่มีประวัติยาวนานกว่า 30 ปี ก้าวสู่เส้นทางสายใหม่

กิจกรรมแบบดั้งเดิมผสานความสร้างสรรค์จึงเกิดการเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือฝืมือของช่าง ยืนหยัดรักษาเทคนิคศิลปะดั้งเดิม ยึดมั่นการทำด้วยมือ เพื่อให้ทั้งผู้มอบและผู้รับของขวัญ รับรู้ถึงความอบอุ่นใจที่มีต่อกัน

คุณเลือกของขวัญสำหรับคนที่อยากมอบให้ได้แล้วหรือยัง?