New Southbound Policy Portal
แพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์ พิธีกรชาวไทย สัมผัสวัฒนธรรมชาของไต้หวัน
รายการเฉพาะกิจ “Embracing Taiwan” ออกอากาศใน 4 ประเทศ เป็นภาษาของแต่ละประเทศเมื่อสัปดาห์ที่ 1 และ 2 ของเดือนพฤศจิกายน 2019 แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของประเทศเหล่านี้กับไต้หวัน ถือเป็นรายการที่ทำให้รู้จักไต้หวันในแบบ “เจาะลึก” ก็ว่าได้
เกษตรสีเขียว ความงดงามอย่างยั่งยืน
สถานีโทรทัศน์ CNN PH ของฟิลิปปินส์นำกล้องวิดีโอ 3 ตัว พร้อมทีมงานโปรดักชัน 9 คน เดินทางมายังไต้หวันเมื่อปลายเดือนสิงหาคม โดยมีโรวิลสัน เฟอร์นันเดซ (Rovilson Fernandez) พิธีกรรายการ “Ang Pinaka” รายการวาไรตี้ที่ได้รับความนิยมสูงในฟิลิปปินส์ และวาเลอรี ตัน (Valerie Tan) บล็อกเกอร์ชื่อดัง คนดังในอินสตาแกรม (IG) และโทรทัศน์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งทั้งคู่เข้าขากันเป็นอย่างดี และยังร้องเพลงเก่งอีกด้วย
พวกเขาเดินทางไปยังฟาร์มเกษตรอินทรีย์ของบริษัทน้ำตาลไต้หวัน (Taiwan Sugar) ในเขตกวนเถียน นครไถหนาน เป็นที่แรก สวมชุดชาวนา ช่วยโรยปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตจากชานอ้อยและแกลบ แนะนำว่าไต้หวันปลูกพืชโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ปลูกผักออร์แกนิก โดยไม่ใช้สารกำจัดแมลง บรรลุเป้าหมายในการปรับปรุงคุณภาพดินและรักษาธรรมชาติ
ทีมงานเดินทางต่อไปยังสวนสาธารณะ Dongshan River Ecoark เมืองอี๋หลาน ล่องเรือไปตามลำน้ำ นกยางเปียและนกเขนท้องแดงกำลังเดินเล่นอยู่บนดอนทราย ท่ามกลางฝนตกปรอยๆ สัมผัสได้ถึงการฟื้นฟูระบบนิเวศและความใส่ใจให้ความสำคัญต่อการศึกษาสิ่งแวดล้อมของไต้หวัน
ตัน ซึ่งมีเชื้อสายจีน มีชื่อจีนว่าเฉินอวี้หยุน (陳玉雲) พูดภาษาจีนกลางได้ค่อนข้างดี กับเฟอร์นันเดซ ทั้งคู่ต่างก็เคยมาไต้หวันหลายครั้งแล้ว และยังเคยทำรายการแนะนำการท่องเที่ยวไต้หวันด้วย เธอกล่าวว่า “ในการถ่ายทำรายการ “Embracing Taiwan” ครั้งนี้ ไปที่ฟาร์มในเขตกวนเถียน นครไถหนาน ผ่านหนานจวงตำบลเล็กๆ รู้สึกประทับใจมาก ถึงแม้จะเป็นชนบท แต่ถนนก็สะอาดมาก ประชาชนไต้หวันมีระเบียบวินัยและสุภาพ”
ทีมงานช่อง CH5 ของไทย เก็บภาพศูนย์วัฒนธรรมสร้างสรรค์ซงซาน
ทีมงานของฟิลิปปินส์เดินทางไปยังศูนย์อวกาศแห่งชาติเพื่อถ่ายภาพบรรยากาศ แนะนำดาวเทียมฟอร์โมแซต 5 ซึ่งไต้หวันวิจัยพัฒนาและสร้างขึ้นเอง และดาวเทียมฟอร์โมแซต 7 ที่ใช้สำหรับบันทึกข้อมูลสภาพอากาศและเพิ่งยิงขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศเมื่อเดือนมิถุนายน 2019 แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีด้านอวกาศของไต้หวัน
ผู้ที่สัมผัสได้ถึงความแข็งแกร่งในการสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีของไต้หวันเช่นเดียวกันนี้ ยังมีทีมงานช่อง HTV สถานีโทรทัศน์ที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ทีมงานถ่ายทำ 8 คน เดินทางไปยัง Sha Yang Ye Robot Wonderland ซึ่งเป็นโรงงานหุ่นยนต์เชิงท่องเที่ยวแห่งเดียวในเอเชีย โรงงานแห่งนี้จัดแสดงหุ่นยนต์กว่า 30 ชนิด รวมถึงหุ่นยนต์ต้อนรับที่ออกแบบน่ารัก หุ่นยนต์เทพนาจาที่ขยับไปมาได้ตามเสียงดนตรีของงานวัดศาลเจ้า หุ่นยนต์กู้ภัยแบบล้อสายพาน เป็นต้น กวง วินห์ (Quang Vinh) หรือชื่อจีนเฉินกวงหรง (陳光榮) ผู้ซึ่งได้รับฉายาว่า เอฟโฟร์ (F4) เวียดนาม ผันตัวจากการเป็นนักร้องไอดอลสู่พิธีกรคนดังในโลกออนไลน์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้ทดลองควบคุมหุ่นยนต์ต่อสู้ในการประลอง ไม่ทันไรก็หลงใหลในการเล่นหุ่นยนต์ตัวนี้เสียแล้ว
