New Southbound Policy Portal

หนังสือนำเที่ยวที่เล่าขานตำนานเรื่องราว ศึกษาปัญหาในท้องถิ่นไต้หวันผ่านเกมการละเล่น

อู๋หย่าเซวียน (ขวา) กับหลินจื้ออวี้ ผู้ก่อตั้ง Clubon

อู๋หย่าเซวียน (ขวา) กับหลินจื้ออวี้ ผู้ก่อตั้ง Clubon
 

ในช่วงแรกที่ไต้หวันเริ่มแนวทางวงจรการเรียนแบบกลับด้านเมื่อปีค.ศ.2015 แนวคิดเกี่ยวกับการใช้เกมเพื่อการศึกษา ถูกให้ความสำคัญเป็นอย่างมากจนกลายเป็นวิธีถ่ายทอดองค์ความรู้ในรูปแบบใหม่ แต่หลังจากที่กระแสความนิยมนี้แพร่เข้าสู่สังคม ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเกมกระดานและเกมออนไลน์แนวใหม่ที่มีเนื้อหาและรูปแบบหลากหลาย ในจำนวนนี้เกมชีวิตจริงที่เล่นกันกลางแจ้ง สามารถเร่งเร้าประสาทสัมผัสได้มากกว่าเกมชนิดอื่น สร้างความประทับใจให้แก่ผู้เล่นได้เป็นอย่างมาก

 

ทีมงานของไต้หวันพาโนรามาได้ลองสัมผัสกับเกม Through the Photo Studio ของบริษัท Clubon และเกม Hitting the Streets of Bangka ของสมาคม Homeless Taiwan อีกทั้งเฝ้าสังเกตการณ์ว่า จะต้องออกแบบเกมอย่างไรจึงจะสามารถดึงดูดความสนใจของผู้เล่นเกมและทำให้พวกเขาได้รู้จักประวัติความเป็นมาของเมืองในระหว่างที่เล่นเกม โดยเริ่มจากการสัมผัสกับการใช้ชีวิตเร่ร่อนข้างถนน 1 วัน ซึ่งจะทำให้เข้าใจถึงประเด็นปัญหาและเรื่องราวชีวิตของคนจรจัดไร้ที่อยู่อาศัย

 

เริ่มจากการทำความเข้าใจประวัติความเป็นมาของเมือง

แบ็กกราวด์ของเกม Through the Photo Studio มาจากละแวกศาลเจ้าจิ่งฝู นครเถาหยวน ตัวละครเอกคือนักเรียนมัธยมปลายชายคนหนึ่งกับชายชราท่าทางแปลกๆ ที่ร่อนเร่อยู่ที่ย่านถนนโบราณคนหนึ่ง ต่อมาทั้งสองหายตัวไป ทิ้งไว้เพียงสมุดบันทึกของเด็กนักเรียนชายที่เอ่ยถึง ชายชรามีกล้องถ่ายรูปที่สามารถย้อนเวลากลับไปหาอดีต และยังมีเพื่อนของเขาอีก 5 คน ซึ่งอาศัยอยู่ในย่านถนนโบราณมาเป็นเวลายาวนานที่รู้เรื่องนี้ ภารกิจของผู้เล่นคือ ต้องหาสาเหตุการหายตัวไปของเด็กนักเรียนชายกับชายชรา ด้วยการสืบหาร่องรอยหลักฐานจาก 5 คนนี้ และปะติดปะต่อเรื่องราวความจริงออกมาให้ได้

กลุ่มผู้เล่นที่อายุไม่ถึง 30 ปี เดินเข้าไปในตลาดค้าปลีกหย่งเหอที่ปกติแทบไม่เคยย่างกรายเข้าไป ช่วงบ่ายตลาดปิดแล้ว ภายในมืดสลัวเพราะปิดไฟไว้ แต่มีผู้หญิงคนหนึ่งสวมชุดแซกกระโปรง แต่งหน้าเข้มจัด ยืนพิงประตูลิฟต์ ส่งเสียงเรียกลูกค้าให้มาซื้อขนมขบเคี้ยว  เธอชื่อเจ๊เย่า "พวกเธอมาทำอะไรที่นี่" เจ๊เย่าเอ่ยปากถามพลางกวาดสายตาสำรวจกลุ่ม "คนต่างถิ่น" กลุ่มผู้เล่นที่ยังหาต้นตออะไรไม่ได้ ต่างรุมกันถามเจ๊เย่าเกี่ยวกับเรื่องราวในเกม สุดท้ายได้รับภารกิจให้ลงไปที่ชั้นใต้ดินของตลาดแห่งนี้

