New Southbound Policy Portal

คนช่างฝันผู้เดินเข้าออกโลกเสมือน กับโลกจริงดังใจนึก โลกแห่งความบันเทิงอันดื่มด่ำของสวีเจียข่าย

เจิงจื้อเหว่ย คนทำหนังระดับอาวุโส (ขวา) รู้สึกถูกใจในเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของสวีเจียข่าย จึงไม่เพียงแต่ร่วมแสดง หากแต่ยังร่วมลงทุน พร้อมรับตำแหน่งเป็นโปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย

เจิงจื้อเหว่ย คนทำหนังระดับอาวุโส (ขวา) รู้สึกถูกใจในเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของสวีเจียข่าย จึงไม่เพียงแต่ร่วมแสดง หากแต่ยังร่วมลงทุน พร้อมรับตำแหน่งเป็นโปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย
 

สวีเจียข่าย หนุ่มวัย 28 ปี ที่ดูยุ่งอยู่ตลอดเวลา

หนุ่มสวี (徐嘉凱) ไม่เหมือนกับคนวัยเดียวกันที่ยังคงอยู่ระหว่างการค้นหาเส้นทางแห่งชีวิต คนหนุ่มที่มีความคิดเกินวัยผู้นี้ สมองแล่นรวดเร็วปรูดปราด ทำให้เขามีแนวคิดที่เป็นตัวของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นด้านภาพยนตร์ ปรัชญา หรือสังคม

เจ้าหนุ่มได้ตั้งเป้าหมายแห่งชีวิตว่า ต้องการจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ตั้งแต่ขณะที่อายุได้ 15 ปี และเพื่อทำตามความฝันจึงได้วางแผนชีวิตอย่างระมัดระวังในทุกช่วงจังหวะแห่งชีวิต โดยเมื่ออายุ ได้ 18 ปี เขาได้เข้าเรียนต่อในสาขาวิชาวิทยุและโทรทัศน์ มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University of Arts : NTUA) ก่อนจะก่อตั้งบริษัท SELF PICK ขณะอายุ 23 ปี โดยได้ถ่ายทำละครสั้นออนไลน์เรื่อง Mr.Bartender และ The Bar ซึ่งมียอดคลิกชมรวมกันมากกว่า 1 ล้านครั้ง

ปีค.ศ.2019 ถือเป็นปีที่มีความหมายพิเศษเป็นอย่างมาก เพราะเป็นปีที่ภาพยนตร์เรื่องแรกของเขา คือ The Last Thieves ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ไต้หวันเมื่อเดือนตุลาคม 2019 และเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของไต้หวันที่ใช้เรื่องราวการเชือดเฉือนในแวดวงธุรกิจบล็อกเชนมาใช้ในการดำเนินเรื่อง ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ส่งให้เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลผู้กำกับภาพยนตร์หน้าใหม่ยอดเยี่ยม ในเทศกาลภาพยนตร์ม้าทองคำครั้งที่ 56 ที่ผ่านมา การทำงานหนักอย่างต่อเนื่องหลายปี ในที่สุดก็ทำให้เขาได้รับการยอมรับในความเป็นมืออาชีพจนได้

 

เจ้าหนุ่มที่พอจะมีชื่อเสียงอยู่บ้าง รำลึกถึงเรื่องราวในการไล่ล่าไขว่คว้าความฝันที่เต็มไปด้วยขวากหนามมากมาย

พิมพ์เขียวแห่งความสำเร็จขั้นสูงสุดในสมองของเขาคือ การประสบความสำเร็จในการสร้างสวนสนุกแบบเดียวกับดิสนีย์แลนด์หรือยูนิเวอร์แซลสตูดิโอส์ที่มีทั้งพื้นที่ขนาดใหญ่ซึ่งสามารถผสมผสานโลกเสมือนเข้ากับโลกแห่งความเป็นจริงได้อย่างสมบูรณ์ และสร้างประสบการณ์ในโลกของความบันเทิงอันดื่มด่ำให้กับประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้อย่างลงตัว