ทีมงานเดินทางต่อไปยังศูนย์นวัตกรรมหู่โถวซัน กวง วินห์ได้ลองนั่งโดยสารรถยนต์ไร้คนขับ และไปที่ห้องควบคุมเพื่อทดลองระบบฝึกขับอัตโนมัติแบบจำลอง แสดงให้เห็นว่าไต้หวันได้ผนวก AI และ Internet of Things เข้าด้วยกัน เพื่อพัฒนารถยนต์อัตโนมัติและประสิทธิภาพด้านเทคโนโลยีของความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์
กำหนดการเดินทางแน่นเอี๊ยดจนไม่มีเวลาหยุดพัก จากภูเขาลิ่วสือสือซัน เมืองฮัวเหลียน ถ่ายทุ่งดอกไม้จีนสีเหลืองอร่ามตา หน้าผาชิงสุ่ยสีครามสุดลูกหูลูกตา จากนั้น กวง วินห์ ก็รีบเดินทางกลับมาไทเปเพื่อขี่จักรยานไฟฟ้า Gogoro และขี่จักรยาน YouBike ที่ซีเหมินติง หลังจากแนะนำความสะดวกสบายในการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ใบเดียวซื้อของ ขึ้นรถหรือท่องเที่ยวในไต้หวัน เขายังสวมเสื้อคลุมผ่าตัด เพื่อชมการผ่าตัดแบบดาวินชีที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ไทเป โดยแพทย์ใช้แขนกลหุ่นยนต์ในการผ่าตัดแผนกนรีเวชศาสตร์ ซึ่งมีข้อดีคือ บาดแผลมีขนาดเล็ก เลือดออกน้อย ลดระยะเวลาการพักฟื้นในโรงพยาบาล
สภาพแวดล้อมสำหรับการศึกษาต่ออันเป็นเลิศและเป็นมิตร
กวง วินห์ เป็นนักร้องเสียงดีและเป็นกันเอง ไม่วางมาดดารา ขณะที่เขาไปเยือนมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหมิงซิน ก็ถูกแฟนคลับต้อนรับด้วยการรุมตอมอย่างกับฝูงผึ้ง “ได้เห็นชาวเวียดนามจำนวนมากมาศึกษาต่อในไต้หวันและประสบความสำเร็จในการทำงาน ผมเองก็รู้สึกภาคภูมิใจด้วย” วินห์กล่าว
มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหมิงซินมีนักศึกษาต่างชาติจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 1,200 คน หลินฉี่รุ่ย (林啟瑞) อธิการบดี มองว่าการศึกษาไร้พรมแดน นักศึกษาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหล่านี้ตั้งใจเรียน และยังเอาชนะอุปสรรคด้านภาษา มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหมิงซินจึงให้การฝึกอบรมและบ่มเพาะบุคลากรที่มีศักยภาพในการก้าวสู่เวทีนานาชาติเป็นจำนวนมาก
เนื่องจากไต้หวันประสบความสำเร็จและมีสภาพแวดล้อมเหมาะแก่การวิจัยนวัตกรรมด้านเซมิคอนดักเตอร์ จึงดึงดูดให้นักศึกษาอินเดียมาเรียนที่ไต้หวัน ผู้จัดกำหนดการจึงจัดให้เจ้าหน้าที่ของ Zee TV สถานีโทรทัศน์ที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย สัมภาษณ์คุณมาโนช กริปลานี (Manoj Kriplani) ชาวอินเดียที่เดินทางมาศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยชิงหัว หลังสำเร็จการศึกษาแล้ว ก็ได้เข้าทำงานในบริษัทด้านเทคโนโลยีในไต้หวัน
มาโนช กริปลานี ได้ทุนการศึกษาจากกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน ให้มาศึกษาต่อที่ไต้หวัน หลังจากเขาจบการศึกษาก็ได้งานที่บริษัท ASRock Technology ทันที ปัจจุบันทำงานที่บริษัท Century Development Corporation ช่วยเหลือสมาคมธุรกิจไต้หวัน-อินเดีย ในการเปิดตลาดอินเดีย มาโนชใช้ภาษาแม่ในการแนะนำไต้หวันให้ทีมงานถ่ายทำของอินเดียว่า “InterNations เว็บไซต์ของคนทำงานต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกประกาศว่า ไต้หวันติดอันดับ 1 สถานที่ที่เหมาะสมแก่การพักอาศัยและทำงานมากที่สุด เพราะไต้หวันทั้งปลอดภัย สะดวก และสบายๆ ไม่รีบร้อน อย่างที่ทำงานของผมอยู่ที่ซอฟต์แวร์ปาร์คหนานกั่ง สามารถนั่งรถไฟฟ้า รถไฟ และรถไฟความเร็วสูง ขนาดคณะเต้นบอลลีวูด เริ่มต้นจากตอนที่ผมเพิ่งมาไต้หวันใหม่ๆ มีเพียงตัวเลขหลักหน่วยเท่านั้น แต่ปัจจุบันทั่วไต้หวันมีกว่า 30 คณะแล้ว แสดงให้เห็นว่าการเต้นบอลลีวูดได้รับความนิยมในไต้หวัน ปัจจุบันร้านอาหารอินเดียก็เป็นที่แพร่หลายมาก”
ชาโมลี คีรา (Shamoly Khera) โปรดิวเซอร์และพิธีกรรายการอาหารชื่อดังของอินเดีย “The Great Indian Global Kitchen” เธอเป็นนักวิจารณ์อาหารที่ต้องเป๊ะทุกกระเบียดนิ้ว เมื่อได้ดื่มชาดำซันมูนเลค เธออธิบายว่ารู้สึกสด สะอาด มีชีวิตชีวา ส่วนบะหมี่ปลากันเฉวียนและกว้าเปาที่ซื้อในเมืองหนานโถว เธอก็ยกนิ้วโป้งให้และชมว่าอร่อย
แพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์ นักแสดงไทยชื่อดัง แนะนำให้ผู้ชมทราบว่า ไต้หวันให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพการสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์และการออกแบบ
CH5 ช่องวาไรตี้ที่ได้รับความนิยมในเมืองไทย และแพนเค้ก เขมนิจ จามิกรณ์ นักแสดงสาวชื่อดังที่มีผลงานละครโทรทัศน์มากมาย มีแฟนคลับจำนวนมาก รวมไปถึงกลุ่มแฟนคลับของแพนเค้กในไต้หวัน ขณะที่เธอเดินทางไปเยือนโรงงานเชิงท่องเที่ยว SL Towel Industrial Tourism and Explore Factory ได้ซื้อผ้าขนหนูถึง 20,000 เหรียญไต้หวัน เพื่อเป็นของขวัญมอบให้แฟนคลับ
ประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านผลงานหัตถศิลป์และการออกแบบ ผู้จัดจึงได้จัดให้แพนเค้กไปเยือนศูนย์วัฒนธรรมสร้างสรรค์ซงซาน ซึ่งขึ้นชื่อในสินค้านวัตกรรมทางวัฒนธรรมแบรนด์ไต้หวัน
ศูนย์วัฒนธรรมสร้างสรรค์ซงซานไม่เพียงแต่ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยจัด “โครงการแลกเปลี่ยนนักออกแบบไต้หวัน-ไทย 2019” เมื่อเดือนตุลาคม 2019 ยังนำสินค้าไต้หวัน 12 แบรนด์ ไปร่วมในงานแสดงสินค้า Style Bangkok ซึ่งเป็นงานอุตสาหกรรมการออกแบบที่สำคัญที่สุดของเอเชีย เพื่อแสวงหาโอกาสความร่วมมือทางธุรกิจกับตลาดอาเซียน ตลอดจนนำพาซอฟต์พาวเวอร์ทางวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่นของไต้หวัน ขยายเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ ทำให้นานาชาติมองเห็นศักยภาพที่เปี่ยมล้นในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมของไต้หวัน
แอน กฤษณะนันท์ โปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ กล่าวว่า “ปัจจุบันเศรษฐกิจของไทยกำลังพัฒนา มีรายได้เพิ่มขึ้น ไต้หวันกลายเป็นตัวเลือกอันดับแรกในการเดินทางไปต่างประเทศของคนไทย สิ่งที่พวกเราประทับใจคือ ชาวไต้หวันมีความอ่อนน้อมถ่อมตน สุภาพ ไต้หวันเป็นสังคมที่มีความกลมกลืนและสวยงาม ทำให้คนไทยสนใจอยากมาท่องเที่ยวกันที่ไต้หวันเป็นอย่างมาก” สิ่งเหล่านี้คือความในใจของทีมงานของสถานีโทรทัศน์ทั้ง 4 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการได้รู้จักไต้หวันในด้านศักยภาพการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีี สัมผัสความอุดมสมบูรณ์ทางวัฒนธรรมดั้งเดิม หรือได้ลิ้มลองอาหารอร่อยหลากรสชาติ สรุปแล้วทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้ามีโอกาสจะต้องกลับมาเที่ยวไต้หวันอีกแน่นอน