New Southbound Policy Portal

สุนทรียภาพใหม่ของผลิตภัณฑ์ชา ศิลปะแห่งการผสมผสานกับการปรุงแต่ง

แบรนด์ชาระดับโลกไม่เพียงทำการผสมผสานและปรุงแต่งรสชาติ แต่ยังต้องสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ด้วย

แบรนด์ชาระดับโลกไม่เพียงทำการผสมผสานและปรุงแต่งรสชาติ แต่ยังต้องสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ด้วย
 

ไต้หวันเป็นแหล่งผลิตชาที่มีชื่อเสียงระดับโลก คุณคิดว่าจะแนะนำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ รู้จักกับวัฒนธรรมการดื่มชา ที่มีอยู่อย่างแพร่หลายในไต้หวันได้อย่างไร?

 

เมื่อก้าวเข้าสู่ย่านการค้าหย่งคัง (永康商圈) กลางกรุงไทเปที่คึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยว จะเจอกับร้านชาชื่อ Ateliea Tea ที่ตั้งอยู่อย่างเงียบๆ ด้านข้างสวนสาธารณะ ซึ่งปกติหลังเปิดร้านในช่วงเช้ามืดได้ไม่นานก็จะเห็นฝูงชนจำนวนมากเดินเข้ามาในร้าน

เมื่อกวาดสายตาไปโดยรอบ จะเห็นกระป๋องชาสีสันสดใสเรียงรายอยู่บนแผงของร้าน กระป๋องสีชมพูอมม่วงบรรจุใบชาหมักประเภทชาดำและชากวนอิมเหล็ก (เถี่ยกวนอิน) ส่วนกระป๋องสีเหลืองกว่าครึ่งบรรจุใบชาอูหลง ขณะที่กระป๋องสีเขียวใช้บรรจุใบชาปี้หลัวชุนและใบชาเปาจ่ง ซึ่งชาจำนวนนับสิบชนิดที่นำมาจัดแสดง ก็เหมือนกับการวาดภาพแผนที่ของชาไต้หวัน ที่ทำให้เหล่านักท่องเที่ยวเข้าใจได้ในทันทีที่มองเห็น
 

การดื่มชาไม่เพียงแค่สัมผัสรสชาติ แต่ยังต้องทำให้ชีวิตรู้สึกได้ถึงความผ่อนคลาย

การดื่มชาไม่เพียงแค่สัมผัสรสชาติ แต่ยังต้องทำให้ชีวิตรู้สึกได้ถึงความผ่อนคลาย
 

ลิ้มรสชาติการผจญภัยข้ามพรมแดน

นอกเหนือจากเป็นร้านที่เจาะจงจำหน่ายเฉพาะผลิตภัณฑ์ชาแล้ว ทางร้านยังมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้คนหนุ่มสาวรู้จักชาไต้หวัน เพื่อทำลายกรอบความคิดที่ว่า การดื่มชาเป็นเรื่องของคนสูงอายุ จึงริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ขึ้นเป็นจำนวนไม่น้อย

แม้แนวคิดในการดื่มชาแบบดั้งเดิมของไต้หวัน จะไม่ชินกับการดื่มชาที่ผ่านการผสมสิ่งอื่นลงไป แต่ที่ร้าน Ateliea Tea กลับเปิดพื้นที่ให้มีการนำเสนอชาหลากหลายชนิด ที่ผ่านการมิกซ์แอนด์แมทช์ ซึ่งมีการเพิ่มส่วนผสมอื่นเข้าไปด้วย

