New Southbound Policy Portal
TECO และรพ. CCH ร่วมจัดการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสกัดกั้นโรคโควิด – 19 กับบุคลากรทางการแพทย์ของไทยและประเทศอื่นๆ (ภาพจาก TECO)
TECO วันที่ 24 เม.ย. 63
เพื่อประชาสัมพันธ์ผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน ให้ประชาคมโลกได้รับทราบมากขึ้น สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย (Taipei Economic and Cultural Office in Thailand ,TECO) ได้ร่วมกับโรงพยาบาลจางฮั่วคริสเตียน (Changhua Christian Hospital, CCH) จัดการประชุมภาคภาษาอังกฤษ ภายใต้หัวข้อ “การป้องกันโรคระบาดด้วยระบบอัจฉริยะในกลุ่มประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ - การแพทย์อัจฉริยะของไต้หวันและกลยุทธ์รับมือโรคโควิด - 19” ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยได้ร่วมแบ่งปันผลสัมฤทธิ์ในการต่อกรกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ที่เกิดจากความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรม และภาควิชาการที่เกี่ยวข้องในไต้หวัน เพื่อเป็นประโยชน์แก่บุคลากรทางการแพทย์ นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ รวมถึงเหล่าผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมการแพทย์ของไทยและประเทศอื่นๆ โดยมีเป้าหมายในการเสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทางการแพทย์ของไทยและประเทศนั้นๆ เพื่อสกัดกั้นวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้อย่างมีประสิทธิภาพ รพ. CCH ถือเป็นสถาบันการแพทย์ที่กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการไต้หวัน กำหนดให้เป็นสถาบันการแพทย์ที่ถูกมอบหมายให้ดำเนินนโยบาย “1 ประเทศ 1 ศูนย์การแพทย์” โดยมีหน้าที่รับผิดชอบผลักดันความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านการแพทย์ ระหว่างไต้หวัน – ไทยอย่างยั่งยืน
ดร. ถงเจิ้นหยวน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำประเทศไทย กล่าวขณะปราศรัยในการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์รอบแรก โดยระบุว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั่วโลกมียอดผู้ป่วยสะสมทั้งหมดกว่า 2.6 ล้านราย มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกรวม 182,000 คน ซึ่งนานาประเทศเกินครึ่งโลกต่างใช้มาตรการปิดเมืองปิดประเทศ (Lock Down) มีผู้คนนับร้อยล้านคนที่ต้องหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดดังกล่าว
ดร.ถงฯ กล่าวว่า ไต้หวันมีศักยภาพ มีความยินดีที่จะช่วยเหลือ และกำลังให้ความช่วยเหลือแก่ประชาคมโลกอย่างเต็มกำลัง ตราบจนปัจจุบันไต้หวันได้บริจาคเวชภัณฑ์ในการป้องกันโรคระบาดอย่างหน้ากากอนามัยจำนวน 200,000 แสนชิ้น และชุดป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment, PPE) จำนวน 15,000 ชุดให้กับรัฐบาลไทย ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือ ไต้หวันได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การบริหารระบบสาธารณสุขในประเทศ และพร้อมประสานความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการป้องกันโรคระบาดกับประชาคมโลก ซึ่งครอบคลุมไปถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์แบบดั้งเดิม และนวัตกรรม AI เป็นต้น
นับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนเป็นต้นมา ทาง TECO ได้ทยอยจัดการประชุมว่าด้วยการป้องกันโรคระบาด ผ่านช่องทางออนไลน์มาหลายรอบ โดยในการประชุมรอบแรก ดร. หลิวจุนหรง นายแพทย์แผนกระบาดวิทยาได้ทำหน้าที่เป็นผู้บรรยาย ซึ่งได้นำเสนอมาตรการที่ทางรพ. CCH ประยุกต์ใช้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ภายในสถานพยาบาล พร้อมนี้ยังให้ความร่วมมือกับกองสาธารณสุขในพื้นที่ และศูนย์บัญชาการกลางป้องกันโรคระบาด (Central Epidemic Command Center, CECC) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้นในชุมชนในเมืองจางฮั่ว นอกจากนี้ ในระหว่างการประชุม ดร.หลิวฯ ยังได้ชี้แจงถึงรูปแบบการป้องกันโรคระบาดและกลยุทธ์ในการสกัดกั้นการแพร่กระจายของโรคระบาดของไต้หวัน หลังเสร็จสิ้นการบรรยาย ได้เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ของญี่ปุ่น มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย ซักถามถึงมาตรการตรวจคัดกรองและกักตัวที่ไต้หวันประยุกต์ใช้ ซึ่งตัวแทนจากประเทศต่างๆ ได้ใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณที่ไต้หวันยินดีแบ่งปันประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาคมโลก
การประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ภายใต้หัวข้อ “การป้องกันโรคระบาดด้วยระบบอัจฉริยะ ในกลุ่มประเทศนโยบายมุ่งใต้ใหม่” ในครั้งนี้ ร่วมกันจัดขึ้นโดย TECO และรพ. CCH ได้เชิญเจ้าหน้าที่สาธารณสุข สถาบันการแพทย์ต่างๆ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจไต้หวัน (Chung-Hua Institution for Economic Research) รวมถึงนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญของสถาบันสาธารณสุข มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan University, NTU) เข้าร่วมแบ่งปันข้อมูลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคระบาด อาทิ กลยุทธ์การป้องกันโรคระบาดของรัฐบาลกลางของไต้หวัน การเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาดในชุมชนและสถานพยาบาล รวมถึงคาดการณ์แนวโน้มการแพร่ระบาดด้วยเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า ตลอดจนการรับมือกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เป็นต้น พร้อมนี้ ได้เชิญตัวแทนจากภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรม และภาควิชาการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันโรคระบาดของไทย เข้าร่วมแลกเปลี่ยนในการประชุมครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ ยังได้เชิญผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีการแพทย์อัจฉริยะของไต้หวัน เข้าร่วมแบ่งปันผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากการประยุกต์ใช้อุปกรณ์การแพทย์อัจฉริยะที่ผลิตในประเทศที่มีต่อภารกิจการป้องกันโรคระบาด เป็นต้น