New Southbound Policy Portal

นวัตกรรมแห่งหัตถศิลป์พื้นบ้าน มินิทรัมเป็ตกับไม้ขนไก่ย่อส่วน

เจียงเหวินจง นักออกแบบ ใช้การออกแบบมาให้คำนิยามใหม่ให้กับไม้ขนไก่

เจียงเหวินจง นักออกแบบ ใช้การออกแบบมาให้คำนิยามใหม่ให้กับไม้ขนไก่
 

การตกผลึกจากภูมิปัญญาแห่งบรรพชน และความประณีตบรรจงในการสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์แบบดั้งเดิม มีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย หรือถูกสิ่งใหม่ๆ มาทดแทนได้หรือไม่?

เพื่อเผยแพร่การเล่นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าทองเหลืองในไต้หวัน CarolBrass (Hoxon Gakki Corporation) จึงได้พัฒนาสินค้าเครื่องขยายเสียงสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ รูปทรัมเป็ตขนาดมินิและรูปลำโพงขึ้น เพื่อช่วยให้เสียงดนตรีกังวานมากขึ้น ส่วนเจียงเหวินจง (姜文中) นักออกแบบชื่อดัง ได้ลดขนาดของไม้ขนไก่แบบดั้งเดิมให้มีขนาดเล็กลง ก่อนจะใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไป ทำให้มันกลายเป็นอุปกรณ์ทำความสะอาดที่ใช้วางประดับบนโต๊ะทำงานได้ด้วย แถมยังช่วยสร้างความผ่อนคลายให้เหล่าพนักงานออฟฟิศไปในตัว ทั้งสองท่านนี้ต่างก็ได้นำเอาความคิดสร้างสรรค์และไอเดียใหม่ๆ มาใช้ในการรักษาไว้ซึ่งคุณค่าของงานหัตถศิลป์ แต่ก็เข้ากันได้กับแนวคิดใหม่ของยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปได้เป็นอย่างดี ความเลิศล้ำของแนวคิดที่ว่า “การย่อคือการขยาย” แก่นแท้ของศิลปะอันชอบธรรม ต่างก็ได้รับนิยามใหม่ ภายใต้กระแสแห่งวันเวลาที่ผันผ่าน

 

ภาพยนตร์เรื่อง Brassed Off ได้เล่าถึงเรื่องราวของเหล่านักดนตรีสมัครเล่นชาวอังกฤษในวงดนตรีเครื่องเป่าทองเหลือง ที่ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์แห่งชีวิตจากการที่เหมืองแร่กำลังจะปิดตัวลง ทำให้เกิดความรู้สึกว่าชีวิตอ้างว้างไร้จุดหมาย แต่เพราะการก้าวเข้ามาร่วมวงของมือคอร์เนตสาว (Cornet) ทำให้พวกเขาเกิดความรู้สึกว่ามีความหวังที่จะต่อสู้ต่อไปอีกครั้ง สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการบรรเลงเดี่ยว (โซโล่) ของนางเอกด้วยฟลูเกิลฮอร์นในบทเพลง Concierto de Aranjuez ที่สามารถถ่ายทอดท่วงทำนองอันซาบซึ้ง จนจุดประกายแห่งความหวังในการมีชีวิตต่อไปให้กับเหล่าสมาชิกในวง ทำให้ผู้ฟังรู้สึกอดไม่ได้ที่จะค้นหาเสน่ห์แห่งความเร้นลับของเครื่องดนตรีประเภทเครื่องลมทองเหลืองเหล่านี้
 

ไก่นำโชคสีดำขาว สื่อความหมายถึงการอยู่เป็นคู่ของเหล่าคู่รักทั้งหลาย

ไก่นำโชคสีดำขาว สื่อความหมายถึงการอยู่เป็นคู่ของเหล่าคู่รักทั้งหลาย
 

ประสบการณ์ครั้งแรกกับเครื่องเป่า

เมื่อเราไปถึงโรงงานเชิงท่องเที่ยวของ CarolBrass (卡羅爾銅管樂器觀光工廠) ในเขตนิคมอุตสาหกรรมต้าผูเหม่ย ที่ตั้งอยู่ในตำบลต้าหลินของเมืองเจียอี้ (嘉義縣大林鎮大埔美工業園區) เสียงแรกที่ได้ยินก็คือเสียงหัวเราะของเด็กๆ ที่ลอยล่องมาอย่างไม่ขาดสาย “ฮ่าๆๆๆ สนุกมากเลย” การได้ทดลองเป่าทรัมเป็ตเป็นครั้งแรก กับเสียงลมที่ถูกเป่าออกมาจากทรัมเป็ตเป็นครั้งแรกในชีวิต ทำให้เหล่าน้องๆ หนูๆ อดไม่ได้ที่จะส่งเสียงหัวเราะดังลั่น อ.หวังม่านจู๋ (王曼筑) ซึ่งเป็นอาจารย์สอนทรัมเป็ต ได้ให้คำแนะนำว่า “ให้ทำปากเป็นรูปตัว M แล้วก็ทำเหมือนกับว่าเราห่อก้างปลาชิ้นหนึ่งไว้ที่ปลายลิ้น แล้วพ่นเจ้าก้างปลานี่ออกมาทำให้เกิดเป็นเสียง” ก่อนที่จะเป่าออกมาเป็นเสียงดนตรี ทำให้เด็กๆ ที่นั่งฟังอยู่ต่างก็ร้องอุทานออกมาด้วยความชื่นชมว่า “อู้หู...” หลังจากได้ลองฟังเสียงสูงๆ ของเครื่องเป่าทองเหลือง เสียงอันไพเราะสดใสสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่ได้ยินเป็นอย่างดี
 

โรงงานเชิงท่องเที่ยว CarolBrass เปิดโอกาสให้ทุกคนได้สัมผัสกับเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าอย่างใกล้ชิด

โรงงานเชิงท่องเที่ยว CarolBrass เปิดโอกาสให้ทุกคนได้สัมผัสกับเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าอย่างใกล้ชิด
 

รุกตลาดโลกด้วยกลยุทธ์การผลิตตามความต้องการของลูกค้า

โรงงานเชิงท่องเที่ยวของ CarolBrass ก่อตั้งขึ้นในปี 2015 โดย Hoxon Gakki Corporation ซึ่งมีประสบการณ์ในการผลิตทรัมเป็ตมายาวนานกว่า 30 ปี ในช่วงระหว่างการเที่ยวชม ทำให้เหล่านักท่องเที่ยวที่มีอายุ 50-60 ปีจำนวนไม่น้อย มีโอกาสได้เห็น ได้สัมผัส และได้ลองเป่าทรัมเป็ตเป็นครั้งแรก และเปิดโอกาสให้ได้ทำตามความฝันที่อยากเล่นดนตรีเมื่อครั้งยังเยาว์วัย แต่ไม่เคยกลายเป็นความจริง

คุณหลี่กั๋วอัน (Carl K.A. Lee) ก่อตั้งบริษัท Hoxon Gakki Corporation ขึ้นในปี 1989 เพื่อเป็นโรงงาน OEM ในการผลิตเครื่องเป่าทองเหลืองให้กับแบรนด์เครื่องดนตรีต่างชาติ ทั้งในส่วนของทรัมเป็ต คอร์เนต ทรอมโบน และฟลูเกิลฮอร์น ซึ่งแม้ว่าคุณภาพของผลิตภัณฑ์จะสามารถแข่งขันกับโรงงานใหญ่ๆ ได้ หากแต่ผลกำไรส่วนใหญ่กลับตกอยู่ในมือของพ่อค้าคนกลางเสียมากกว่า ในปีค.ศ.2002 หลี่กั๋วอันจึงตัดสินใจจะออกแบรนด์ของตัวเอง คือ Carol และออกตระเวนเข้าร่วมงานแสดงสินค้า เพื่อหาใบสั่งซื้อจากลูกค้าในที่ต่างๆ ด้วยตัวเอง ก่อนจะมีการทำรีแบรนด์อีกครั้งในปี 2011 ให้กลายเป็น CarolBrass เพื่อวางตำแหน่งใหม่ในตลาด

Hoxon Gakki Corporation ได้วางกลยุทธ์ในการทำการตลาดด้วยการผลิตสินค้าตามความต้องการของลูกค้า ทั้งในส่วนของวัสดุ เส้นผ่าศูนย์กลาง ตัวท่อ รวมไปจนถึงความหนาของปากลำโพง ให้เป็นไปตามความต้องการของนักดนตรีแต่ละราย เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับโรงงานใหญ่ๆ ในตลาดโลก

ด้วยความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนสายการผลิต จึงสามารถผลิตสินค้าได้หลากหลายด้วยปริมาณไม่มาก ทำให้ Hoxon Gakki Corporation เป็น 1 ในโรงงานผลิตเครื่องเป่าทองเหลืองของไต้หวัน ที่สามารถทำได้ทุกขั้นตอน ตั้งแต่ผลิตชิ้นส่วน ประกอบ ไปจนถึงการทำตลาดแบรนด์ อาทิ ทรัมเป็ต ซึ่งมีชิ้นส่วนประมาณ 100 กว่าชิ้น และมีขั้นตอนในการผลิตมากถึง 240 ขั้นตอน หากแต่วิศวกรผู้ออกแบบกลับสามารถกำหนดจุดเชื่อมต่อแต่ละจุดได้อย่างแม่นยำ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความไพเราะและสมดุลของระดับเสียงต่างๆ ที่ถูกเป่าออกมา
 

ในกระบวนการผลิต นายช่างจะควบคุมความโค้งและเส้นผ่าศูนย์กลางของกำพวดและลำโพงให้แม่นยำ จึงจะผลิตเครื่องดนตรีที่มีคุณภาพออกมาได้

ในกระบวนการผลิต นายช่างจะควบคุมความโค้งและเส้นผ่าศูนย์กลางของกำพวดและลำโพงให้แม่นยำ จึงจะผลิตเครื่องดนตรีที่มีคุณภาพออกมาได้
 

ขนาดเล็กลง แต่เสียงดนตรีกลับกังวานไปทั่ว

Hoxon Gakki Corporation ได้ส่งออกสินค้าที่ผลิตขึ้นไปยังกว่า 30 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งยังเคยรับคำสั่งซื้อจากประเทศเรอูนียงในทวีปแอฟริกา อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าเสียดายว่าจำนวนลูกค้าของบริษัทในไต้หวัน กลับมีสัดส่วนเพียงหลักหน่วยเท่านั้น ทำให้หลี่กั๋วอันตัดสินใจที่จะเปิดประตูโรงงานเพื่อต้อนรับแขกผู้มาเยือนจากในประเทศ ให้มีโอกาสได้สัมผัสกับเครื่องเป่าทองเหลืองมากขึ้น ก่อนจะนำเอาสิ่งที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญในการผลิตมากที่สุดคือ “หลอดฮอร์น” มาผลิตเป็นลำโพงสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมโรงงานมีสินค้าให้ซื้อติดมือกลับไป แม้จะไม่ได้ซื้อทรัมเป็ตก็ตาม

หลี่กั๋วอันใช้เวลาในการขบคิดไม่น้อยว่าจะทำอย่างไร เพื่อเพิ่มจำนวนผู้เล่นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่าในไต้หวันให้มากยิ่งขึ้น ก่อนจะตัดสินใจเริ่มจากการพยายามลดระดับอายุของผู้ที่จะเริ่มเรียนให้น้อยลง ในปีค.ศ.1989 Hoxon Gakki Corporation ได้พัฒนาทรัมเป็ตฉบับกระเป๋า ซึ่งมีขนาดเพียงครึ่งหนึ่งของทรัมเป็ตโดยทั่วไป  สำหรับให้เหล่านักทรัมเป็ตมืออาชีพสามารถพกพาไปในที่ต่างๆ เพื่อความสะดวกในการฝึกซ้อม ก่อนที่จะตัดสินใจย่อขนาดอีกครั้ง ด้วยการย่อส่วนทรัมเป็ตฉบับกระเป๋าให้กลายเป็นมินิทรัมเป็ต