ชาที่ผ่านการผสมผสานจะไม่มีรสชาติของชาที่ชัดเจนเพียงชนิดเดียว เหมือนกับคนที่มีการหลอมรวมหลากหลายบุคลิกไว้ด้วยกัน “ขณะที่ดื่มจะได้กลิ่นหอมของชาเขียว แต่รสชาติที่สัมผัสได้ภายหลังกลับมีกลิ่นอายของชาดำ คุณหวังฮุ่ยหมิ่น (王慧敏) ผู้จัดการร้าน Ateliea Tea ชี้ไปที่กระป๋องชาสีม่วงซึ่งภายในบรรจุชาชื่อว่า Taiwanlang เป็นชาที่เกิดจากการมิกซ์แอนด์แมทช์ระหว่าง ชาอูหลงหยกจากภูเขาอาลีซัน กับชาดำจากทะเลสาบสุริยันจันทรา  จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อปีค.ศ.2018 ร้านชา Ateliea Tea ยังได้ร่วมมือกับ Tsujiri แบรนด์ชาเก่าแก่ของประเทศญี่ปุ่น ออกผลิตภัณฑ์ชาชื่อว่า “Taipei Green Matcha” โดยนำยอดอ่อนชาเขียวสี่ฤดูจากเขตซานเสีย มาผสมกับชามัทฉะจากญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อดื่มความรู้สึกแรกที่สัมผัสได้คือ กลิ่นชาเขียวแบบอ่อนๆ จากนั้นชามัทฉะที่ซ่อนตัวอยู่ก็จะค่อยๆ ส่งกลิ่นและรสออกมาให้สัมผัส เป็นการผสมผสานชาดีที่สุดจากสองประเทศ จนกลายเป็นเอกลักษณ์พิเศษได้อย่างลงตัว
 

การปรุงแต่งชาให้มีรสชาติและสีสันที่โดนใจ ทำให้คนหนุ่มสาวเปิดใจก้าวเข้าสู่โลกของชาอันกว้างใหญ่

การปรุงแต่งชาให้มีรสชาติและสีสันที่โดนใจ ทำให้คนหนุ่มสาวเปิดใจก้าวเข้าสู่โลกของชาอันกว้างใหญ่
 

ปรุงแต่ง ปรุงรส ให้เป็นระดับสากล

แม้ว่าคนไต้หวันจะยังไม่คุ้นชินกับชาผสม แต่สำหรับในต่างประเทศ การนำเอาชาต่างชนิด ต่างถิ่นเพาะปลูกมาผสมเข้าด้วยกัน หรือการเพิ่มดอกไม้ ผลไม้ วานิลลา คาราเมล ช็อกโกแลต และส่วนประกอบอื่นๆ ลงไปผสมกับใบชาเพื่อเพิ่มรสชาตินั้น เป็นสิ่งที่มีมานานมากแล้ว

ต้นกำเนิดแรกสุดคงต้องย้อนกลับไปในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งจะสิ้นสุดลง ในตอนนั้นมีใบชาจำนวนมากที่ขายไม่ออกเนื่องจากภาวะสงคราม จึงต้องหาวิธีนำชากลับมาแนะนำสู่ตลาดอีกครั้ง แต่เพราะถูกเก็บมานาน ทำให้มีกลิ่นอื่นๆ ผสมเข้าไป ดังนั้นผู้ค้าชาชาวตะวันตกจึงทดลองนำเอาส่วนผสมต่างๆ มาผสมเติมแต่ง เพื่อกลบกลิ่นแปลกๆ ที่ออกมาจากใบชา ประกอบกับช่วงหลังสงครามโลก ประชาชนพยายามหาวิธีฟื้นฟูสภาพบ้านเมืองและจิตใจให้ดีขึ้น การดื่มชาที่มีความแปลกใหม่ จึงกลายเป็นสิ่งที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของสังคมในขณะนั้น และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

ชาผสมที่วางจำหน่ายตามตลาดในปัจจุบัน ได้ลบคำครหาในอดีต ที่ต้องการกลบเกลื่อนคุณภาพชาไปจนหมดสิ้น เพราะแม้กระทั่งชาแบรนด์ดังระดับโลก ยังต้องหาเอกลักษณ์พิเศษมากขึ้น ทำให้ไม่ใช่เพียงเพื่อมองตลาดในระยะยาว แต่ยังต้องสร้างกระแสให้กลายเป็นประเด็นให้กลุ่มคนรักชาได้กล่าวถึงอีกด้วย

