New Southbound Policy Portal

ย้อนอดีตความสุขในวัยเด็ก สุขสมรื่นรมย์กับการลงมือทำด้วยตนเอง

ผู้คนที่มา Fun-Maker จะกลายเป็นเด็กน้อยไปในทันที

ผู้คนที่มา Fun-Maker จะกลายเป็นเด็กน้อยไปในทันที
 

เวิร์กชอปงานหัตถกรรมมีให้เห็นอย่างดาษดื่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตามห้างสรรพสินค้าหรือตลาดนัดต่างๆ จะเห็นบรรดามืออาชีพเปิดคอร์สสอนงานหัตถกรรมให้แก่เด็กๆ การลงมือทำด้วยตนเองจึงกลายเป็นที่นิยมในปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นต่อวิธีคิดของชาวไต้หวันที่มีต่องานหัตถกรรมแบบดั้งเดิม

 

ในห้างสรรพสินค้าจงโหย่ว นครไทจง ผู้คนต่างกำลังเลือกซื้อของแบรนด์เนมที่ตั้งวางเรียงราย แต่กลับมีเสียงเคาะไม้ดังมาจากอีกมุมหนึ่งทำลายความเงียบสงัด หลังจากนั้นอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เด็กหญิงกลุ่มหนึ่งที่บนเสื้อผ้ามีเศษไม้ติดตัวมาด้วย ถือเก้าอี้ตัวน้อยอยู่ในมือและเดินออกจากห้างด้วยความปริ่มเปรม

 

เวิร์กชอปงานฝีมือกำลังเป็นเรื่องยอดฮิตในไต้หวัน

กลางเดือนกรกฎาคม ปีที่แล้ว (2019) ห้างสรรพสินค้าจงโหย่วได้จับมือกับวิทยาลัยศิลปะและหัตถกรรมไต้หวัน จัดงานเอ็กซ์โป "หัตถกรรมลงมือทำด้วยตนเอง" เป็นเวลา 10 วัน เปิดคอร์สสอนงานหัตถกรรมรวมมากกว่า 200 รอบ สร้างบรรยากาศการเดินชอปปิงอันแสนน่าเบื่อที่มีเพียงการเลือกซื้อของอย่างรีบๆ ให้แตกต่างออกไปจากเดิม โดยคอร์สนี้ได้ออกแบบให้สร้างความสนุกสนานและเปิดโอกาสให้สัมผัสได้ด้วยมือของตนเอง จึงกลายเป็นทางเลือกใหม่ที่ดึงดูดผู้บริโภคให้เข้าร่วมทดสอบฝีมือได้ไม่น้อยทีเดียว

"ช่างฝีมือเปิดเวิร์กชอปแบบนี้จะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในอนาคต" นี่เป็นทัศนะของคุณเฉินหมิงฮุย (陳明輝) ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยศิลปะและหัตถกรรมไต้หวัน ปัจจุบันคนทั่วไปจะมองช่างฝีมือเหล่านี้ว่าเป็นเพียงช่างฝีมือผลิตผลงานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ในอนาคต หลักสูตรที่เน้นภาคปฏิบัติจะกลายเป็นงานสำคัญงานหนึ่งของช่างฝีมือเหล่านี้ ซึ่งเท่ากับประกาศว่าอุตสาหกรรมงานหัตถกรรมของไต้หวันได้ก้าวจากการผลิตแบบดั้งเดิมไปสู่การให้บริการด้านความรู้

 

ศึกษาผ่านระบบสัมผัสทั้ง 5

เพื่อช่วยให้ภาคหัตถกรรมไต้หวันปรับตัวและนำพาคนรุ่นใหม่ได้สัมผัสกับความงดงามของงานหัตถกรรม เฉินหมิงฮุย จึงได้ก่อตั้ง "วิทยาลัยศิลปะและหัตกรรมไต้หวัน" ขึ้นในปี 2017 เป็นสื่อกลางระหว่างวิทยาลัยกับช่างฝีมือ คุณเฉินหมิงฮุยหวังว่าคนรุ่นต่อๆ ไป รุ่นแล้วรุ่นเล่า จะเริ่มสัมผัสกับเสน่ห์และคุณค่าแห่งหัตถกรรมตั้งแต่วัยเด็ก