ในตอนที่เริ่มก่อตั้งธุรกิจ เขาเคยขอรับเงินสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม หากแต่คณะกรรมการเห็นว่าเป็นความฝันที่ "ไกลเกินจริง" จึงปฏิเสธคำขอ

แต่ด้วยความที่เป็นคนไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ เขาจึงได้ลองถ่ายทำละครออนไลน์ชุด Mr.Bartender เพื่อระดมทุนผ่านช่องทางออนไลน์ หากแต่โครงการนี้ต้องจบลงด้วยความล้มเหลว

อย่างไรก็ดี เจ้าหนุ่มมิได้ย่อท้อ และหันไปรับงานอื่นเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ ก่อนจะทุ่มทุนเพื่อถ่ายทำผลงานของตัวเองจนแล้วเสร็จ และฉากที่ใช้ในการถ่ายทำก็ถูกนำมาใช้เป็นบาร์เหล้าที่ยังคงเปิดกิจการอยู่จนทุกวันนี้

"ผมต้องคุกเข่าคลานมาบนเส้นทางแห่งความฝันสายนี้เป็นเวลานานมาก กว่าที่จะมาถึงจุดนี้ได้ เป็นอะไรที่ไม่ง่ายเลย" นี่คือคำพูดที่สวีเจียข่ายได้กล่าวเอาไว้ เมื่อครั้งที่ระดมทุนเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง The Last Thieves

แม้ว่าคำวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องนี้จะมีทั้งสองด้านแบบสุดขั้ว อีกทั้งใช้เงินทุนในการถ่ายทำมากถึง 50 ล้านเหรียญไต้หวัน แต่กลับได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในไทเปเพียง 10 วัน ทำให้รายได้จากการออกฉายมีน้อยมาก

แม้ผลจะไม่เป็นดังที่หวัง แต่เขาก็กล้าที่จะฝัน กล้าที่จะคิด และเป็นคนที่เมื่อพูดไปแล้วต้องทำให้ได้ ซึ่งบุคลิกแบบนี้สามารถดึงดูดผู้คนได้เป็นจำนวนมาก ทำให้มีแฟนคลับที่เป็นคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยร่วมกันจัดแคมเปญท้าทายด้วยการดูร้อยครั้ง เพื่อช่วยสร้างความฝันของผู้กำกับภาพยนตร์ให้เป็นจริง

และแม้จะเป็นภาพยนตร์แนวตลาดที่ไม่สมบูรณ์แบบ แต่สามารถจุดประกายของอะไรสักอย่างได้ในจิตใจของเราทุกคน

 

ฉันมีรักอยู่ในใจ จึงทนไม่ได้ที่จะปล่อยให้โลกพ่ายแพ้

เชื่อว่าผู้ที่ได้ชมภาพยนตร์เรื่อง The Last Thieves คงจะจำคำถามและข้อถกเถียงอันเฉียบคมที่มีต่อลัทธิทุนนิยม ระบบเศรษฐกิจ และเกมแห่งอำนาจได้เป็นอย่างดี

ซึ่งก็เหมือนกับบทกวีของหลัวจื้อเฉิง (羅智成) ที่ว่า "ฉันมีรักอยู่ในใจ จึงทนไม่ได้ที่จะปล่อยให้โลกพ่ายแพ้" คนหนุ่มที่มีวุฒิภาวะเกินวัยและมีความห่วงใยต่อชาติบ้านเมืองเช่นสวีเจียข่าย ได้ฝากคำถามและให้คำตอบผ่านตัวละครในภาพยนตร์