ระหว่างที่ก้าวเดินไปบนบันไดเลื่อนที่หยุดใช้งานแล้ว สารพัดกลิ่นอบอวลไปทั่วทั้งตลาดโชยมาแตะจมูก เพื่อค้นหาแผ่นโปสเตอร์ที่ติดไว้ตามฝาผนัง ผู้เล่นเดินวนไปทั่วตลาด 1 รอบ เท้าก้าวไปบนพื้นที่เฉอะแฉะอย่างระมัดระวัง ใช้สายตากวาดไปทั่วทุกซอกทุกมุมอย่างละเอียด จากการทำงานแบบทีมเวิร์กด้วยการแบ่งงานกัน จึงสามารถเก็บร่องรอยหลักฐานได้ครบถ้วนในเวลาอันรวดเร็ว และจากการบอกใบ้ของเจ๊เย่า ในที่สุด ก็ได้รับโจทย์ให้ผ่านเข้าสู่ด่านต่อไปซึ่งก็คือ หลั่งไหลไม่ขาดสาย (川流不息 อ่านว่า ชวนหลิวปู้สี )

 

สดับตรับฟังตำนานเรื่องราว สังเกตสภาพแวดล้อม

เจ๊เย่ามองหลักฐานที่อยู่ในมือของผู้เล่น ก่อนจะเอ่ยปากเล่าเรื่องราวของเธออย่างช้าๆ ว่า ไม่ไกลจากตลาดแห่งนี้เท่าไรนัก มีห้างสรรพสินค้าเทียนเทียน ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในปีค.ศ.1980 มีความสูง 9 ชั้น ภายในมีโรงภาพยนตร์แห่งหนึ่ง ซึ่งในอดีตเป็นสถานที่ออกเดทของเธอ แต่ปัจจุบันซบเซาลง ชั้น 1 กลายเป็นลานจอดรถที่มืดสลัว ส่วนชั้นอื่นถูกทิ้งร้างว่างเปล่า ถึงตอนนี้ผู้เล่นเริ่มขัดจังหวะการแนะนำเรื่องราวเกี่ยวกับตลาดหย่งเหอของเจ๊เย่า แย่งกันป้อนคำถาม หวังจะหาหลักฐานเพื่อตอบโจทย์ของเกม ไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแต่อย่างใด เจ๊เย่าจึงพูดขึ้นด้วยน้ำเสียงเย็นๆ ว่า "ตลาดหย่งเหอกำลังจะถูกรื้อทิ้ง แต่ก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพวกเธอ" ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่เจ๊เย่าเล่าไม่เพียงเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเกมเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของนครเถาหยวนด้วย

ผู้เล่นถือภาพถ่ายเก่าๆ ที่เจ๊เย่ามอบให้ มุ่งหน้าไปยังสวนสาธารณะเฉาหยาง ที่ริมแม่น้ำตงเหมิน เพื่อตามหาอาม่านากาชิ (นากาชิ (Nagashi) หมายถึง การตระเวนรับจ้างร้องเพลงในงานเลี้ยง ได้รับความนิยมในยุคญี่ปุ่นยึดครองไต้หวัน) ที่สวนสาธารณะแห่งนี้มีคนชรามากมายมาเดินออกกำลังกายและพาสุนัขตัวโปรดมาเดินเล่น ส่วนอาม่านากาชิ ซึ่งหลอมรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีท้องถิ่น กำลังนั่งเล่นแอกคอร์เดียน (หีบเพลงชัก) อยู่ที่ม้านั่งในสวนสาธารณะอย่างสบายอารมณ์ "สวัสดีค่ะ อาม่า" ผู้เล่นเอ่ยปากทักทายอาม่าตามที่เจ๊เย่ากำชับมาว่าต้องเคารพคนในพื้นที่ และสดับตรับฟังเรื่องราวของพวกเขาอย่างตั้งใจ คราวนี้ผู้เล่นจึงไม่จี้ถาม แต่ฟังเรื่องราวของนักแอกคอร์เดียนอย่างตั้งใจ

หลังจากนั้นบรรดาผู้เล่นทยอยไปเยี่ยมคารวะมัคนายกของศาลเจ้าเจิ้นฝู่ เจ้าหญิงแห่งท้องทะเลประจำเส้นทางเดินริมแม่น้ำตงเหมิน และนักแต่งบทกลอนที่ถนนโบราณซินหมิน ทุกตัวละครต่างมีความทรงจำมากมายหลากหลายและน่าประทับใจ จากการสนทนากับพวกเขาทำให้ได้รับรู้ถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชาวนครเถาหยวนในอดีต และรู้สึกได้ถึงมิตรไมตรีที่แสนอบอุ่น
 

ผู้เล่นกำลัง ¡§ไถล¡¨ ไปตามทางเดินริมแม่น้ำตงเหมิน เพื่อสัมผัสกับประสบการณ์ในอดีตที่ชาวบ้านพายเรือข้ามแม่น้ำ

ผู้เล่นกำลัง ¡§ไถล¡¨ ไปตามทางเดินริมแม่น้ำตงเหมิน เพื่อสัมผัสกับประสบการณ์ในอดีตที่ชาวบ้านพายเรือข้ามแม่น้ำ
 

สัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ สร้างสรรค์ความทรงจำและความเข้าใจ

เมื่อเกมจบลง ผู้เล่นต่างมารวมตัวกันเพื่อให้ผู้จัดเฉลยปริศนา แต่ดูเหมือนว่าไม่มีใครสนใจคำตอบอีกต่อไป แต่ทุกคนมัวแต่พูดถึงการปฏิสัมพันธ์กับตัวละครที่เป็นเจ้าของเรื่องราว แท้ที่จริงแล้ว สิ่งที่ได้รับจากการเล่นเกมกลับเป็นการได้สนทนากับตัวละครในเกม การหารือกันกับผู้เล่นในทีม ตลอดจนประวัติศาสตร์ของนครเถาหยวนที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน และสถาปัตยกรรมที่เมื่อก่อนแทบไม่เคยให้ความสนใจ จากการเข้าร่วมเล่นเกมนี้ยังทำให้ผู้เล่นรู้สึกว่า ละแวกศาลเจ้าจิ่งฝู นครเถาหยวน ไม่ใช่สถานที่ที่ไม่คุ้นเคยอีกต่อไป แต่เป็นเมืองที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากแม่น้ำตงเหมิน และเป็นเมืองที่อยู่ร่วมกับน้ำ ส่วนการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงของนครแห่งนี้ก็เป็นการเตือนให้ผู้เล่นได้ตระหนักว่า "เมื่อเมืองมีการปรับปรุงใหม่อยู่ตลอดเวลา แล้วเราต้องการให้ภูมิทัศน์ของเมืองเป็นไปในรูปแบบใด"

คุณหลินจื้ออวี้ (林志育) ผู้ก่อตั้งบริษัท Clubon ที่ออกแบบเกม Through the Photo Studio เปิดเผยว่า ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจภาคสนามจำนวนมาก นอกจากจะเก็บรักษาไว้ในรูปแบบของตัวอักษรแล้ว การสัมผัสด้วยประสบการณ์จริงยังช่วยทำให้ผู้คนเข้าใจประเด็นปัญหาและประวัติศาสตร์ได้มากยิ่งขึ้น "จะให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากการอ่าน" ระหว่างเล่นเกม ผู้เล่นจะถูกกำหนดให้กระทำการบางอย่างเป็นพิเศษ เพื่อให้สามารถค้นพบมุมมองที่ในยามปกติมักจะถูกละเลย

"เราต้องการใช้วิธีอื่นมาหารือกันถึงประเด็นปัญหา" คุณอู๋หย่าเซวียน (吳亞軒) ผู้ร่วมก่อตั้ง Clubon อีกคนหนึ่ง กล่าวถึงอุดมการณ์ในการริเริ่มก่อตั้งกิจการของทั้งคู่ เพื่อให้ประเด็นที่แข็งกระด้างกลายมาเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงและมีส่วนร่วม อีกทั้งเพื่อให้ทุกคนค้นพบเรื่องราวแปลกใหม่ที่ซ่อนตัวอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แสนจะคุ้นเคย เมื่อกล่าวถึงเกมใหม่ที่อยากจะทำในครั้งต่อไป ทั้งคู่หัวเราะและพูดพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมายว่า "เยอะแยะ" ก็เหมือนกับที่พวกเขาเขียนติดไว้ที่ฝาผนังห้องทำงานว่า "Our city, our duty" (เมืองของเรา หน้าที่ของเรา) ราวกับเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า พวกเขามีไฟที่พร้อมจะเข้ามีส่วนร่วมในประเด็นที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเมืองต่างๆ ของไต้หวันอยู่ตลอดเวลา

 

เกมสะท้อนชีวิตจริง

เกม Hitting the Streets of Bangka ได้ไอเดียมาจากความต้องการแก้ไขปัญหาที่ผู้คนส่วนใหญ่อยากจะหลีกห่างคนเร่ร่อน คุณเจิงเหวินฉิน (曾文勤) ผู้ริเริ่มเกมนี้ เดิมต้องการทำโครงการ "เที่ยวตามท้องถนน" ซึ่งเป็นโครงการฝึกอบรมคนเร่ร่อนไร้ที่อยู่อาศัยให้กลายเป็นมัคคุเทศก์ นำประสบการณ์ที่เคยเร่ร่อนอยู่ข้างถนนมาใช้ในการบรรยายและนำพาผู้คนไปรู้จักไทเปในอีกแง่มุมหนึ่ง แต่ต่อมาคุณเจิงเหวินฉินพบว่า คนที่เข้าร่วมกิจกรรม "เที่ยวตามท้องถนน" แม้จะสนใจประเด็นคนเร่ร่อนไร้ที่อยู่อาศัย แต่ระหว่างที่ฟังการบรรยายจากมัคคุเทศก์ ก็อดจะแสดงสีหน้าเบื่อหน่ายออกมาไม่ได้ ทำให้เธอกลับมาคิดว่า การนำชมและบรรยายเป็นเวลานานโดยไม่มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน นอกจากทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมรู้สึกเบื่อแล้ว ยังไม่สามารถทำให้พวกเขาเห็นใจชีวิตคนเร่ร่อน ดังนั้นเธอจึงร่วมมือกับ Taipei Legend Studio ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านการออกแบบเกม ผลักดันเกม Hitting the Streets of Bangka ออกมา เพื่อให้ผู้คนได้มีโอกาสสัมผัสกับชีวิตเร่ร่อนข้างถนน

เกมนี้มีตัวละคร 11 คนที่มาจากชีวิตจริง เป็นเรื่องราวชีวิตของคนเร่ร่อน 9 คน กับนักสังคมสงเคราะห์อีก 2 คน ภารกิจของผู้เล่นคือ ต้องทำงานหาเงินให้ได้ตามเป้าหมายที่ถูกกำหนดให้แก่ตัวละครแต่ละตัว

งานที่ทำมีมากมายหลายอย่าง อาทิ ชูป้ายโฆษณา ทำความสะอาด เก็บขยะรีไซเคิล และงานกรรมกร เป็นต้น งานแต่ละอย่างต้องใช้แรงกายและมีสภาพการทำงานที่ต่างกัน ค่าตอบแทนก็ต่างกัน ระหว่างเล่นเกม ผู้เล่นจะได้รับการ์ดข้อมูลที่จะช่วยเปลี่ยนวิถีชีวิตให้ดีขึ้น อาทิ อาหารมื้อค่ำฟรี  ซองอั่งเปาจากองค์กรการกุศล หรือโอกาสในการทำงานที่ผิดกฎหมาย ตัวเลือกที่ต่างกันจะส่งผลต่อชีวิตและอนาคตของผู้เล่น นอกจากสามารถเลือกการ์ดข้อมูลได้ด้วยตนเองแล้ว ยังมีการ์ดดวงชะตาที่เลือกไม่ได้ ซึ่งจะทำให้ชะตาชีวิตของผู้เล่นพลิกผัน บางครั้งอาจจะโชคดีได้รับข้าวกล่องหรือเสื้อผ้าจากผู้มีจิตกุศล แต่ก็อาจจะได้รับบาดเจ็บเพราะสภาพอากาศที่หนาวเหน็บ เกิดอุบัติเหตุระหว่างทำงาน หรือถูกรุมทำร้ายโดยไม่มีสาเหตุ