"คุณเคยเห็นไม้ที่ยังมียางไม้ไหลออกมาบ้างไหม" เฉินหมิงฮุยถามยิ้มๆ การให้ความสำคัญกับการสัมผัสด้วยตนเองในระหว่างการเรียนการสอน การเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้โดยมิใช่ฟังแต่คำสั่งจากครูเพียงอย่างเดียว สิ่งที่ได้สัมผัสก็มิใช่ไม้แห้งๆ เท่านั้น จึงทำให้มีความเข้าใจในลักษณะพิเศษของไม้ ทั้งจากเสียงที่ได้ยิน ได้กลิ่นหอมของไม้ด้วยจมูก อาศัยการสัมผัสมาพิจารณาความหยาบหรือละเอียดของไม้ ใช้ระบบสัมผัสทั้ง 5 มาศึกษางานไม้ เป้าหมายมิใช่อยู่ที่การฝึกอาชีพ แต่เป็นการอาศัยระบบสัมผัสและความรู้มาศึกษาหาความรู้อย่างเต็มที่

 

หัตถกรรมดั้งเดิมก้าวสู่การให้บริการเชิงประสบการณ์

กระแสแห่งการปรับตัวของหัตถกรรมนี้ได้ส่งผลต่อโรงงานแบบดั้งเดิมบ้างแล้ว ให้มุ่งพัฒนาไปสู่ทิศทางการให้ความรู้และประสบการณ์ Sunrise Driftwood Workshop ที่ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟตัวเหลียง ในเมืองไถตง ก่อตั้งขึ้นหลังเหตุอุทกภัยน้ำท่วมเมื่อเดือนสิงหาคม ปีค.ศ.2009 ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาท่อนไม้ที่ไหลมากับกระแสน้ำหลังภัยพิบัติน้ำท่วม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้กำหนดให้การผลิตเป็นทิศทางในการบริหารเวิร์กชอปแห่งนี้ ทำให้ปัญหาต่างๆ ผุดออกมา เวิร์กชอปตั้งอยู่ห่างไกลจากแหล่งไม้ที่จะนำมาใช้เป็นวัตถุดิบและตลาด เมื่อหักกลบลบต้นทุนค่าขนส่งแล้ว เหลือกำไรไม่มากนัก และด้วยเหตุการถือกำเนิดขึ้นของเศรษฐกิจประสบการณ์ จึงค่อยๆ ปรับตัวกลายเป็นฐานสำคัญแห่งเวิร์กชอปและการผลิตอุปกรณ์เพื่อการศึกษา

"บริเวณด้านหลังของ Sunrise Driftwood Workshop เป็นป่าไม้เขียวขจี เป็นแหล่งอุปกรณ์การศึกษาที่ดีที่สุดของหลักสูตรช่างไม้" คุณเฉินหมิงฮุยเล่าให้ฟัง แม้จะขาดแคลนไม้คุณภาพสำหรับผลิตเฟอร์นิเจอร์ก็ตาม แต่มีไม้เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์การเรียนการสอนอย่างอุดมสมบูรณ์ ให้ผู้เรียนได้นำมาใช้ในการฝึกฝน ซึ่งอาจใช้วิธีการจัดเวิร์กชอป ประสมประสานกับเอกลักษณ์ของท้องถิ่น สร้างประสบการณ์ที่พิเศษสุดให้แก่ผู้สนใจ

การปรับเปลี่ยนรูปแบบของเวิร์กชอปงานไม้ เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ได้รับความช่วยเหลือจากวิทยาลัยศิลปะและหัตถกรรมไต้หวัน ส่วนอื่นๆ ยังประกอบไปด้วยการสร้างฐานฝึกอบรมช่างฝีมือ ช่างไม้ที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วจะเปิดสอนให้แก่บุคคลภายนอก นำเอากระบวนการผลิตมาประกอบขึ้นเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน ทำให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นต่อวัสดุที่ใช้และเทคนิคของงานฝีมือ งานฝีมือไม่เพียงเป็นแค่สินค้าเท่านั้น แต่เป็นกระบวนการจากระบบสัมผัสและความอยากรู้อยากเห็นของผู้คนที่ยากจะลืมเลือนได้

 

ร้านเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยความทรงจำในวัยเด็ก

ร้าน Fun-Maker ซึ่งตั้งอยู่ที่เขตเน่ยหู กรุงไทเป เป็นเวิร์กชอปงานฝีมือที่ใช้เทคนิคการตัดแต่งด้วยแสงเลเซอร์ ผลงานสำคัญคืองานไม้ ไม่ว่าจะเป็นปืนที่เห็นในหนัง โคมไฟ นาฬิกา กระเป๋าปิกนิก และเครื่องเสียงกระเป๋าหิ้ว เป็นต้น

เมื่อเดินเข้าไปในร้าน สายตาของเราจะถูกดึงดูดโดยของเล่นไม้ที่ตั้งโชว์ไว้ที่บริเวณทางเข้า มีทั้งเครื่องเล่นลูกแก้ว นาฬิกาฟันเฟือง และยังมีโคมไฟแกะสลักตัวอักษร "ขับเคลื่อนไต้หวัน" บนโคมไฟที่ผลิตในไต้หวันมีฟันเฟืองคู่หนึ่งอยู่ด้านบน เมื่อใช้มือหมุน ดวงไฟก็จะสว่างขึ้น ผลงานต่างๆ ละลานตา ทำให้ลูกค้าที่มาที่นี่ทุกคนย้อนอดีตกลับสู่วัยเด็กที่เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น 

เฉียวอัน เถ้าแก่เนี้ยชี้ไปที่ภาพถ่ายแขวนอยู่เต็มกำแพง เล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้มว่า "นั่นเป็นความทรงจำของลูกค้า และก็เป็นของพวกเราด้วย" คนในภาพมีทั้งคนแก่และเด็ก มีทั้งชาวไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า และมาเลเซีย

ส่วน Mac เถ้าแก่ของร้าน หยิบปืนไม้ที่แขวนอยู่บนกำแพงด้วยท่วงท่าอันขัดเขิน แนะนำวิธีการใช้แบบง่ายๆ แล้วเล็งไปยังเป้าไม้รูปคนที่วางอยู่บนโต๊ะ ก่อนจะลั่นไกเสียงดัง "แปะ" เป้าไม้ก็ล้มลงทันที ความแรงของมันเหลือเชื่อ กระสุนของปืนไม้บนกำแพงทั้งหมดเป็นแค่หนังสติ๊กเท่านั้น  Mac เป็นคนพูดน้อย เขาเพียงแนะนำปืนไม้ทีละกระบอกอย่างคร่าวๆ ด้วยความภาคภูมิใจ แต่สายตาเต็มไปด้วยความตื่นเต้นและความคาดหวัง

 

บรรจงวางออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้เชิงประสบการณ์

"สินค้าของเราก็คือประสบการณ์" เฉียวอันเห็นว่าจุดขายของ Fun-Maker คือการให้บริการเชิงประสบการณ์ ให้ผู้บริโภคมีโอกาสดื่มด่ำกับผลงานของตัวเองอย่างเป็นส่วนตัว เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่การทำผลงานให้แล้วเสร็จเท่านั้น และเพื่อสร้างประสบการณ์ สิ่งที่ลูกค้าเห็นไม่ว่าจะเป็นการจัดสถานที่ ใบชาที่ให้ลิ้มชิมรส และผ้ากันเปื้อน ล้วนมีการออกแบบอย่างพิถีพิถัน ทั้งนี้เพื่อสร้างบรรยากาศให้เหมือนอยู่ในบ้านของตัวเอง