เขาบอกว่า เขารักไต้หวันมาก ที่ผ่านมาเคยมีโอกาสหลายครั้งที่จะได้ไปทำงานในต่างประเทศ แต่ก็ไม่รู้ว่าเพราะเหตุใด สุดท้ายแล้ว มักจะตัดใจจากไปไม่ได้ และเพราะมีรัก เขาจึงตัดสินใจใช้ชีวิตอยู่ในไต้หวัน และมีความคาดหวังต่อผืนแผ่นดินแห่งนี้ แต่เขาก็บอกกับเราว่า "เจ้าความรักและการตัดใจจากไปไม่ได้นี่แหละ ที่ทำให้สุดท้ายแล้วก็อาจหนีไม่พ้นที่จะต้องผิดหวัง เพราะฉะนั้นจึงต้องร้องตะโกนออกมา"

 

อานิสงส์จากบล็อกเชนก่อให้เกิดภาพยนตร์แนวเชือดเฉือนในแวดวงธุรกิจเรื่องแรกของไต้หวัน

เส้นทางชีวิตของสวีเจียข่ายสอดคล้องกับของอิ่นจื่อเสียง (尹子翔) ซึ่งเป็นตัวเอกในภาพยนตร์ที่เขาสร้างขึ้น

นักธุรกิจที่สร้างกิจการของตนเองตั้งแต่ช่วงวัยหนุ่ม แต่ต้องเผชิญกับโลกที่ไม่ได้สวยงามดั่งที่คิด จึงหวังที่จะใช้เงินเสมือนมาปฏิรูประบบที่แข็งกระด้าง เพื่อสร้างศูนย์กลางให้แก่โลกใบใหม่

เพื่อที่จะถ่ายทำภาพยนตร์ คนทำหนังส่วนใหญ่ในไต้หวันมีเพียงทางเลือกเดียว นั่นก็คือขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล และหากมีเงินทุนก้อนนี้อยู่ในมือ ก็จะสามารถดึงดูดนักลงทุนรายอื่นให้เข้ามาร่วมลงทุนด้วย และด้วยความที่เงินทุนมีไม่มาก จึงถ่ายทำได้แต่เพียงหนังศิลปะ ประกอบกับหนังศิลปะจะมีโอกาสคว้ารางวัลได้มากกว่า สามารถนำไปเป็นผลงานของรัฐบาลได้

"แต่หากไม่มีภาพยนตร์แนวตลาด ก็จะไม่มีน้ำดีใหม่ๆ เข้ามา เราจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร?" แม้ว่าเขาจะไม่เหมือนกับ
อิ่นจื่อเสียง ซึ่งเป็นตัวละครในภาพยนตร์ที่เป็นนักธุรกิจที่มีความทะเยอทะยาน แต่ก็มีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงวงการภาพยนตร์ที่เขาอยากทำงานด้านนี้ไปตลอดชีวิต

ดังนั้น ในขณะที่ระดมเงินทุนเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง The Last Thieves เขาจึงได้คิดวิธีใหม่ๆ ด้วยการออกเงินคริปโตสกุล SELF เพื่อใช้ในการระดมเงินจากภายนอก

การทำแบบนี้ นอกจากจะสามารถดึงดูดนักลงทุนได้หลากหลายรูปแบบแล้ว ยังสามารถทำให้ผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์ในเชิงลึกร่วมกับภาพยนตร์มากขึ้น ส่งผลให้มีช่องทางในการทำการตลาดเพิ่มมากขึ้น และทำให้วงการภาพยนตร์มีโอกาสได้เปลี่ยนแปลงตัวเองไปในตัว

The Last Thieves จึงมิใช่เป็นเพียงแค่ภาพยนตร์เรื่องแรกของไต้หวันที่นำเอาเรื่องราวของเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการดำเนินเรื่อง หากแต่ยังเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่นำบล็อกเชนมาใช้ในการระดมทุนด้วย ซึ่งก็เหมือนกับการต่อยอดจากภาพยนตร์มาสู่ชีวิตจริง

 