ถึงแม้ชาจะเป็นเครื่องดื่มสากล แต่เมื่อพูดถึงเรื่องวัฒนธรรมการดื่มชา ปัจจุบันในไต้หวันยังคงให้ความสำคัญกับตัวใบชาดั้งเดิมเป็นหลัก จนบางคนมองว่าชาผสมคือชาที่มีคุณภาพด้อยกว่า

คุณ Kelly หรือ หยางอวี้ฉิน (楊玉琴) ผู้เชี่ยวชาญด้านชาดำกล่าวว่า คนไต้หวันเคยชินกับการดื่มผลิตภัณฑ์ชาแบบดั้งเดิม เนื่องจากไต้หวันเป็นแหล่งเพาะปลูกชา ซึ่งง่ายต่อการเสาะหาใบชา คนไต้หวันส่วนใหญ่จึงมองหารสชาติที่โปรดปรานจากแหล่งผลิตใบชา อย่างเช่น ต้าอวี๋หลิ่ง (大禹嶺), หลีซาน (梨山) และซานหลินซี (杉林溪) ที่ต่างก็เป็นแหล่งเพาะปลูกชาคุณภาพดี

โต๊ะน้ำชาไม้ที่บ้านอากงอาม่า มักเป็นที่นั่งล้อมวงจิบน้ำชาและสนทนากันทั้งผู้ใหญ่และเด็ก เพื่อแบ่งปันเรื่องราวต่างๆ เป็นภาพในความทรงจำร่วมกัน แล้วเราจะเพิ่มชีวิตใหม่ให้กับชาไต้หวันได้อย่างไร เพื่อให้การดื่มชาที่เป็นเพียงความนิยมในหมู่ผู้สูงอายุ สามารถค้นพบแนวทางใหม่ที่กว้างไกลกว่าเดิม บางทีอาจสามารถใช้การผสมผสานและเติมรสชาติ ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับชานมไข่มุก ที่มีการเติมความคิดสร้างสรรค์ลงไป จนกลายเป็นที่นิยมไปทั่วโลก
 

ร้าน Dings Tea ใช้การตกแต่งร้านในสไตล์ตะวันตกเข้ากับชาโบราณในแบบตะวันออก จนทำให้มีความโดดเด่นอันทันสมัย แม้จะอยู่ในเจียอี้ ซึ่งเป็นถิ่นที่มีร้านชาตั้งอยู่มากมาย

ร้าน Dings Tea ใช้การตกแต่งร้านในสไตล์ตะวันตกเข้ากับชาโบราณในแบบตะวันออก จนทำให้มีความโดดเด่นอันทันสมัย แม้จะอยู่ในเจียอี้ ซึ่งเป็นถิ่นที่มีร้านชาตั้งอยู่มากมาย
 

สะสมรสชาติในไต้หวันไว้ให้นักท่องเที่ยว

ไม่ใช่แค่ Ateliea Tea ที่มีความคิดและพยายามฟื้นฟูชาไต้หวันให้อยู่รอด ในตอนเช้าของวันฝนตก เราได้เดินทางไปยัง Eighty-Eightea Rinbansyo บริเวณซีเหมินติง

ร้านน้ำชา Eighty-Eightea Rinbansyo อยู่ใกล้ๆ กับ Nishi Honganji Square สมัยก่อนร้านน้ำชาแห่งนี้เคยเป็นหอพักที่พระญี่ปุ่นจำวัดอยู่ในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวคลาคล่ำเป็นจำนวนมาก โรงน้ำชาที่มีกลิ่นอายแบบเซนแอบแฝงอยู่ ได้นำเสนอชาแบบต่างๆที่ถือเป็นตัวแทนของไต้หวัน มาช่วยสร้างประสบการณ์ในการชิมชา ที่ช่วยชำระล้างจิตใจให้กับเหล่านักท่องเที่ยวทั้งหลาย

ร้าน Eighty-Eightea Rinbansyo มีชาอูหลง ชาดำ และชาเขียวที่เพาะปลูกในไต้หวันเป็นพื้นฐาน นำเอาวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่นมาปรุงแต่ง จนได้รสชาติเกือบ 30 ชนิดที่พบได้ทั่วไป เช่น ดอกหอมหมื่นลี้ ดอกจำปี และดอกกุหลาบ ไม่เพียงเท่านี้ยังมีผลไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของไต้หวัน อย่างมะม่วงกับกล้วยหอม และเร็วๆ นี้ จะมีการนำเอาเครื่องเทศของชนเผ่าพื้นเมืองอย่าง มะแขว่น และตะไคร้ภูเขา (Litsea cubeba) รวมไปถึงไม้สนและไม้ซีดาร์ของไต้หวัน เข้ามาทำการผสมกับชาด้วย
 

คุณจงหมิงจื้อ เกษตรกรเพาะปลูกชารุ่นที่ 2 ทำการเปิดร้านชาเล็กๆ ไว้สำหรับนำเสนอชาที่เป็นแบรนด์ของตนเอง

คุณจงหมิงจื้อ เกษตรกรเพาะปลูกชารุ่นที่ 2 ทำการเปิดร้านชาเล็กๆ ไว้สำหรับนำเสนอชาที่เป็นแบรนด์ของตนเอง
 

การผสมผสานกันของกลิ่นชากับดอกไม้

“XUN” (อ่านว่า ซวิน) เป็นชื่อเรียกกรรมวิธีการทำชาดอกไม้ในสมัยโบราณ ไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระบวนการผลิตชาแบบนี้เลือนหายไป เนื่องจากการผลิตเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ถูกคนหนุ่มสาวที่ชื่นชอบการดื่มชาฟื้นฟูกลับมาอีกครั้ง

นอกจากร้าน Eighty-Eightea Rinbansyo แล้ว ยังมีร้าน Dings Tea ที่ตั้งอยู่ในเมืองเจียอี้ ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของการผลิตชาไต้หวัน

สิ่งที่แตกต่างกับชาผสมแบบตะวันตกคือ การนำเอาน้ำมันหอมระเหยสกัดมาทำเป็นกลิ่นหอมหลัก ส่วนใบชาจะผสมกลีบดอกไม้กับผลไม้อบแห้งลงไปเล็กน้อย เพื่อให้เกิดความสวยงามในยามที่ชมดู “ไต้หวันเป็นประเทศที่มีความชื้นสูง ดอกไม้สดจึงเสื่อมคุณภาพได้ง่าย และหากเติมผลไม้สดลงไป อาจดึงดูดแมลงด้วยเช่นกัน” เขาอธิบายขณะเปิดกระป๋องใส่ชาดอกไม้ของทางร้าน และเมื่อมองดูใบชาที่ผ่านการคัดกรองมาแล้ว ก็แทบจะไม่เห็นความแตกต่างจากใบชาทั่วไปเลย

ตามข้อมูลของที่คุณจงหมิงจื้อ (鍾明志) ค้นหามา ศิลปะการผลิตชาแบบ “XUN” เป็นวิธีการดั้งเดิมแบบโบราณของจีน สิ่งสำคัญอย่างแรกคือต้องนำดอกไม้ที่ยังตูมอยู่ มาคัดแยกเกสรและกลีบดอกออกจากกัน เพื่อหลีกเลี่ยงกลิ่นอื่นที่จะผสมลงไปในใบชา จากนั้นจึงนำใบชากับดอกไม้มาซ้อนกันทีละชั้นเรียงกันขึ้นไป แล้วจึงนำไปรมควันด้วยอุณหภูมิสูง เพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะช่วยให้กลิ่นหอมของดอกไม้ฟุ้งกระจายออกมา แต่ใบชาที่เปียกชื้นจะทำให้เกิดกลิ่นเหม็นได้ง่าย ดังนั้นในกรรมวิธี “XUN” การรักษาอุณหภูมิที่เหมาะสมให้คงที่จึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยจะต้องเพิ่มอุณหภูมิ ลดอุณหภูมิ และทำการอบแห้งซ้ำไปมา 3-5 ครั้ง จนในขั้นตอนสุดท้ายคือการให้คนคัดเลือกออกมาทีละดอก จึงถือว่ากระบวนการนี้เสร็จสมบูรณ์