เพื่อให้ลูกค้ามีโอกาสดื่มด่ำกับห้วงเวลาแห่งการอยู่กับผลงานของตนเองโดยลำพังที่แสนจะหายากเช่นนี้ แม้ Fun-Maker จะรับลูกค้าได้เพียงรอบละ 8 คนเท่านั้น แต่ก็รับการให้บริการแบบตัวต่อตัวด้วย ดังนั้น ลูกค้าจะได้รับสิทธิ์การบริการแบบตัวต่อตัวในช่วงวันเกิดของตนทุกปี เพื่อประดิษฐ์ของขวัญวันเกิดให้แก่ตนเอง ดื่มด่ำไปกับช่วงเวลาแห่งความเงียบสงบ ในจังหวะสำคัญแห่งชีวิตของตน

ในบรรยากาศเช่นนี้ ทุกคนจะมีสิทธิ์เลือกประดิษฐ์งานไม้ที่ตนอยากจะทำ สรรค์สร้างผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ซึ่งเคยมีนายทหารหญิงรายหนึ่งได้มาที่ร้านก่อนเดินทางไปฝึกอบรมที่สหรัฐอเมริกา เพื่อประดิษฐ์ปืนไรเฟิลวินเชสเตอร์และปืนกล P90 ที่นี่ ก่อนจะนำติดตัวไปโชว์ให้เพื่อนๆ ที่สหรัฐได้ชื่นชม นอกจากนี้ ยังมีสาวเจ้าของร้านขายของชำบนเกาะหลันอวี่ ตัดสินใจมาขอศึกษาฝึกฝนเทคนิคการตัดด้วยแสงเลเซอร์ ประดิษฐ์ของที่ระลึกที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่เป็นไปอย่างดุเดือด

ลูกค้าที่มาที่นี่จะมีเหตุผลที่แตกต่างกัน แต่ "เมื่อทุกคนมาถึงที่นี่ ก็จะกลายเป็นเด็กน้อย" เฉียวอันเล่าให้ฟังพร้อมรอยยิ้ม

 

คุณค่าแห่งหัตกรรมมีมากกว่าตัวผลงาน

เมื่อผู้คนได้เห็นคำชมที่มีต่อ Fun-Maker ต่างแสดงความคิดเห็นต่อวิธีการจัดจำหน่ายวัสดุที่จะนำไปประดิษฐ์ผลงาน แต่ทั้ง Mac และเฉียวอัน ต่างเห็นตรงกันว่า วิธีการเหล่านี้อาจทำให้ผู้คนมองข้ามความทุ่มเทและหยาดเหงื่อของนักออกแบบไปอย่างง่ายๆ อันจะเป็นการประเมินคุณค่าแห่งเทคนิคและความคิดสร้างสรรค์ที่ต่ำเกินไป ดังนั้น พวกเขาจึงยืนหยัดที่จะใช้การเรียนรู้และประสบการณ์เป็นหลัก นำพาผู้คนให้เข้าใจหลักการเครื่องกลแบบง่ายๆ แล้วสนับสนุนให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของตน ประดิษฐ์สิ่งที่ตนอยากจะได้

5 ปีแล้วที่มันซ่อนตัวอยู่ในซอยแห่งนี้ เป็นร้านเล็กๆ ที่ดึงดูดลูกค้าทั้งในไต้หวันและต่างประเทศ เป็นที่ที่ทำให้ความฝันของสามี-ภรรยาคู่นี้กลายเป็นความจริง พวกเขาหวังว่าลูกค้าทุกคนที่เดินเข้ามาในร้านจะได้รับความอบอุ่นเหมือนอยู่ในบ้านของตัวเอง และอยากจะหวนกลับมาที่นี่ทุกเมื่อ พร้อมหวังว่าจะมีผู้คนจำนวนมากขึ้นรู้จักที่นี่ว่า นอกจากเหล่า Maker ของไต้หวันจะมีความโดดเด่นทางด้านการสร้างสรรค์หุ่นยนต์แล้ว งานฝีมือหัตถกรรมของไต้หวันก็มองข้ามไม่ได้เช่นเดียวกัน