หลี่กั๋วอันอธิบายว่า “หลักๆ ก็คือปรับเปลี่ยนการม้วนของท่อลมปรับเสียง และทำให้มีน้ำหนักเหลือเพียง 800 กรัม โดยมีขนาดเพียง 1 ใน 3 ของทรัมเป็ตทั่วไป” ซึ่งหลังผ่านการออกแบบ 3D ด้วยคอมพิวเตอร์ ก่อนจะทดลองผลิตและปรับเปลี่ยนซ้ำไปซ้ำมาหลายๆ ครั้ง ในที่สุด มินิทรัมเป็ตก็ได้รับสิทธิบัตรจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป รวม 4 ประเทศ และด้วยความที่มีขนาดเล็กนี่เอง ทำให้อายุของเด็กที่เริ่มเรียนเป่าทรัมเป็ตขยับลงจากเดิม ที่ควรเป็นเด็กที่เรียนอยู่ชั้นประถม 3 หรือ 4 ลดลงมาเหลือเพียงเป็นเด็กที่เรียนในชั้นอนุบาล 2 ก็สามารถเริ่มเรียนได้แล้ว ซึ่งผลงานจากไอเดียแบบเล็กๆ ในการผลิตมินิทรัมเป็ต แตรเดี่ยวมินิ และลำโพงมินิของโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้ Hoxon Gakki Corporation สามารถคว้ารางวัลการออกแบบผลิตภัณฑ์ OTOP ยอดเยี่ยม 3 ปีซ้อนจากกระทรวงเศรษฐการไต้หวัน (MOEA) เลยทีเดียว
 

หากในบ้านมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ไม่ใช้งานแล้ว ก็สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องเล่น MP3 ได้ ด้วยการต่อเข้ากับลำโพงปากแตร ทำให้เครื่องดนตรีสามารถกลายเป็นของแต่งบ้านได้ด้วย

หากในบ้านมีโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ไม่ใช้งานแล้ว ก็สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องเล่น MP3 ได้ ด้วยการต่อเข้ากับลำโพงปากแตร ทำให้เครื่องดนตรีสามารถกลายเป็นของแต่งบ้านได้ด้วย
 

ชุบชีวิตใหม่ให้แก่งานหัตถศิลป์พื้นบ้านด้วยการออกแบบ

อีกหนึ่งงานหัตถศิลป์แบบดั้งเดิมที่ถูกชุบชีวิตด้วยการออกแบบ คือ “วั่งจ่ายจี หรือชุดไก่นำโชค (旺仔雞)” เป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ของเจียงเหวินจง ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง Hands craft studio ได้นำสิ่งของในชีวิตประจำวันที่แทบจะถูกลืมไปแล้วอย่างไม้ขนไก่ มาเปลี่ยนเป็นอุปกรณ์ทำความสะอาดคีย์บอร์ด หรือทำเป็นแปรงปัดสำหรับเหล่าช่างไม้ จนทำให้มันกลับมาอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนอีกครั้ง สัมผัสอันนุ่มละมุนของขนไก่ จึงได้กลายมาเป็นของใช้ประจำโต๊ะทำงานของเหล่าพนักงานออฟฟิศที่สามารถช่วยผ่อนคลายความเครียดจากการทำงานได้ด้วย

อ.เจียงเหวินจงเปิดเผยถึงสาเหตุที่เลือกเอาไม้ขนไก่มาใช้ในการออกแบบว่า เมื่อหลายปีก่อนขณะที่เดินชมนิทรรศการภาพถ่าย “ไต้หวันที่สวยที่สุดในความคิดของคุณ” ตนรู้สึกตะลึงเป็นอย่างมากต่อภาพถ่ายของ อ.เฉินจงลู่ (陳忠露) ซึ่งเป็นช่างทำไม้ขนไก่อาวุโสในตำบลผู่เหยียน เมืองจางฮั่ว (彰化埔鹽鄉) ที่ถ่ายภาพร่วมกับไม้ขนไก่ เพราะนี่ถือเป็นของใช้ที่แทบจะหายจากชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว ทำให้นึกถึงความทรงจำเมื่อครั้งยังเด็กที่ถูกอาม่า “ตี” ด้วยไม้ขนไก่ และเมื่อเจียงเหวินจงกำลังจะออกแบบผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ ภาพของไม้ขนไก่จึงผุดขึ้นมาในสมอง

เจียงเหวินจงเริ่มการออกแบบด้วยการหาไม้ซึ่งมีลายและเส้นใยที่เหมาะสม ก่อนจะลงตัวที่ไม้บีชกับไม้สัก และเริ่มลงมือออกแบบด้ามจับใหม่ โดยให้ความสำคัญกับความเหมาะมือเวลาที่จับ พร้อมลดขนาดให้เล็กลง และเลือกใช้ขนจากบริเวณท้องของแม่ไก่มาใช้ในการสร้างสรรค์เป็นผลงานที่มีชื่อว่า “เสี่ยวจือจี (ไก่ตัวน้อย)” ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการทำความสะอาดหน้าจอและคีย์บอร์ดของคอมพิวเตอร์ อันถือเป็นการเพิ่มวิธีใช้งานแบบใหม่ให้กับไม้ขนไก่

เพื่อให้สะดวกต่อการจัดเก็บ เจียงเหวินจงจึงได้นำเอาเครื่องเซรามิกของอิงเกอ (鶯歌) มาผสมผสานกับไม้ขนไก่ พร้อมกับตั้งชื่อว่า “วั่งวั่งจี (ไก่นำโชค)” โดยตัวที่ถูกทาสีทองที่ปากจะถูกเรียกว่า “จินจุ่ยวั่งวั่งจี (ไก่นำโชคปากทอง)” และเมื่อนำมาเข้าชุดกับเสี่ยวจือจี ก็จะกลายเป็น “วั่งจ่ายจี” หรือ “ไคยุ่นจี” ซึ่งต่างก็หมายถึงไก่นำโชค การตั้งชื่ออย่างสร้างสรรค์ ถือเป็นการเพิ่มเสน่ห์ให้กับของใช้ในชีวิตประจำวันได้ไม่น้อย จนทำให้ในปีค.ศ.2018 เจ้าไก่นำโชค "ไคยุ่นจี" นี้ สามารถคว้ารางวัล Golden Pin Award ซึ่งถือเป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุด ของวงการออกแบบของไต้หวันเลยทีเดียว

นอกจากนี้ เจียงเหวินจงยังชักชวนให้ อ.เฉินจงลู่ ช่างทำไม้ขนไก่ของเมืองจางฮั่ว รับหน้าที่เป็นผู้ผลิตไม้ขนไก่ที่เขาเป็นคนออกแบบด้วย และในช่วงปีเศษที่ผ่านมา หลังจากที่ไม้ขนไก่ชุดนี้ ถูกนำไปวางจำหน่ายในร้านค้า ที่อยู่ใน Songshan Cultural & Creative Park และ Maji Food & Deli นั้น ก็สามารถช่วยให้ อ.เฉินจงลู่ ได้รับคำสั่งซื้อให้ผลิตไม้ขนไก่ มากถึง 4,000 กว่าด้ามด้วย

งานหัตถศิลป์พื้นบ้านได้กลับมาอยู่ในชีวิตประจำวันของเราอีกครั้ง ผ่านการออกแบบด้วยความคิดสร้างสรรค์ เจียงเหวินจงกล่าวว่า “ผมยังมีความใฝ่ฝันในอนาคตอีกอย่างหนึ่ง คือการนำเอาองค์ประกอบและทรัพยากรแบบไต้หวันดั้งเดิม มาสร้างสรรค์ให้เป็นแบรนด์ด้านไลฟ์สไตล์ ที่เปี่ยมไปด้วยกลิ่นอายความเป็นไต้หวัน ในรูปแบบเดียวกับ MUJI ของญี่ปุ่น”

การออกแบบสามารถสร้างชีวิตอันสดใสให้กับงานหัตถศิลป์พื้นบ้าน เช่นเดียวกับเสียงที่ถูกเป่าออกมาจากมินิทรัมเป็ต ซึ่งนำพาให้อุตสาหกรรมพื้นบ้านได้พบกับเส้นทางสายใหม่ รวมไปถึงวั่งจ่ายจีที่ช่วยเปิดท้องฟ้าอันสดใสแห่งฤดูใบไม้ผลิให้กับงานหัตถศิลป์ดั้งเดิมอย่างไม้ขนไก่ด้วยเช่นกัน