New Southbound Policy Portal
จุดประกายความคิดของผู้ชมผ่านผลงาน ถือเป็นเป้าหมายในการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินยุคร่วมสมัย ในภาพคือผลงานชื่อว่า “อนุสาวรีย์เถ้ากระดูก” ของหูฟงเหวิน (胡丰文 FX Harsono) ชาวอินโดนีเซีย
เมื่อพูดถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประชาชนไต้หวันส่วนมากมองว่า มีภาษา ศาสนา วัฒนธรรมที่แตกต่าง และยังเป็นดินแดนที่อยู่ห่างไกลจากไต้หวัน แต่ถ้ามองถึงผลงานศิลปะร่วมสมัยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ประเทศเหล่านี้เคยผ่านการเป็นอาณานิคม ได้รับเอกราช และต่อสู้เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย เราอาจเห็นได้ว่า ที่จริงแล้วก็มีส่วนที่มีความคล้ายคลึงกันกับไต้หวันมากกว่าที่เราคิด
เมื่อช่วงฤดูร้อนปีค.ศ.2019 พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์เกาสงจัดงานนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ใหญ่ที่สุดครั้งแรกในไต้หวัน “Sunshower” (太陽雨) ซึ่งเดิมจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น ด้วยงบประมาณในการจัดงานสูงถึง 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยใช้ภัณฑารักษ์ถึง 14 คน หลังจากทำการวิจัยสำรวจในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นานกว่า 2 ปี จึงเกิดงานนิทรรศการศิลปะนี้ขึ้น ภายใต้คำเชิญให้ร่วมจัดงานกับพิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์เกาสง ทำให้ประชาชนสามารถสัมผัสผลงานศิลปะ จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในไต้หวัน
ความเข้าใจอย่างแท้จริง
เมื่อพูดถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภาพในหัวของทุกคนที่มีต่อประเทศในภูมิภาคนี้ คือความยากจนและล้าหลัง โดยมองข้ามประวัติศาสตร์อันยาวนาน ที่เป็นบ่อเกิดของศิลปวัฒนธรรมอันอุดมสมบูรณ์
หลี่อวี้หลิง (李玉玲) ผอ.พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์เกาสง ซึ่งเคยศึกษาต่อในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เคยเห็นความโดดเด่นของศิลปะร่วมสมัยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในงานระดับนานาชาติหลายครั้งหลายครามานานแล้ว และจากสถิติของกระทรวงแรงงานไต้หวัน ณ สิ้นปีค.ศ.2018 ไต้หวันมีแรงงานต่างชาติจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เดินทางมาทำงานร่วม 710,000 คน เมื่อประกอบกับจำนวนผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ และผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่รุ่นที่สอง ตัวเลขที่คำนวณออกมาได้ ยิ่งมีจำนวนมาก ประเทศเหล่านี้มีความเกี่ยวพันกับไต้หวันอย่างใกล้ชิด แต่กระนั้นแล้ว ประชาชนไต้หวันกลับไม่ค่อยรู้จักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากนัก ยังคงมีอคติแบบเก่าอยู่ จึงถือว่ามีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ที่จะเริ่มเปิดการพูดคุยสนทนาระหว่างกัน ดังนั้น คุณหลี่อวี้หลิงจึงนำศิลปะร่วมสมัยมาใช้เป็นช่องทาง เพื่อช่วยให้คนไต้หวันได้มีโอกาสรู้จักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น “หวังว่าผู้คนจะเปิดใจต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไม่ใช่มองแต่เพียงในแง่ของโอกาสทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นแรงงาน คู่สมรส หรือผู้บริโภค 600 ล้านคน แต่มองว่าพวกเขาสามารถที่จะมีความสัมพันธ์อันดีร่วมกันกับเราได้จริงๆ” คุณหลี่อวี้หลิงกล่าว
