New Southbound Policy Portal

กต.ไต้หวันเรียกร้องให้สำนักเลขาธิการ WHO ยึดมั่นในความเป็นกลางและมีความเป็นมืออาชีพ ในการเป็นแบบอย่างและมีความรับผิดชอบของผู้นำด้านการแพทย์ระหว่างประเทศ

กต.ไต้หวันเรียกร้องให้สำนักเลขาธิการของ WHO ยึดมั่นในความเป็นกลางและเป็นมืออาชีพ เพื่อแสดงให้ประชาคมโลกเห็นถึง แบบอย่างของความเป็นผู้นำองค์กรระหว่างประเทศ (ภาพจาก MOFA)

กต.ไต้หวันเรียกร้องให้สำนักเลขาธิการของ WHO ยึดมั่นในความเป็นกลางและเป็นมืออาชีพ เพื่อแสดงให้ประชาคมโลกเห็นถึง แบบอย่างของความเป็นผู้นำองค์กรระหว่างประเทศ (ภาพจาก MOFA)

MOFA วันที่ 16 เม.ย. 63

 

เมื่อวันที่ 16 เม.ย. ที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 15 เม.ย. ที่สำนักเลขาธิการขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แถลงตอบในประเด็นการเข้าร่วม WHO ของไต้หวันในงานแถลงข่าว ซึ่งได้อ้างอิงถึงญัตติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UN) ฉบับที่ 2758 และญัตติที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ฉบับที่ 25.1 ในทางที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง พร้อมอ้างว่า ไต้หวันและ WHO มีปฏิสัมพันธ์ในวงกว้างและเป็นไปในทิศทางที่ดี กต.ไต้หวันจึงขอแสดงความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง พร้อมเรียกร้องให้สำนักเลขาธิการของ WHO ดำเนินการตามเป้าหมายสำคัญของ WHO ที่ว่า “สุขภาพดีถ้วนหน้า” (Health for all) และยึดมั่นในความเป็นกลางและมีความเป็นมืออาชีพ เพื่อเป็นแบบอย่างและแสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้นำขององค์กรด้านการแพทย์ระหว่างประเทศ โดยไม่ตกเป็นเครื่องมือในการลิดรอนสิทธิมนุษยชนด้านสาธารณสุขของประชาชนชาวไต้หวันทั้ง 23 ล้านคน


 

กต.ไต้หวันเน้นย้ำว่า ญัตติที่ประชุม UN ฉบับที่ 2758 และญัตติที่ประชุม WHA ฉบับที่ 25.1 มีเนื้อความที่ระบุถึง “สิทธิ์อันชอบธรรมในการเป็นตัวแทนของจีนในเวทีสหประชาชาติ” แต่ไม่ได้ระบุว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของ “จีน” แม้ว่าจนถึงปัจจุบัน ทั้ง 2 ญัตติดังกล่าวก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขในประเด็นการเข้ามีส่วนร่วมใน UN และหน่วยงานเฉพาะทางของประชาชนชาวไต้หวัน 23 ล้านคน ตามความเหมาะสม นอกจากนี้ ไต้หวันไม่เคยมอบอำนาจให้สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นตัวแทนของไต้หวันในสหประชาชาติมาก่อน


 

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ญัตติที่ประชุม UN ฉบับที่ 2758 และญัตติที่ประชุม WHA ฉบับที่ 25.1 ล้วนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับชาวไต้หวันเลย ไต้หวันเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ได้รับการยกย่องจากประชาคมโลกเป็นอย่างมาก มีอำนาจอธิปไตยในการเป็นประเทศโดยสมบูรณ์ มีระบบการดูแลทางการแพทย์ที่ทันสมัย และมีเพียงรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนชาวไต้หวัน 23 ล้านคนเท่านั้น จึงจะมีสิทธิ์เป็นตัวแทนของชาวไต้หวันในเวทีนานาชาติ ตลอดจนมีหน้าที่รับผิดชอบต่อสิทธิด้านสาธารณสุขและสวัสดิการสังคมของประชาชนไต้หวัน


 

WHO ในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในเวทีโลก มีกลไกความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนที่หลากหลาย ในทุกปีจะมีการจัดการประชุมนับพันรอบ ในช่วงหลายปีมานี้ แม้ว่าสถานการณ์การเข้าร่วม WHO ของไต้หวัน จะได้รับการปรับปรุงแก้ไขแล้วบางประการ ภายใต้ความช่วยเหลืออย่างเต็มกำลังของมิตรประเทศทั่วโลก หากแต่เมื่อพิจารณาถึงข้อจำกัดทางการเมืองของ WHO ทำให้การเข้ามีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมของไต้หวัน ยังคงถูกจำกัดเกือบทุกด้าน ซึ่งห่างไกลจากความต้องการจริงๆ ของไต้หวันเป็นอย่างมาก แถลงการณ์ของสำนักเลขาธิการ WHO จึงเป็นการอ้างอิงเพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่ได้เป็นการนำเสนอภาพรวมตามข้อเท็จจริง


 

เมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ที่ลุกลามไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ตัวแทนจากหลายประเทศเริ่มสังเกตเห็นว่า ไต้หวันถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบ WHO ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าและมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของระบบสาธารณสุขโลก พร้อมทั้งร่วมแสดงความเห็นให้การยอมรับต่อการเข้าร่วมของไต้หวันว่า ได้สร้างคุณประโยชน์แก่ WHO ทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า ข้อเรียกร้องของแผนการเข้าร่วม ที่มีสโลแกนว่า “มีความเป็นมืออาชีพ ลงมือปฏิบัติจริง ร่วมสร้างคุณประโยชน์” ได้รับพลังสนับสนุนจากประชาคมโลกในวงกว้าง กต.ไต้หวันจึงขอให้ WHO ยอมรับความเป็นจริงที่ว่า ไต้หวันและจีนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน และควรเคารพต่อพลังเสียงเรียกร้องของประชาคมโลก ที่สนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วมใน WHO ในฐานะผู้สังเกตการณ์ จึงขอเรียกร้องให้ WHO เร่งหารือ ติดต่อเชิญให้ไต้หวันมีส่วนร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ในการประชุม WHA ประจำปีนี้ รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรมและกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย