New Southbound Policy Portal

รองปธน.เฉินฯ และผอ. สถาบัน JHSPH ร่วมจัดการประชุม ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา รองปธน.เฉินเจี้ยนเหริน ได้จัดการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับผอ.สถาบัน JHSPH (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา รองปธน.เฉินเจี้ยนเหริน ได้จัดการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับผอ.สถาบัน JHSPH (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 25 เม.ย. 63

 

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา ทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวัน แถลงว่า เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 24 เม.ย. นายเฉินเจี้ยนเหริน รองประธานาธิบดี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ตอบรับคำเชิญของสถาบันสาธารณสุขของมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกิน (Johns Hopkins Bloomberg School of Public Health, JHSPH) แห่งสหรัฐอเมริกา ในการจัดการประชุมร่วมกับ Dr. Ellen J. MacKenzie ผู้อำนวยการ JHSPH และ W. Brent Christensen ผู้อำนวยการใหญ่ สถาบันอเมริกาในไต้หวัน สำนักงานไทเป ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ณ ทำเนียบประธานาธิบดี


 

รองปธน.เฉินฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า เมื่อวันที่ 31 ธ.ค. ปีที่แล้ว สำนักงานควบคุมโรคของไต้หวันได้รับข่าวสารทางอินเทอร์เน็ต โดยมีเนื้อความระบุว่า เมืองอู่ฮั่นมีกรณีผู้ป่วยโรคปอดอักเสบชนิดพิเศษ จำนวน 7 รายเป็นอย่างต่ำ ซึ่งพวกเรามีความเห็นว่ากรณีผู้ป่วยโรคปอดอักเสบชนิดพิเศษที่เกิดจากการรวมกลุ่มกันของกลุ่มชนในครั้งนี้ มีความรุนแรง เกิดขึ้นอย่างกระทันหัน ไม่ปกติ และเหนือความคาดหมาย จึงได้ส่งสารไปยังองค์การอนามัยโลก (WHO) และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีน (Chinese Center for Disease Control and Prevention, CDC) เพื่อแจ้งเตือนให้เฝ้าจับตาสถานการณ์ พร้อมทั้งแสวงหามาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน


 

โดยเมื่อวันที่ 20 ม.ค. ไต้หวันได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการกลางป้องกันโรคระบาด (Central Epidemic Command Center, CECC) ขึ้น ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้มีการจัดงานแถลงข่าวในทุกวัน เพื่อความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล ประชาสัมพันธ์ความรู้ด้านสุขอนามัย และการบริหารความเสี่ยงต่างๆ พร้อมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเว้นระยะห่างทางสังคม หลีกเลี่ยงการชุมนุมเป็นกลุ่มใหญ่ โดยมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ก็ถือเป็นมาตรการป้องกันโรคระบาดที่สำคัญเช่นกัน นอกจากนี้ ยังได้ประสานความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาชุดตรวจคัดกรอง ยาต้านเชื้อไวรัส และวัคซีนป้องกันโรคกับสหรัฐฯ และประเทศในแถบยุโรป อนึ่ง ความร่วมมือระหว่างประเทศก็เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะไม่มีประเทศใดสามารถต่อกรกับโรคโควิด – 19 ได้เพียงลำพัง ภายใต้สถานการณ์ที่หลายประเทศตกอยู่ในสภาวการณ์คับขัน ไต้หวันไม่สามารถนิ่งเฉยอยู่ได้


 

ตลอดทั้งเดือนเมษายน พวกเราได้บริจาคหน้ากากอนามัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติภารกิจอยู่ในแนวหน้าของการป้องกันโรคระบาดในประเทศแถบยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศพันธมิตร รวมจำนวนทั้งสิ้นกว่า 17 ล้านชิ้น ขณะเดียวกันก็ได้ประสานความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาชุดตรวจคัดกรอง ยาต้านเชื้อไวรัส และวัคซีนป้องกันโรค เป็นต้น ร่วมกับสหรัฐฯ และประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ทุกคนต่างก็เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการสกัดกั้นโรคระบาดในครั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไต้หวันประสบความสำเร็จในการป้องกันโรคระบาด มาจากความรวดเร็วในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล การกำหนดนโยบายที่ชัดเจน การดำเนินการตามมาตรการอย่างเข้มงวดทุกขั้นตอน การจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นอย่างทั่วถึง การชี้แจงข้อมูลที่โปร่งใส และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทันสมัยมาเป็นตัวช่วยในการสกัดกั้นโรคระบาด จนได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายจากประชาคมโลก ซึ่งไต้หวันยินดีที่จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์นี้ เพื่อประโยชน์สุขของประชาคมโลก และจะให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์กับประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงต่อไป รองปธน.เฉินฯ กล่าวย้ำว่า : “ไต้หวันไม่เพียงแต่ช่วยได้ แต่ไต้หวันกำลังช่วยอย่างเต็มที่” พวกเราพร้อมขานรับกับแผนรับมือในภาวะฉุกเฉินที่ว่า ประชาคมโลกควรจะขยายความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อสกัดกั้นโรคระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ


 

Dr. Ellen J. MacKenzie กล่าวว่า รองปธน.เฉินฯ เป็นดุษฎีบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบัน JHSPH มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอกทั้งสาขาการควบคุมโรคระบาดและสาขาพันธุศาสตร์มนุษย์ นอกจากนี้ รองปธน.เฉินฯ ยังได้สร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมในหลายด้าน ทั้งทางวิชาการ ระบบสาธารณสุข การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และหน่วยงานรัฐบาล ซึ่งรองปธน.เฉินฯ ได้ประยุกต์ใช้ความเชี่ยวชาญทางด้านการบริหารระบบสาธารณสุขของตน มาต่อกรกับโรคซาร์ส (SARS) ที่อุบัติขึ้นในปี 2003 และโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ที่กำลังระบาดในปัจจุบัน


 

ในตอนท้าย W. Brent Christensen กล่าวขณะปราศรัยว่า การประชุมในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ไต้หวันเป็นพันธมิตรทางความร่วมมือที่สามารถเชื่อถือและพึ่งพาได้ โดยไต้หวันได้ร่วมแบ่งปันความรู้ความเชี่ยวชาญและทรัพยากรที่จำเป็นให้กับหน่วยงานภาครัฐ สถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานสาธารณสุขของนานาประเทศทั่วโลก สหรัฐฯ จึงคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะกระชับความร่วมมือกับไต้หวันในเชิงลึกยิ่งขึ้น ตลอดจนประชาสัมพันธ์รูปแบบการสกัดกั้นโรคระบาดของไต้หวันที่เปี่ยมด้วยประสิทธิภาพ ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาคมโลกต่อไป