ความคล้ายคลึงซึ่งกันและกัน
ถึงแม้ว่าไต้หวันและประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีภาษา ศาสนา และประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน แต่เคยผ่านประสบการณ์การเป็นอาณานิคม การได้รับเอกราช ความเป็นประชาธิปไตย และการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วเหมือนกัน เติงหลิน (Htein Lin) ศิลปินชาวเมียนมา ผู้เคยต้องโทษจำคุกนาน 7 ปี ด้วยข้อหาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล แม้ภายนอกจะถูกจำคุกแต่ไม่อาจขัดขวางหัวใจ ที่อยากสร้างสรรค์ผลงานของเขาได้เลย ในช่วงเวลาที่อยู่ในเรือนจำ เติงหลินนำชุดนักโทษเก่าๆ มาใช้แทนผืนผ้าใบ และใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่อย่างจำกัดรอบๆ ตัว เช่น หลอดยาสีฟัน กระจกที่แตก มาสร้างสรรค์ผลงานชุด “00235” ซึ่งเป็นรหัสนักโทษของเขา ในที่สุดแล้ว หลังจากเขาได้รับการปล่อยตัว ผลงานเหล่านี้ก็มีโอกาสปรากฏสู่สายตาชาวโลก นับเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ในระหว่างต้องโทษในเรือนจำ และยังแสดงให้เห็นถึงการขวนขวายและยืนหยัดในชีวิตและอุดมการณ์ของศิลปิน
เมื่อชมผลงานของเติงหลิน ทำให้ผู้คนนึกถึงโอวหยางเหวิน (歐陽文) ช่างภาพชาวไต้หวัน ที่ถูกจำคุกบนเกาะลวี่เต่าในยุคขาวสยอง (White Terror) เมื่อครั้งหนึ่งประธานาธิบดีเจี่ยงจิงกั๋วเดินทางไปตรวจการณ์ที่เกาะลวี่เต่า โอวหยางเหวินได้รับคำสั่งให้ทำหน้าที่ช่างภาพ เขาจึงมีห้องล้างฟิล์มแบบง่ายๆ และแอบเก็บฟิล์มภาพถ่ายที่เหลือเอาไว้ มาใช้ในการถ่ายภาพสภาพสังคมและวัฒนธรรมบนเกาะลวี่เต่า จนกลายเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่ทรงคุณค่าของเกาะลวี่เต่าในยุค 1950 และ 1960
ผลงานชุด Sunshower ของเจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และชัย ศิริษ์ ศิลปินชาวไทย
ศิลปะคลาสสิกเน้นความกลมกลืนและความงาม ขณะที่ศิลปะร่วมสมัยมักเน้นการกระตุ้นความรู้สึกนึกคิดของผู้ชมมากกว่า เกือบ 40 ปีแล้วที่แต่ละประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมอย่างรุนแรง ศิลปะร่วมสมัยที่แวดล้อมด้วยประเด็นทางสังคม จึงเจริญก้าวหน้าไปควบคู่กัน บรรดาศิลปินได้ซึมซับสิ่งที่หล่อเลี้ยงความคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยไม่ยึดติดกับรูปแบบ ทำให้ศิลปะร่วมสมัยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีธีมอันหลากหลาย
อย่างเช่นผลงานชุด Sunshower ของเจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ศิลปินและผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทย ร่วมกับชัย ศิริษ์ ศิลปินชาวไทย ที่นำช้างเทียมหนัก 4 ตัน มาแขวนกลางอากาศได้อย่างน่าทึ่ง คุณอภิชาติพงศ์ซึ่งเชี่ยวชาญในการใช้แสงและเงา วางแหล่งกำเนิดแสงรูปทรงกลม เป็นสัญลักษณ์แทนพระจันทร์ไว้ที่ด้านหน้าของช้าง และเมื่อมองใกล้ๆ จะเห็นลวดลายบนผิวหนังและเส้นขนของช้างได้อย่างชัดเจน เมื่อสีของพระจันทร์ที่อยู่ข้างหน้าเปลี่ยนไป จะทำให้อารมณ์ของช้างเปลี่ยนตามไปด้วย ดวงตาที่เปิดอยู่ครึ่งหนึ่งเหมือนกึ่งหลับกึ่งตื่น ทำให้ช้างดูราวกับมีชีวิตจริงๆ
ผลงานชิ้นนี้จัดอยู่ในโซน “การพัฒนาทางเศรษฐกิจและการสืบทอดมรดก” ของนิทรรศการ ในประเทศไทย ช้างถือเป็นสัญลักษณ์ของการเคารพบูชา แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นเพียงเครื่องมือสำหรับการท่องเที่ยว ดึงดูดนักท่องเที่ยวเท่านั้น ศิลปินได้ตั้งคำถามแก่ผู้ชมว่า “มนุษย์ยุคปัจจุบันควรอยู่ร่วมกันกับสิ่งแวดล้อมอย่างไร?” คุณหลี่อวี้หลิงกล่าวว่า สิ่งที่ต้องฝ่าฟันจากความทันสมัย ไม่ใช่แค่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องประสบ แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศที่ถูกล่าอาณานิคม ประเทศเจ้าอาณานิคมได้นำความทันสมัยเข้ามา นำไปสู่ประชาธิปไตย, การปกครอง, เสรีภาพ, ความสะดวกสบาย และค่านิยมต่างๆ แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า มีบางสิ่งที่ถูกลบเลือนหายไปจากกระบวนการนี้ด้วย
มุมมองที่หลากหลาย
ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น พิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์เกาสงจึงได้เชิญผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ทุกชาติในไต้หวัน ทำหน้าที่เป็นทูตวัฒนธรรม นำเสนอเรื่องราวชีวิต นอกเหนือจากความเชี่ยวชาญทางศิลปะ ผ่านมุมมองของพวกเขา เนื่องจากยังขาดความเข้าใจในประวัติศาสตร์ของชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ผู้ชมมักดูผลงานในนิทรรศการแบบผ่านๆ แต่ในสายตาของหร่วนชิงเหอ (阮青河 Nguyen Thi Thanh Ha) ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ชาวเวียดนาม ซึ่งมีความรู้ทางประวัติศาสตร์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างลึกซึ้ง สามารถเข้าใจความหมายของผลงานเหล่านั้นได้ดียิ่งกว่า
“ทางหลวงหมายเลข 5” ผลงานของลิม โศกจันลินา (Lim Sokchanlina) ศิลปินชาวกัมพูชา ที่ใช้รูปถ่ายบันทึกผลกระทบของการก่อสร้างทางด่วน ที่มีต่อชุมชนที่อยู่อาศัยโดยรอบ นอกจากจะสัมผัสได้ถึงความเจ็บปวดและความหวังที่เกิดจากการพัฒนา ซึ่งศิลปินถ่ายทอดออกมาได้เป็นอย่างดีแล้ว หร่วนชิงเหอยังมองว่าจากเส้นสายปลายเหตุในรูปถ่าย อาจทำให้พบร่องรอยของครอบครัวชาวเวียดนามที่อาศัยในกัมพูชาก็เป็นได้ โดยทั่วไปคนกัมพูชาที่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทจะไม่ไหว้บรรพบุรุษที่บ้าน แต่ในผลงานกลับใส่รูปถ่ายของบรรพบุรุษสามใบและกระถางธูป ซึ่งเหมือนกับขนบธรรมเนียมประเพณีของเวียดนาม และเจ้าของบ้านยังตั้งตี่จู๋เอี๊ยะหรือเจ้าที่เจ้าทางไว้กับพื้นเช่นเดียวกับคนเวียดนาม โดยหร่วนเหอชิงเล่าว่า ที่เวียดนาม ตี่จู๋เอี๊ยะปกปักรักษาผืนดินจึงตั้งไว้บนพื้น แต่ในไต้หวันจะวางตี่จู๋เอี๊ยะไว้บนโต๊ะบูชาพระ ซึ่งแตกต่างกันมาก นอกจากนี้ ที่เวียดนามตี่จู๋เอี๊ยะคือเทพที่ประสมประสานกับไฉ่ซิงเอี๊ยะ หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ รูปลักษณ์ภายนอกจึงคล้ายกับพระสังกัจจายน์ พุงโต ยิ้มแป้น มีรูปลักษณ์ต่างจากไฉ่ซิงเอี๊ยะของไต้หวัน ที่สวมหมวกสีดำและชุดขุนนาง