ยินดีต้อนรับเข้าสู่โลกของประสบการณ์แห่งสัมผัสร่วม

ในวันที่ไปสัมภาษณ์ เรานัดกันที่ร้าน SELF OASIS บนถนนรุ่ยอันเจีย กลางกรุงไทเป

ร้านแห่งนี้ถือเป็นอีกธุรกิจหนึ่งของสวีเจียข่ายเช่นกัน ในปัจจุบัน เขาเป็นเจ้าของบริษัท 3 แห่ง และบาร์ 2 แห่ง

นี่ไม่ใช่เป็นผลที่เกิดจากความทะเยอทะยานของเจ้าตัว หากแต่เป็นสิ่งที่เขาทำตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับแฟนภาพยนตร์

เมื่อเดินเข้าไปในบาร์ ภาพที่ปรากฏสู่สายตาก็คือ ประติมากรรมรูปตัว S ขนาดใหญ่ ที่วางอยู่ในมุมหนึ่งของร้าน ซึ่งก็คืออุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง The Last Thieves และปรากฏตัวอยู่ในภาพยนตร์หลายครั้งมาก

ไม่เพียงเท่านั้น ที่ SELF Bar ซึ่งเป็นบาร์อีกแห่งของเขา ภาพของกำแพงที่ประดับไปด้วยขวดเหล้าอยู่เต็มไปหมด ยังเป็นฉากสำคัญที่สองตัวละคร ได้แก่ อิ่นจื่อเสียง (แสดงโดย เฉาเยี่ยนหาว 曹晏豪) และสวีจิง (แสดงโดย ไล่หย่าเหยียน賴雅妍) แสดงคู่กันหลายฉาก

สวีเจียข่ายตั้งใจไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่า บริษัทของเขาจะไม่ใช่บริษัทที่ตั้งขึ้นมาแล้วถ่ายทำภาพยนตร์เพียงแค่เรื่องเดียว ดังนั้นจึงได้นำเอาผลงานแต่ละเรื่อง บริษัทแต่ละแห่ง ร้านแต่ละร้าน มาเป็นชิ้นส่วนของจิ๊กซอว์ที่จะประกอบกันเข้าเป็นภาพขนาดใหญ่

ในการทำงานแบบดั้งเดิมของวงการภาพยนตร์ หลังจากปิดกล้องกองถ่ายก็จะแยกย้ายกันไป ก่อนที่บริษัทก็จะเลิกกิจการ หลังจากนั้นก็มีแค่ขายลิขสิทธิ์และไม่มีอะไรต่อเนื่องอีกแล้ว "ถ้าหากว่าในตอนนั้น บริษัทที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Cave No.7 มีการวางแผนที่ดี และเก็บฉากที่ใช้ในการถ่ายทำไว้ ก็น่าจะสามารถนำมาใช้เป็นเวทีของเทศกาลดนตรีได้" สวีเจียข่ายยกตัวอย่างให้เราฟัง "ขอเพียงมีทิศทางของอุตสาหกรรมที่ดี มีการวางแผนและสร้างเครือข่ายมวลชน หลายสิ่งหลายอย่างก็สามารถที่จะนำมาต่อยอดได้ทั้งนั้น"

จะว่าไปแล้วเรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร ทั้งดิสนีย์แลนด์และยูนิเวอร์แซลสตูดิโอส์ต่างก็ทำอะไรแบบนี้มาแล้วทั้งนั้น คือ เริ่มจากมีผลงานที่เป็นภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์เป็นของตัวเอง จากนั้นก็เริ่มสร้างสถานที่สำหรับสร้างความบันเทิงและมีที่พักผ่อน และมีพื้นที่สำหรับสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับประสาทสัมผัสทั้ง 5 และมีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องออกมาวางจำหน่าย ถือเป็นการผสมผสานเชิงลึกจากบนลงล่างที่เป็นส่วนเสริมซึ่งกันและกัน ก็จะดึงดูดให้เกิดการไหลเวียนของกระแสเงินตรา ประกอบกับการลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์ ก็จะก่อให้เกิดเป็นระบบนิเวศอันสมบูรณ์ของอุตสาหกรรมขึ้น เพียงแต่ว่าในไต้หวันยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน

แม้ว่าจะไม่สามารถทำได้เหมือนกับกลุ่มเงินทุนขนาดใหญ่ที่มีทุนหนา และสามารถลงทุนได้ทั้งหมดตั้งแต่แรกเริ่ม หากแต่การรู้จักใช้ช่องทางของอินเตอร์เน็ต และคริปโตเคอเรนซี ก็เหมือนกับมีกุญแจที่เปิดประตูสู่อนาคตอยู่ในมือ

การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการระดมทุน ไม่ถือเป็นเรื่องที่ซับซ้อนอะไร สวีเจียข่ายบอกกับเราว่า "พูดง่ายๆ ก็เหมือนกับผมร่างสัญญาขึ้นฉบับหนึ่ง แล้วโพสต์บนอินเตอร์เน็ต พร้อมบอกกับทุกคนว่า "ผมอยากร่วมกับทุกคนในการสร้างระบบนิเวศด้านความบันเทิงอันดื่มด่ำที่มีมูลค่าตลาด 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็แค่นั้นเอง"

เงินสกุล SELF ที่บริษัทของเขาเป็นผู้สร้างขึ้นมา และนำไปใช้ในการระดมทุน เพื่อดึงดูดให้ผู้ที่เห็นพ้องกับแนวคิดของเขาสั่งซื้อ โดยเขามีหน้าที่ในการทำตามข้อความในสัญญา เพื่อค่อยๆ ทำให้โครงการเกิดขึ้นมาให้ได้ พร้อมคิดหาหนทางที่จะนำเอารายได้จากการออกฉาย ฉากที่ใช้ถ่ายทำ และลิขสิทธิ์ มาทำให้เกิดเป็นระบบนิเวศทางธุรกิจที่มีมูลค่าตลาด 100 ล้านเหรียญสหรัฐ

จากความคิดของสวีเจียข่าย เรื่องราวที่ถูกนำมาใช้ถ่ายทำ เมื่อถ่ายทำไปมากขึ้น ก็จะค่อยๆ ถูกถ่ายทอดในเชิงลึกมากขึ้น จนกลายเป็นโครงการที่ใหญ่ขึ้น The Last Thieves จึงเปรียบเสมือนเป็นเพียงภาคแรกของภาพยนตร์ไตรภาค เราสามารถรับชมได้ทั้งแบบเป็นเพียงภาพยนตร์เรื่องเดียว หรือเป็นส่วนเสริมซึ่งกันและกันร่วมกับผลงานอื่นๆ แต่สำหรับฉากในการถ่ายทำที่กระจายอยู่ตามที่ต่างๆ จะถูกปรับเปลี่ยนให้นำมาใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการค้าที่มีคนดูเดินทางไปใช้บริการ ก็เหมือนกับการเดินทางท่องไปในเมืองแห่งภาพยนตร์ที่ถูกแยกออกเป็นส่วนๆ นั่นเอง

มีคนจำนวนไม่น้อยบอกกับสวีเจียข่ายว่า ความฝันของเขามันใหญ่เกินไป ยากเกินไป ซึ่งเจ้าตัวก็ยอมรับว่า มีแรงกดดันไม่น้อย แต่ก็ไม่เคยคิดที่จะถอย

"หากรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทำได้ ก็ทำไปเลย มิฉะนั้นแล้ว จะมีชีวิตอยู่ไปทำไม?" สวีเจียข่ายกล่าว พร้อมถามเรากลับอย่างคมคายว่า "หากคนเรามีชีวิตอยู่ แล้วจะต้องตาย คุณจะรอวันตาย หรือจะใช้ชีวิตอย่างเต็มที่?"