 

ประสบการณ์จากเกม เปลี่ยนทัศนคติการใช้ชีวิต

แม้เกมนี้จะมีภารกิจง่ายๆ คือให้ผู้เล่นหางานทำ แต่เป็นเพียงแค่ในเชิงสัญลักษณ์ โดยไม่ได้กำหนดให้ผู้เล่นต้องลงมือทำงานจริง อย่างไรก็ดี ระหว่างเล่นเกมผู้เล่นต้องเผชิญกับความกังวลจากการที่ต้องหางานทำอยู่ตลอดเวลา ความเหน็ดเหนื่อยจากการที่ต้องเร่ร่อนอยู่บนท้องถนน และชะตาชีวิตที่พลิกผันกะทันหัน ตลอดจนต้องต่อสู้กับกิเลสในจิตใจของมนุษย์ที่อยากจะรวยทางลัดด้วยการเล่นหวย ทุกบทบาทของตัวละครในเกมล้วนเป็นสิ่งที่คนเร่ร่อนไร้ที่อยู่อาศัยต้องพบเจอเป็นประจำทุกวัน แต่ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการให้เป็นเช่นนั้น ก่อนที่เกมจะเริ่มขึ้น ผู้เล่นต้องทำความเข้าใจกับเรื่องราวของคนเร่ร่อนไร้ที่อยู่อาศัยก่อนว่า อาจเป็นเพราะบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ตกงานในช่วงวัยกลางคน หรือครอบครัวเกิดมีปัญหา ทำให้ชีวิตของพวกเขาแตกสลายกะทันหันและยากที่จะฟื้นคืนสู่สภาพเดิม ดังนั้น ความเข้าใจจึงเป็นก้าวแรกของการเล่นเกมนี้ ขณะเดียวกันก็เป็นแก่นแห่งคุณค่าของเกมนี้ด้วยเช่นกัน

ช่วงสุดท้ายของเกม ผู้เล่นต้องนับค่าจ้างที่ได้รับมา บางคนสามารถบรรลุถึงเป้าหมายได้สำเร็จ แต่บางคนยังต้องเร่ร่อนข้างถนนตามเดิม ไม่ใช่ทุกคนจะจบเกมลงอย่างสวยงาม ซึ่งก็เหมือนกับชีวิตจริงของคนเร่ร่อน

"ความจริงแล้ว สิ่งเหล่านี้หมายถึง เครือข่ายความปลอดภัยของสังคมเกิดรูโหว่ขึ้น ทำให้คนที่หกล้ม ลื่นไถลร่วงตกลงมา และสุดท้ายต้องเร่ร่อนไปตามท้องถนน" นี่คือคำพูดของตัวละครในเกมที่เป็นนักสังคมสงเคราะห์ และเป็นแนวคิดที่ได้จากนักสังคมสงเคราะห์ในโลกแห่งความเป็นจริง อันถือเป็นด่านแรกที่จะได้สัมผัสกับคนเร่ร่อน

จากการเข้าร่วมเล่นเกมชีวิตจริงกลางแจ้ง ที่ผู้เล่นต้องเปลี่ยนสถานภาพเป็นการชั่วคราว และได้สัมผัสกับประเด็นปัญหาที่หลากหลาย รวมถึงเผชิญกับสถานการณ์ตามบทบาทของตัวละคร เพื่อให้เข้าใจถึงประเด็นปัญหา กิจกรรมในลักษณะเช่นนี้ทำให้เกมกับชีวิตจริงที่ต่างกันลิบลับสามารถค้นพบจุดที่มาบรรจบกันได้ ทำให้มนุษย์สัมผัสได้ถึงเกมที่เสมือนจริง กับชีวิตจริงที่ไม่อาจล่วงรู้ถึงความเป็นไปได้ในอนาคต