การขับเคลื่อนทางวัฒนธรรมเริ่มต้นจากการพูดคุย
คุณหลี่อวี้หลิงเปรียบเปรยแรงงานต่างชาติเหมือนกับทูตสวรรค์ เขาสนับสนุนให้เพื่อนร่วมงานพาแรงงานต่างชาติในบ้านมาชมนิทรรศการ มีอยู่ครั้งหนึ่ง คุณหลี่อวี้หลิงพบจิตอาสากำลังนำคุณแม่วัยชราและผู้อนุบาลชมนิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์ เมื่ออาหย่า ชาวอินโดนีเซีย เห็นผลงานชิ้นมหึมา “ร้านของชำอินโดนีเซีย” ที่ออกแบบโดย อังกุน เปรียมโบโด (Anggun Priambodo) จัดวางของใช้ในชีวิตประจำวันแต่ละชนิดของอินโดนีเซีย และเต็มไปด้วยของตกแต่งสไตล์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาหย่าที่ดูเป็นคนขี้อาย ก็เริ่มเอ่ยปากบอกเล่าเรื่องราวของสิ่งของจากบ้านเกิดด้วยความตื่นเต้น ทำให้จิตอาสาและคุณแม่รู้สึกประหลาดใจและดีใจมากด้วย
ไม่เพียงแต่หวังให้ผู้ใหญ่มาชมพิพิธภัณฑ์เท่านั้น คุณหลี่อวี้หลิงยังคาดหวังให้เด็กๆ สามารถเดินเข้ามาชมพิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์เกาสง เพื่อสัมผัสกับเรื่องราวเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเช่นกัน คุณหลี่อวี้หลิงกล่าวว่า ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่มักถูกเหมารวมว่ามีฐานะทางการเงินไม่ดี ทำให้ลูกของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ขาดการยอมรับในวัฒนธรรมของมารดา มักรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าเพื่อนร่วมชั้น หรือถึงขั้นถูกกลั่นแกล้ง ภายใต้การสนับสนุนของสโมสรโรตารีสากลทำให้เด็กๆ ในพื้นที่ทุรกันดารนับร้อยคนได้มีโอกาสมาชมนิทรรศการ Sunshower เจ้าหน้าที่นำชมนิทรรศการได้สร้างบรรยากาศให้เด็กๆ เปิดใจยอมรับในวัฒนธรรมบ้านเกิดของคุณแม่ และสนับสนุนให้เด็กคนอื่นๆ กล้าถามเพื่อนร่วมชั้น ที่เป็นผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่รุ่นที่สอง
ถึงแม้ว่านิทรรศการ Sunshower จะปิดฉากลงไปแล้ว แต่ก็ตามมาด้วยนิทรรศการ “TATOO รอยสัก : รอยประทับแห่งกายา” และนิทรรศการ “Pan-Austronesian Indigeneity and Contemporary Art” ซึ่งกำลังจะจัดขึ้นในปี 2020 เป็นงานแสดงผลงานศิลปะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแง่มุมที่แตกต่างออกไป คุณหลี่อวี้หลิงกล่าวว่า นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำความเข้าใจต่อวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หวังว่าผู้ชมนิทรรศการจะกลายเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ช่วยเผยแพร่ให้คนอื่นๆ เริ่มมีความเข้าใจ และเปิดโลกทัศน์ที่มีต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้