ร้าน Dings Tea มีชาผสมดอกไม้ 3 ชนิด คือ ดอกหอมหมื่นลี้, ดอกมหาหงส์ และดอกจำปีแขก เมื่อพูดถึงชาดอกไม้ ภาพแรกที่คนทั่วไปมักจะนึกถึงคือ กลิ่นหอมของชาดอกมะลิซึ่งเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง วัฒนธรรมการดื่มชาดอกไม้ในไต้หวันยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก เพราะยังคงเชื่อกันว่าใบชาที่นำมาใช้ทำชาดอกไม้ เป็นใบชาเกรดรอง

ด้วยความเป็นคนหัวรั้น ทำให้คุณจงหมิงจื้อ (鍾明志) เลือกทำไร่ชาอูหลงของตนเองในหมู่บ้านไท่เหอ ตำบลเหมยซัน เมืองเจียอี้ เพื่อนำใบชาดังกล่าวมาใช้เป็นชาพื้นฐาน และทำการเปิดร้านน้ำชาเพื่อนำเอาผลิตภัณฑ์ชาของตนเองที่มีเอกลักษณ์พิเศษมาใช้ การเกิดใหม่ของร้านชาแบบดั้งเดิม ท่ามกลางร้านกาแฟกว่า 100 ร้านในเขตเมืองเจียอี้ จะต้องใช้ความพยายามไม่น้อยเพื่อก้าวขึ้นมาอยู่ในแถวหน้า ควบคู่กับการรักษาเอกลักษณ์ของตัวเองเอาไว้ให้ได้

จากการที่ดอกหอมหมื่นลี้และดอกจำปีแขก มีกลิ่นหอมเหมือนกับความหอมหวานของผลไม้ แอพริคอต กล้วยหอม และสับปะรด จึงสามารถเข้ากันได้อย่างลงตัว กับกลิ่นหอมของชาจินเซวียนอูหลงที่มีกลิ่นเหมือนเนย หรือแม้แต่กลิ่นของดอกมหาหงส์ที่มีกลิ่นหอมแบบเผ็ดร้อนของขิง ก็สามารถเข้ากันได้ดีกับกลิ่นของชาชิงซินอูหลง ที่หอมเหมือนดอกกล้วยไม้อันเลอค่า

เดิมทีคุณจงหมิงจื้อเกลียดการทำไร่ชาของที่บ้าน เพราะทุกวันหยุดในวัยเด็ก เขาจะไม่ได้มีโอกาสออกไปเที่ยวเล่นเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ แต่กลับต้องมาช่วยที่บ้านทำงานในไร่ชา คุณจงหมิงจื้อบอกว่า “ดังนั้นตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย จึงตั้งใจเลือกเรียนในสถาบันที่ห่างไกลจากบ้านมากที่สุดเป็นลำดับต้นๆ

จนกระทั่งเมื่อ 10 ปีก่อน ได้เกิดภัยพิบัติรุนแรงจากพายุไต้ฝุ่นมรกต ทำให้เขาตัดสินใจกลับมารับช่วงกิจการของที่บ้าน โดยแสวงหาช่องทางใหม่ๆ จากรากฐานของกิจการที่คุณพ่อสร้างไว้ให้ ผลักดันแบรนด์ชาของตนเอง และฟื้นฟูกรรมวิธีผลิตชาที่สูญหายไปแล้วให้กลับคืนมา ก่อนจะเริ่มเปิดร้านชาเล็กๆ เป็นของตัวเอง แม้ในอดีตจะเคยมีความคิดเห็นที่แตกต่าง และมีความขัดแย้งกับคนในครอบครัว แต่สุดท้ายแล้ว ในวันนี้เขาก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จากเด็กที่เคยหนีออกไปจากไร่ชา แต่ในตอนนี้เขากลับสามารถพูดและยอมรับได้อย่างภาคภูมิใจว่า “ความน่าสนใจของการทำชา ก็คือธรรมชาติพร้อมที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา”