New Southbound Policy Portal
รองปธน. เฉินเจี้ยนเหริน เข้าร่วมการประชุมรูปแบบออนไลน์กับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผ่านการอัดคลิปวิดีโอแสดงปาฐกถาในหัวข้อพิเศษไว้ล่วงหน้า (ทำเนียบประธานาธิบดีไต้หวัน)
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 8 พ.ค. 63
เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา ตามเวลาตะวันตกของสหรัฐฯ นายเฉินเจี้ยนเหริน รองประธานาธิบดี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ตอบรับเข้าร่วมการประชุมรูปแบบออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ทั่วโลกและไต้หวัน : บทเรียนสำหรับโลก” (Taiwan And The COVID-19 Pandemic : Lessons For The World) ที่สถาบัน Hoover Institute มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดจัดขึ้น
โดยการแสดงปาฐกถาในหัวข้อพิเศษในครั้งนี้ นำเสนอโดยการอัดคลิปวิดีโอไว้ล่วงหน้า ซึ่งรองปธน. เฉินฯ กล่าวในคลิปวิดีโอว่า หลังจากที่ไต้หวันได้ประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคซาร์ส (SARS) แล้ว จึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการป้องกันโรคระบาดไว้ 3 ประการหลัก ดังนี้ “แก้ปัญหาอย่างรอบคอบ” , “รับมืออย่างฉับไว” และ “กำหนดมาตรการป้องกันโรคระบาดล่วงหน้า” พร้อมเน้นย้ำว่า กุญแจสำคัญของ “รูปแบบไต้หวัน” คือการสร้างหลักประกันให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่โปร่งใส รองปธน.เฉินฯ เชื่อมั่นว่า การที่ไต้หวันเข้าร่วมในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) จะมีส่วนช่วยในการสกัดกั้นโรคระบาดทั่วโลก จึงขอเรียกร้องให้องค์การอนามัยโลก (WHO) เชิญให้ไต้หวันเข้าร่วมการประชุม กิจกรรมและกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของ WHO โดยละทิ้งข้อจำกัดทางการเมือง ทั้งนี้ เพื่อที่ไต้หวันจะสามารถร่วมแบ่งปันผลสัมฤทธิ์และประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดของไต้หวัน ให้เป็นที่ประจักษ์และเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม
สาระสำคัญของการแสดงปาฐกถาของรองปธน.เฉินฯ ในครั้งนี้ มีดังนี้
จนวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา ทั่วโลกมียอดผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 3.2 ล้านราย มียอดผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 220,000 ราย วิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตและการทำงานของคนทั่วโลก อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน อีกทั้งเศรษฐกิจโลกก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักด้วยเช่นกัน
ในฐานะที่เป็นหนึ่งในประชาคมโลก ไต้หวันก็ไม่ได้รับการยกเว้นในการได้รับผลกระทบจากโควิด – 19 ด้วยเช่นเดียวกัน และถึงแม้ไต้หวันจะตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งกำเนิดของโรคระบาดเพียงแค่เอื้อม แต่ระดับความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาดในไต้หวัน กลับน้อยกว่าจีนและประเทศอื่นอยู่มาก นั่นเป็นเพราะไต้หวันได้รับบทเรียนราคาแพงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคซาร์ส เมื่อปีค.ศ. 2003 ซึ่งตลอด 17 ปีที่ผ่านมา ไต้หวันได้เตรียมการอย่างรัดกุมและเข้มงวด จึงสามารถควบคุมโรคระบาดในครั้งนี้ไว้ได้อย่างอยู่หมัด ซึ่งแนวทางปฏิบัติในการรับมือกับโรคโควิด – 19 ของไต้หวันในปัจจุบัน ก็ได้มาจากการกฎเหล็ก 3 ประการที่ไว้ใช้ต่อกรกับโรคระบาด หลังผ่านพ้นช่วงระบาดของโรคซาร์ส ซึ่งก็คือ “แก้ปัญหาอย่างรอบคอบ” , “รับมืออย่างฉับไว” และ “กำหนดมาตรการป้องกันโรคระบาดล่วงหน้า”
เมื่อช่วงที่ผ่านมานี้ การป้องกันโรคระบาดรูปแบบไต้หวัน ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายจากประชาคมโลก พวกเรายินดีที่จะร่วมแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญของไต้หวันให้ประชาคมโลก ดั่งสโลแกนที่ว่า “ไต้หวันช่วยได้และไต้หวันกำลังช่วย”
ในห้วงเวลาแห่งวิกฤตโรคระบาดเช่นนี้ ทุกประเทศทั่วโลกควรสามัคคีในการร่วมมือกันฝ่าฝันอุปสรรค เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประชาคมโลก ไต้หวันไม่ควรถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบ WHO ซึ่งถือเป็นองค์กรด้านสาธารณสุขที่สำคัญระดับโลก การกีดกันไต้หวันให้อยู่นอกระบบองค์กรดังกล่าว นอกจากจะเป็นการลิดรอนสิทธิมนุษยชนด้านสาธารณสุขของประชาชนชาวไต้หวันทั้ง 23 ล้านคนแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดช่องโหว่ในเครือข่ายการป้องกันโรคระบาดทั่วโลกอีกด้วย