New Southbound Policy Portal

TECO จัดทำเว็บไซต์ภาษาไทย แบ่งปันประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดและกระตุ้นความร่วมมือในการสกัดกั้นโรคระบาด ระหว่างไต้หวัน - ไทย

TECO ได้เขียนบทความพิเศษ นำเสนอประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไต้หวัน เป็นภาษาจีนและไทย ซึ่งได้อัปเดตลงในเว็บไซต์ให้บริการข้อมูล “Taiwan’s Stories Against COVID-19” (ภาพจาก TECO)

TECO ได้เขียนบทความพิเศษ นำเสนอประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไต้หวัน เป็นภาษาจีนและไทย ซึ่งได้อัปเดตลงในเว็บไซต์ให้บริการข้อมูล “Taiwan’s Stories Against COVID-19” (ภาพจาก TECO)

TECO วันที่ 22 เม.ย. 63

 

เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย (TECO) แถลงว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ที่ลุกลามไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง การป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน กลับได้รับเสียงชื่นชมจากประชาคมโลกอย่างแพร่หลายมากขึ้น เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน พร้อมกระตุ้นความร่วมมือด้านการป้องกันโรคระบาดระหว่างไต้หวัน – ไทย ทาง TECO จึงได้เขียนบทความพิเศษ นำเสนอประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไต้หวัน เป็นภาษาจีนและไทย ซึ่งได้อัปเดตลงในเว็บไซต์ให้บริการข้อมูล “Taiwan’s Stories Against COVID-19” (http://XCOVID-19.Taiwan-Thailand.Net) พร้อมกันนี้ยังได้รวบรวมภาพบรรยากาศการประชุมว่าด้วยการแบ่งปันประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดและโอกาสธุรกิจระหว่างไต้หวัน – ไทย ในรูปแบบออนไลน์ อีกทั้งยังได้รวบรวมข้อมูลที่ไต้หวันประสานความร่วมมือกับนานาประเทศทั่วโลก ในภารกิจการป้องกันโรคระบาด ลงในเว็บไซต์ดังกล่าวอีกด้วย


 

ประเด็นที่ 1 แบ่งปันประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของไต้หวัน : TECO ได้เขียนบทความพิเศษลงในเว็บไซต์ ภายใต้หัวข้อ “มาตรการป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน” เป็นภาษาจีนและไทย โดยมีรายละเอียดข้อมูลที่ประกอบด้วย การบริหารงานของศูนย์บัญชาการกลางป้องกันโรคระบาด (Central Epidemic Command Center, CECC) กลไกการจัดสรรและควบคุมสายการผลิตหน้ากากอนามัย มาตรการควบคุมการเดินทางเข้าออกของผู้เดินทางระหว่างประเทศ และการตรวจสอบประวัติการเดินทางของผู้ป่วยยืนยัน การรับมือกับข่าวปลอม รวมไปถึงการวิจัยและพัฒนาชุดน้ำยาเพื่อการตรวจคัดกรอง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้รวบรวมข้อมูล “มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรม ที่รัฐบาลไต้หวันวางแผนขึ้นเพื่อช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชน” โดยในเนื้อหาได้ชี้แจงถึงกฎหมายพิเศษที่รัฐบาลไต้หวันบัญญัติขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ภาคอุตสาหกรรม งบประมาณพิเศษ 60,000 ล้านเหรียญไต้หวัน มาตรการด้านการเงินการคลัง และมาตรการฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว


 

ประเด็นที่ 2 ความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนระหว่างไต้หวัน – ไทย : เพื่อผลักดันการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการป้องกันโรคระบาดแบบทวิภาคี และเสริมสร้างโอกาสความร่วมมือด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ ระหว่างไต้หวัน – ไทย TECO ได้จัดการประชุมภาคภาษาอังกฤษ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพของไต้หวัน (Development Center for Biotechnology, DCB) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขแห่งชาติของไต้หวัน (National Health Research Institutes, NHRI) Institute for Biotechnology and Medicine Industry (IBMI) สมาคมการบริหารแบรนด์ระดับโลก (Global Brands Management Association, GBMA) สถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (Industrial Technology Research Institute, ITRI) เข้าร่วมการประชุม เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนหารือกับบุคลากรทางการแพทย์ นักวิชาการ และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ของไทย ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมแล้ว ทาง TECO จึงได้อัปเดตข้อมูลข่าวสารและภาพบรรยากาศการประชุม ลงในเว็บไซต์ “พันธมิตรการป้องกันโรคระบาด ไต้หวัน - ไทย” เพื่อให้ผู้สนใจสามารถรับชมย้อนหลังได้


 

ประเด็นที่ 3 พันธมิตรด้านการป้องกันโรคระบาดทั่วโลก : เพื่อนำเสนอความร่วมมือในการป้องกันโรคระบาดระหว่างไต้หวันกับประชาคมโลก TECO ได้รวบรวมแถลงการณ์ที่ได้เปิดเผยสู่สาธารณชนและข้อมูลข่าวที่เกี่ยวข้องลงในเว็บไซต์ อาทิ แถลงการณ์ความร่วมมือด้านการป้องกันโรคระบาดระหว่างไต้หวัน – สาธารณรัฐเช็ก ไต้หวันและสหรัฐฯ เสริมสร้างความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนในการร่วมต่อกรกับโรคโควิด – 19 รวมไปถึงสารจากสมาชิกรัฐสภายุโรปและรัฐสภาเยอรมนี ที่แสดงความชื่นชมการป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน เป็นต้น โดย TECO ต้องการร่วมบันทึกร่องรอยความร่วมมือในการป้องกันโรคระบาดระหว่างไต้หวันและประชาคมโลกไปพร้อมกับรัฐบาลกลางไต้หวัน เพื่อส่งเสริมให้มิตรสหายชาวไทยรับทราบด้วย


 

ในอนาคต TECO จะอัปเดตข้อมูลข่าวสารล่าสุดลงในเว็บไซต์เป็นประจำ ขอเชิญชวนให้มิตรสหายชาวไทยร่วมแบ่งปันประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน ตลอดจนร่วมสร้างโอกาสความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการป้องกันโรคระบาดระหว่างไต้หวัน - ไทย เพื่อก้าวข้ามบททดสอบของวิกฤตโรคโควิด – 19 ไปพร้อมกัน